แบรนด์อุตสาหกรรมความงาม – แฟชั่นของสิงคโปร์ใช้เทคโนโลยี AI และ AR บุกตลาดโลกพร้อมชูประเด็นความงามที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นทางเลือกสำหรับการซื้อสินค้า ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพหันมาใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาสินค้าและปรับปรุงประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ โดยบริษัทวิจัยของสหรัฐ Orbis Research ระบุ ภายในปี 2566 มูลค่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีความงามคาดว่าจะเติบโตถึง 805 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์) จากมูลค่า 532 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2560 บริษัทด้านความงามจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มทดลองใช้เทคโนโลยี และ AI อาทิ เทคโนโลยีเสมือนจริง Augmented Reality (AR) ที่ช่วยให้ลูกค้าสัมผัสประสบการณ์การซื้อสินค้าโดยไม่ต้องไปร้านค้าด้วยตนเอง พร้อมทั้งสามารถปรับแต่งได้ตามที่ต้องการ จึงช่วยสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้

เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมความงาม

แหล่งที่มา: Sephora

เมื่อกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ความงามและเครื่องสำอาง การช่วยให้ลูกค้าจินตนาการถึงรูปลักษณ์หรือสีสันใหม่ ๆ บนใบหน้าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการซื้อ/ก่อนการตัดสินใจซื้อ ความท้าทายทางเทคโนโลยี เช่น การจดจำใบหน้าและความแม่นยำของสี ไม่ได้ทำให้แบรนด์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามหยุดทำการทดลอง ในทางกลับกัน หลาย ๆ แบรนด์สามารถสร้างประสบการณ์ ‘การทดลองแต่งหน้าเสมือนจริง’ (Virtual makeup try-on) รวมถึงการวิเคราะห์สภาพผิวโดยใช้ AI ให้กับลูกค้าได้แล้ว เช่น 1) ระหว่างปี 2559 – 2561 แอปพลิเคชัน Virtual Artist ของ Sephora มีผู้ใช้งานลองสีมากกว่า 200 ล้านเฉดสี ระหว่างการเข้าใช้ระบบ AR มากกว่า 8.5 ล้านครั้ง และเกิดการกลับมาใช้งานของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

2) ประสบการณ์การแต่งหน้าด้วย AR ของ L’Oréal ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2562 แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานเว็บไซต์ใช้เวลาท่องเว็บไซต์เพื่อเลือกชมสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ 3) แอปพลิเคชัน Future You Simulation ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของ Olay สามารถแสดงให้ผู้ใช้เห็นว่าผิวของพวกเขาจะเป็นอย่างไรในอีก 20 ปี โดยวิเคราะห์จากรูปถ่ายด้วยกล้องหน้าของโทรศัพท์ (selfies) และกิจวัตรการดูแลผิวประจำวัน

ส่วนแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของสิงคโปร์ Alcheme นั้นก็กำลังตามแบรนด์ระดับโลกไปติด ๆ โดยทางแบรนด์จะแนะนำให้ลูกค้าถ่าย selfies ส่วนผู้ใช้บริการเว็บไซต์ของแบรนด์จะต้องอัปโหลดภาพ selfies ของตนแบบปราศจากเครื่องสำอาง พร้อมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับกิจวัตรการดูแลผิว แล้วรอระบบ AI ประมวลข้อมูลเฉพาะบุคคลเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสมแก่ลูกค้าแต่ละราย

นอกจากเทคโนโลยี AR และ AI แล้ว เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมความงาม ได้แก่ เครื่องสำอางจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printed make-up) และการปรับแต่งผลิตภัณฑ์ความงามตามการทดสอบสารพันธุกรรม (Deoxyribonucleic Acid – DNA) เป็นต้น

เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมแฟชั่น

แม้ว่าการจินตนาการสวมเสื้อผ้าเสมือนจริงอาจเป็นเรื่องง่าย แต่ขนาด ความพอดี อายุการใช้งานที่สั้นลงของผลิตภัณฑ์ และเนื้อผ้าที่หลากหลาย ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีให้แสดงผลอย่างมีประสิทธิภาพ สมจริง และแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าหลายรายใช้ได้พัฒนาและเริ่มใช้ ‘การทดลองเสมือนจริง’ หรือ ใช้วิธีประมาณค่าโดยใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงสำหรับลูกค้า เช่น 1) Zara เปิดตัวประสบการณ์เสมือนจริงในร้านค้า เมื่อใช้แอปพลิเคชัน Zara AR จับการจัดแสดงสินค้าในหน้าต่างโชว์สินค้าหน้าร้าน หรือเซ็นเซอร์ภายในร้านเพื่อดูนางแบบสวมชุดที่เลือกในรูปแบบวีดีโอสั้น 6 -12 วินาที ช่วยให้ผู้ซื้อเห็นขนาดเสื้อผ้าและการเคลื่อนไหวเมื่อสวมใส่ 2) Gap พยายามแก้ปัญหาเรื่องความพอดีของเสื้อผ้าด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน AR ที่ลูกค้าสามารถเลือกประเภทร่างกายได้จาก 1 ใน 5 รวมทั้งใส่ข้อมูลส่วนสูงและน้ำหนักเพื่อสร้างแบบจำลองหุ่นลูกค้าโดยประมาณ 3) แอปพลิเคชัน Nike Fit สามารถวัดขนาดรองเท้าได้เพียงแค่เปิดกล้องไปที่เท้า และ 4) แฟชั่นยี่ห้อหรูอย่าง Dior ได้สร้างฟิลเตอร์ AR บนสื่อสังคมออนไลน์ Instagram เป็นเครื่องมือให้ลูกค้าสามารถได้ลองแว่นกันแดดได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่งกำลังช่วยจุดประกายการปฏิวัติทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมแฟชั่นท้องถิ่น อย่างบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี/แฟชั่น ‘Pixibo’ ได้เปิดตัวบริการ Find Your Fit เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นเครื่องมือแนะนำขนาดเสื้อผ้า ที่ขับเคลื่อนด้วยอัลกอริทึม (algorithm) หรือชุดลำดับคำสั่งที่ใช้ในการคำนวณเพื่อให้ได้ ผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยผู้ค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ Zalora และห้างสรรพสินค้า Shinsegae ของเกาหลีใต้ได้นำมาใช้

นาย Rohit Kumar และนาย Karthik Srinavasan ได้ก่อตั้ง Pixibo เมื่อปี 2559 ใช้ซอฟต์แวร์ ข้อมูล และเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้แบรนด์แฟชั่นออนไลน์เอาชนะความท้าทายในมาตรฐานด้านขนาดเสื้อผ้า โดยล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บริษัทฯ ได้เปิดตัวบริการ Try Before You Buy (TBYB) ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า จากนั้นพวกเขาจะลองสินค้าที่ร้านค้าจริงที่ Pixibo Fit Centre ในห้าง The Centrepoint ย่านออชาร์ดใจกลางสิงคโปร์ ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งช่วยลดการเผชิญปัญหา “อัตราการส่งคืนสินค้าสูง” ของร้านค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์อื่น ๆ เนื่องจากลูกค้าไม่มั่นใจในขนาดเสื้อผ้าขณะที่ตัดสินใจซื้อ TBYB จึงเป็นวิธีการอำนวยความสะดวกที่ผสานการซื้อสินค้าออนไลน์และในร้านค้าเข้าด้วยกัน Pixibo เห็นว่าพื้นที่ลองสินค้ายังคงมีบทบาทสำคัญและช่วยกระตุ้น e-commerce จึงคิดค้นวิธีที่ทำให้ทั้งสองรูปแบบทำงานและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ Pixibo ยังมีบริการคลังสินค้าให้แก่ ธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้เก็บสินค้าและรวบรวมก่อนการจัดส่งอีกด้วย

ในขณะที่เว็บไซต์แบรนด์เสื้อผ้า Lily & Lou (lilyandlou.com) สามารถให้ลูกค้าปรับแต่งเสื้อผ้า (customise) ได้ตามใจชอบ ทั้งสีสันและความยาวแขนของเสื้อ/กระโปรง การปรับแต่งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และลูกค้าจ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนต่างของปริมาณผ้าเท่านั้น ประสบการณ์จากการทำงานในฝ่ายขายของแบรนด์แฟชั่นทำให้ นาง Ng Yan Ling เจ้าของแบรนด์ฯ สังเกตเห็นว่าสินค้าของแบรนด์แฟชั่นในตลาดไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งเห็นได้จากการผลิตปริมาณมากเกินไปและการลดราคาจนต่ำ เมื่อขายเสื้อผ้าไม่ได้

หุ้นส่วนทางธุรกิจของนาง Ng เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการวางระบบ ช่วยในการวางระบบดิจิทัลของแบรนด์ โดย Lily & Lou ยังใช้ซอฟต์แวร์เย็บผ้า 3 มิติเพื่อสร้างตัวอย่างเสื้อผ้าดิจิทัล (digital clothing samples) ซึ่งจะทดลองกับหุ่นจำลองเสมือนจริง โดยสามารถจำลองผ้า วิเคราะห์ความพอดี และกำหนดขนาดของหุ่นจำลองเสมือนจริง เพื่อทดสอบเสื้อผ้าขนาดต่าง ๆ การสร้างตัวอย่างเสื้อผ้าดิจิทัลช่วยลดเวลาในการออกสู่ตลาด โดยสินค้าจะถูกผลิตขึ้นหลังจากการสั่งซื้อ (on-demand production) เท่านั้น มีเพียงสินค้าที่ได้รับความนิยมจะมีคลังสินค้าพร้อมส่งจำนวนไม่มากตามข้อมูลที่รวบรวมจากพฤติกรรมของผู้ใช้เว็บไซต์ การปรับแต่งสินค้าช่วยลดอัตราการคืนสินค้าได้มาก โดย 40% ของคำสั่งซื้อ 300 รายการนับตั้งแต่เปิดตัว Lily & Lou นั้น เป็นแบบ customise

แหล่งที่มา: lilyandlou.com

นอกจากนี้ สหพันธ์สิ่งทอและแฟชั่นสิงคโปร์ (Textile and Fashion Federation – TaFF) ตัวแทนอุตสาหกรรมแฟชั่นของสิงคโปร์ ได้จัดการประกวดแฟชั่นหัวข้อ ‘Fashion And Technology: A New Era’ สำหรับปีนี้ ซึ่งกระตุ้นให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยมีผู้สนับสนุนการประกวดคือบริษัทซอฟต์แวร์ การออกแบบแฟชั่น 3 มิติ Browzwear และแพลตฟอร์มผ้าดิจิทัล SwatchOn

อุตสาหกรรมแฟชั่นกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

หากกล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญในอุตสาหกรรมแฟชั่นปัจจุบันและอนาคตคงหนีไม่พ้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เนื่องจากทุกปีอุตสาหกรรมแฟชั่นจะปล่อยคาร์บอนประมาณ 1.2 พันล้านตันทั่วโลก โดยสถิติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า สิ่งทอและเครื่องแต่งกายจะปล่อยก๊าซคอร์บอนเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% ภายในปี 2573 ทั้งนี้ งานวิจัยจากบริษัทข้อมูลของสหรัฐ McKinsey & Company ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งปีผู้บริโภคทั่วโลกซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 60% เนื่องจากเสื้อผ้ามีราคาถูก จึงก่อให้เกิดการการซื้อเกินความจำเป็น เมื่อปี 2563 สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (National Environment Agency – NEA) ได้เผยแพร่ สถิติตัวเลขขยะประเภทสิ่งทอและเครื่องหนังที่ 137,000 ตัน โดยมีเพียง 4% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวไม่มีรายละเอียดเจาะจงว่าเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่นมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ผู้ค้าปลีกในอุตสาหกรรมแฟชั่นหลายรายเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงเริ่มใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตเครื่องแต่งกาย อาทิ แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกอย่าง H&M ให้คำมั่นว่า ภายในปี 2573 จะใช้วัสดุรีไซเคิลหรือมาจากแหล่งที่ยั่งยืนให้ได้ 100% นอกจากนี้ เทคโนโลยีและตัวอย่างเสื้อผ้าดิจิทัลของ Lily & Lou ช่วยลดขยะ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย เมื่อเทียบกับตัวอย่างเสื้อผ้าทางกายภาพ โดยเมื่อปี 2563 สื่อด้านแฟชั่น Vogue สิงคโปร์ ได้ให้ข้อมูลว่า เสื้อยืดหนึ่งตัวสร้างก๊าซคาร์บอนประมาณ 7 กิโลกรัม แต่การผลิตเสื้อยืดดิจิทัลกลับสร้างก๊าซคาร์บอนเพียง 0.25 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นแค่เพียงประมาณ 4% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนจากเสื้อยืดปกติ

ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็น

เมื่อปี 2562 ประเทศไทยมีผลผลิตสิ่งทอ-เสื้อผ้าติดอันดับ 9 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งที่ 1.1% ของทั่วโลก และติดอันดับที่ 15 การส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ-เสื้อผ้าของโลกด้วยเช่นกัน จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นของไทย ซึ่งภาคสิ่งทอและแฟชั่นของไทยมีความได้เปรียบ ทั้งเรื่องวัตถุดิบที่หลากหลายและสามารถหาได้ในประเทศ ชื่อเสียงของผ้าไทยประเภทต่าง ๆ ทั้งยังมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์หลายเท่า รวมถึง ได้รับการยอมรับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบพัสตราภรณ์ระดับโลก ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยี AI และ AR มาใช้ทั้งในกระบวนการผลิตและการขายเพื่อให้ทันต่อยุคสมัย ก็ย่อมช่วยเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มรายได้แก่ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนและสมาคมที่เกี่ยวข้องอาจต้องเพิ่มความตื่นตัวและความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆที่สอดคล้องกับความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและร่องรอยคาร์บอน รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งหากสามารถทำได้ ก็จะเป็นจุดขายที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงามของไทย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง