สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1/2564

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศตัวเลขการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 1/2564 GDP ขยายตัว 1.3% แบบ Year-on-Year (YoY) หรือ 3.1% แบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) ซึ่งขยายตัวสูงกว่าที่ตัวเลขประมาณการ (0.2% แบบ YoY และ 2.0% แบบ QoQ) ทั้งนี้ MTI ยังคงไม่ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2564 ซึ่งคาดว่า GDP สิงคโปร์จะขยายตัว 4 – 6%

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงเชิงลบ ในไตรมาสที่ 1/64 ได้แก่

กลุ่มการก่อสร้าง ยังคงหดตัวสูงถึง -22.7% แบบ YoY แม้จะขยายตัว 5.0% แบบ QoQ เนื่องจากจำนวนโครงการก่อสร้างทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนยังคงชะลอตัว

การขนส่งและคลังสินค้า ยังคงหดตัว -16.5% แบบ YoY แม้จะขยายตัว 5.7% แบบ QoQ เนื่องจากผลกระทบในภาคการขนส่งทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

กลุ่มที่พักอาศัย ขยายตัวที่ 19% แบบ YoY แต่หดตัว -11.6% แบบ QoQ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 1/2563 จากการกระชับมาตรการการเดินทางและ การปิดประเทศ ถึงแม้ว่ารัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (STB) จะพยายามให้การสนับสนุนและออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม หดตัวที่ -9.4% แบบ YoY และชะลอการขยายตัวจากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ 6.7% แบบ QoQ เนื่องจากยังคงมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวด

อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงไตรมาสที่ 1/64 ได้แก่

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เติบโต 10.7% แบบ YoY หรือ 10.8% แบบ QoQ ซึ่งเป็นผลจาก การขยายตัวของการผลิตสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมความแม่นยำสูง และการผลิตชีวการแพทย์ อย่างไรก็ตามกลุ่มวิศวกรรมการขนส่ง การผลิตทั่วไป และเคมีภัณฑ์ มีอัตราการเติบโตที่ลดลง

กลุ่มการค้าส่งและกลุ่มการค้าปลีก กลุ่มการค้าส่งขยายตัว 3.5% แบบ YoY หรือ 1.2% แบบ QoQ จากการขยายตัวของมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักร วัสดุ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ควบคู่ไปกับการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ ในขณะที่กลุ่มการค้าปลีกขยายตัว 1.4% แบบ YoY หรือ 0.9% แบบ QoQ จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นของยานพาหนะ

กลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร หดตัว -1.1% แบบ QoQ แต่ขยายตัวถึง 6.4% แบบ YoY และกลุ่มการเงินและการประกันภัย ขยายตัว 4.7% แบบ YoY หรือ1.4% แบบ QoQ

แนวโน้มทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2564

การฟื้นฟูเศรษฐกิจสิงคโปร์ของภาคส่วนต่างๆ ปีนี้มีแนวโน้มไม่สม่ำเสมอกว่าที่ MTI เคยคาดการณ์ไว้

1) ภาคอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต ได้แก่ กลุ่มการค้าและภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี 5G และตลาดยานยนต์ กลุ่มการเงินและการประกันภัย ที่จะยังคงแข็งแกร่งจากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ กลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร ที่ขยายตัวสูงขึ้นจากความต้องการทางด้านดิจิทัลโซลูชั่น เกม และซอฟท์แวร์

2) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน แนวโน้มการขยายตัวยังล่าช้าจากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และมูลค่ารวมยังต่ำกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 อย่างมาก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและวิศวกรรม ทางทะเลและนอกชายฝั่ง ที่ถึงแม้จะมีการฟื้นฟูเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะจากเอเชียใต้จากมาตรการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวในปีนี้ต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ GDP ของ สิงคโปร์ จะสามารถขยายตัวได้มากกว่า
ที่คาดการณ์ไว้ (4% – 6%) แต่ก็ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญ คือพัฒนาการของวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่หลายประเทศยังมีการติดเชื้อระลอกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไวรัสกลายพันธุ์ การผ่อนคลายมาตรการความปลอดภัย และการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมถึงประชากรให้มากที่สุดยังล่าช้า รวมถึงการที่ประเทศคู่ค้าในภูมิภาคของสิงคโปร์ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับ เศรษฐกิจสิงคโปร์ทั้งนี้ MTI จะมีการปรับตัวเลขประมาณการ GDP ของปี 2564 อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2564

ข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อหลักเดือน เมษายน 2564 อยู่ที่ 0.6% เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากการลดลงเล็กน้อยของค่าไฟฟ้าและก๊าซ การค้าปลีก

อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเป็น 2.1% จาก 1.3% ในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของกลุ่มการขนส่งและที่พักอาศัย ทั้งนี้ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับ ปี 2564 จะยังอยู่ที่ประมาณ 0 – 1% ประมาณการอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ 0.5% – 1.5%

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเพิ่มเงินช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการทางสาธารณสุข ระยะที่ 2 (เฝ้าระวังอย่างยิ่ง) ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน 2564 ผ่านโครงการ Job Support Scheme (JSS) เป็นมูลค่ารวม 800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้ตามปกติ เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ขอให้ทำงานที่บ้านและไม่ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์จะไม่ต้องนำเงินทุนสำรอง (past reserves) ของประเทศออกมาใช้ในการให้เงินช่วยเหลือดังกล่าว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง