สรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 1/2564

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศตัวเลขประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 1/2564 ในเบื้องต้นว่า GDP ขยายตัว 2% แบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) หรือ 0.2% แบบ Year-on-Year (YoY) โดยในภาพรวม เศรษฐกิจของสิงคโปร์เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนในภาคการผลิตและความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ที่พำนักในสิงคโปร์ ทั้งนี้ MTI จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ฉบับเต็มและตัวเลขอย่างเป็นทางการ (the Preliminary GDP estimates) ในรายงาน Economics Survey of Singapore ในเดือนพฤษภาคม 2564

สำหรับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทนั้น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เติบโต 7.2% แบบ QoQ หรือ 3.3% แบบ YoY โดยแบ่งเป็น (1) กลุ่มการผลิต ขยายตัวที่ 7.6% แบบ QoQ หรือ 7.5% แบบ YoY ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการผลิตสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมความแม่นยำสูง เคมีภัณฑ์ และการผลิตชีวการแพทย์ แต่ตัวเลขลดน้อยลงในกลุ่มการผลิตทั่วไปและวิศวกรรมการขนส่ง และ (2) กลุ่มการก่อสร้าง ขยายตัวที่ 8.4% แบบ QoQ แต่ยังคงหดตัวที่ -20.2% แบบ YoY เนื่องจากยังคงมีการชะลอโครงการก่อสร้างทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

ภาคอุตสาหกรรมการบริการ อยู่ที่ 0.4% แบบ QoQ หรือ -1.2% แบบ YoY ได้แก่ 1) กลุ่มการค้าส่งและการค้าปลีก และการขนส่งและคลังสินค้า ขยายตัวที่ 0.9% แบบ QoQ แต่ยังคงหดตัวที่ -4.1% แบบ YoY เนื่องจากผลกระทบในภาคการขนส่งทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก 2) กลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร กลุ่มการเงินและการประกันภัย และกลุ่มธุรกิจบริการ หดตัวที่ -0.7% แบบ QoQ แต่ขยายตัวที่ 3.7% แบบ YoY โดยมีการเติบโตในกลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร และกลุ่มการเงินและการประกันภัย ในขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการยังคงซบเซา และ 3) กลุ่มที่พักอาศัย การบริการด้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจสนับสนุนสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงหดตัวที่ -1.4% แบบ QoQ หรือ -3.9% แบบ YoY เนื่องจากยังคงมีการบังคับใช้มาตรการด้านความปลอดภัยโควิด-19 ตามสถานประกอบการต่าง ๆ

นายชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้ลงข้อความใน Facebook ว่า ไตรมาสนี้ถือเป็นไตรมาสแรกที่ตัวเลข GDP ของสิงคโปร์เติบโตดีขึ้นนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์กำลังกลับเข้าสู่ช่วงฟื้นอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอน อีกทั้งระบบการค้าพหุภาคียังคงอยู่ภายใต้ความตึงเครียดเนื่องจากมาตรการทางการค้าที่ปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศของประเทศต่าง ๆ และการกีดกันการค้าสินค้าบางประเภท นอกจากนี้ เศรษฐกิจบางภาคส่วนของ สิงคโปร์ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะการบินและการท่องเที่ยว เนื่องจากข้อจํากัดด้านการเดินทางทั่วโลกในขณะนี้ ดังนั้น เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในยุคหลังโควิด-19 จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบซึ่งเน้นดิจิทัลภิวัตน์ โดยหลายธุรกิจ/บริษัทกำลังดำเนินการเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทั้งความท้าทายและโอกาสที่จะนำเสนอตัวเองในเศรฐกิจยุคใหม่ที่กำลังเริ่มขึ้น

แนวโน้มทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 และตลอดทั้งปี 2564

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ธนาคารกลางของสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้ประกาศคงนโยบายการเงินตามเดิมนับตั้งแต่ที่ได้ประกาศไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำปีนี้ ดังนั้น นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงยังคงเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก (ประมาณ 0% – 1%)

สถาบัน FocusEconomics คาดการณ์ว่า แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 และครึ่งหลังของปี 2564 นั้น จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยมาตรการผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศ หลังจากที่ประเทศส่วนใหญ่เริ่มเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน ซึ่งช่วยให้กิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องสังเกตการต่อไป เพราะอาจมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง

นักเศรษฐศาสตร์จาก Nomura Holdings ว่า GDP ของปี 2564 จะเติบโตอยู่ที่ 7.5% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์อย่างเป็นทางการโดย MTI ที่ร้อยละ 4.0 – 6.0 และสูงกว่าการสำรวจเงินเฟ้อคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ (Consensus Forecasts) ที่ 6.1% อันเนื่องมาจากการฉีดวัคซีน สถานประกอบการต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น (Re-opening) ส่งผลให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดงานได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และประเมินว่าในเดือน พ.ค. 2564 MTI จะมีการปรับตัวเลขประมาณการ GDP ของปี 2564 ในเอกสาร the Preliminary GDP estimates ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2564

อัตราการว่างงานในสิงคโปร์ไตรมาสที่ 1/2564

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ได้เผยแพร่เอกสาร Monthly Unemployment Situation ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่า ตัวเลขผู้ว่างงานของสิงคโปร์ยังคงลดลงติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือนมกราคม 2564 ภาวะการว่างงานรวมของสิงคโปร์ (รวมแรงงานต่างชาติ) มีอัตรา 3.2% หรือประมาณ 101,900 คน และเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อัตราว่างงานรวมลดลงเล็กน้อยเหลือ 3% หรือประมาณ 96,800 คน อย่างไรก็ตาม สถิติการว่างงานของเฉพาะคนชาติและ PR ของสิงคโปร์ ยังคงสูงกว่า 4% ของตลาดแรงงานทั้งหมด โดยในเดือนมกราคม 2564 มีคนชาติและ PR ของสิงคโปร์ ว่างงานจำนวน 89,300 คน (หรือ 4.3%) และในเดือนกุมภาพันธ์ 64 จำนวน 85,900 คน (หรือ 4.1%) ดังนั้น อัตราการว่างงานของคนชาติ และ PR ของสิงคโปร์จึงยังคงสูงกว่าอัตราการว่างงานของคนต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ

นางโจเซฟีน เตียว (Josephine Teo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ได้ลงข้อความใน Facebook ชี้แจงว่า ถึงแม้อัตราการว่างงานในสิงคโปร์จะยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนยุคโควิด-19 ได้ แต่สถิติล่าสุดดังกล่าวสะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นของตลาดงานในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบาย Job Growth Incentive (JGI) ในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งมีนายจ้างกว่า 27,000 รายเข้าร่วมโครงการ และเพิ่มการจ้างงานคนท้องถิ่นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากถึง 130,000 อัตรา ซึ่งรวมถึงการจ้างงานประชาชนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง