นโยบายการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทานโลกและความเชื่อมโยงดิจิทัลของสิงคโปร์ และผลกระทบจากกรณีเรือปิดกั้นคลองสุเอซต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการแถลงสรุปผลงานประจำปีของ Economic Development Board (EDB) ว่าในปี 2564 สิงคโปร์จะดำเนินยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเน้นการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าโลกซึ่งรวมถึง  การดึงดูดบริษัทชั้นนำของทั่วโลกให้มาลงทุนในสิงคโปร์ โดยสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเกษตร (agri-tech) ชีวเวชศาสตร์ (biomedical sciences) อิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสารสนเทศ ซึ่งการร่วมทุนกับต่างประเทศจะเพิ่มโอกาส/ศักยภาพแก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ในสิงคโปร์ รวมถึงเสริมสร้างการพัฒนาทักษะของแรงงานสิงคโปร์ในระดับสากล 

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2021 ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ  การปรับตัวของสิงคโปร์ ในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ได้เกิดภาวะ Supply Shock ในสิงคโปร์ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมคือ วัตถุดิบ เครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้าง และในภาคครัวเรือนโดยเฉพาะอาหารและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยสิงคโปร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าสินค้าจากแบบ just-in-time (สั่งตามเวลา เพื่อเน้นราคาย่อมเยา) กลายเป็นแบบ just-in-case (หรือสั่งเผื่อไว้ก่อน เพื่อรักษาอุปทาน) แต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่สิงคโปร์นำเข้ามาแล้วมีอุปทานเกินอุปสงค์อย่างมาก อาทิ ไข่ไก่จากโปแลนด์

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์อาศัยจุดเด่นของการเป็นศูนย์กลางท่าเรือและการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคทำให้รอดพ้นจากวิกฤต Supply Shock มาได้ กอปรกับการปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยเร่งจัดทำความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ อาทิ Joint Ministerial Statement on Supply Chain Connectivity (ระหว่าง ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ลาว เมียนมา นาอูรู นิวซีแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุรุกวัย และสิงคโปร์) และการจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือสิงคโปร์ ปี 2563 ลดลงน้อยกว่า 1% เทียบกับเมื่อปี 2562 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการขนส่งสินค้าทางทะเลของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากโควิด-19

สำหรับปี 2564 สิงคโปร์จะยังคงพัฒนาบทบาทการเป็นศูนย์กลางเมืองท่าที่สำคัญและการขนส่ง     ทางอากาศของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ และการกระจายสินค้าในตลาดโลก โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงดำเนินโครงการพัฒนา (1) โครงการท่าเรือขนาดใหญ่ในเขต Tuas ซึ่งจะเป็นท่าเรือระบบอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก (2) โครงการ Sats Coolport คือ คลังจัดเก็บสินค้าให้ห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่ -28 ถึง 25 องศาเซลเซียส ณ ท่าอากาศยานชางงี ซึ่งช่วยส่งเสริมบทบาทนำของสิงคโปร์ในการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และ (3) การส่งเสริมระบบการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางทะเล-อากาศ (Sea-Air Transshipment) ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นวิธีการขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กมาก (microelectronics) และสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 

การส่งเสริมความเชื่อมโยงดิจิทัล

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้กล่าวปาฐกถานำในงานเสวนา Nikkei Forum Innovative Asia 2021 ที่สิงคโปร์ว่า การส่งเสริมความเชื่อมโยงดิจิทัลจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และทั่วโลกในปี 2564 โดยสิงคโปร์จะร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ในการสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและ data flows เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่

สิงคโปร์จะส่งเสริมกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศใหม่ ๆ (New Trade Rules) ในด้านข้อมูล การเงิน และเทคโนโลยี เช่น การจัดทำข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreements – DEPAs) กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ซึ่งครอบคลุมเรื่องการปกป้องผู้บริโภคออนไลน์ และการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับ AI ร่วมกัน โดยหวังว่ากฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศใหม่ ๆ นี้ จะช่วยส่งเสริม e-commerce และธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลระหว่างกัน รวมทั้งผลักดันการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสิงคโปร์กับต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ สิงคโปร์อยู่ระหว่างการเจรจากับเกาหลีใต้ และจะเริ่มดำเนินการเจรจากับสหราชอาณาจักรต่อไป
นาย Chan ให้ความเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสและการลงทุน เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่ยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากและมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ โดยสิงคโปร์มีศักยภาพที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงภาคเอกชนทั่วโลกสู่ตลาดและแรงงานฝีมือในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีการขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณของการขยายตัวของการอุปโภคและบริโภค โครงสร้างพื้นฐาน และบริการพื้นฐาน เช่นสาธารณสุขและการศึกษาในภูมิภาค 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนในสิงคโปร์มีความเห็นต่อแนวโน้มของธุรกิจในสิงคโปร์ ได้แก่ (1) ประธานบริษัท Infineon Technologies Asia Pacific บริษัทผู้ผลิต semiconductors สัญชาติเยอรมนีในสิงคโปร์ได้ประกาศเพิ่มการลงทุนด้าน AI ในสิงคโปร์โดยจะเน้น การส่งเสริมศักยภาพของแรงงานให้เหมาะสมกับ AI ต่อไป และ   (2) รองประธาน บริษัท Kainaz Gazder ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กแรกเกิด เห็นว่าสิงคโปร์ยังคงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับการลงทุนด้านดิจิทัล ทั้งปัจจัยสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพแรงงาน ในขณะที่รอง ประธาน EDB สิงคโปร์ มองว่าสาขาธุรกิจในสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มเติบโตในช่วงต่อจากนี้คือ เทคโนโลยีอาหาร โดยเฉพาะการผลิตอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Plant-based food) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ให้สิทธิประโยชน์ทางธุรกิจเพื่อจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศในสาขาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 

กรณีเรือ Ever Given ปิดกั้นคลองสุเอซ (23 – 29 มีนาคม 2564)

เหตุการณ์เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ Ever Given ประสบอุบัติเหตุจากพายุทรายทำให้เสียหลักติดฝั่งจนปิดกั้นคลองสุเอซ ระหว่างวันที่ 23 – 29 มีนาคม 2564 ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในสิงคโปร์  ระยะสั้น และอาจส่งผลต่อราคาสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 เนื่องจากคลองสุเอซเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป และครอบคลุมการขนส่งสินค้าประมาณ 10% ของโลก 

แหล่งที่มา: AFP

นาย Douglas Foo ประธานสภาอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (Singapore Manufacturing Federation – SMF) เห็นว่า ปัจจุบันสิงคโปร์ขนส่งวัตถุดิบปริมาณมากโดยใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก  ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการปิดท่าเรือต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เรือขนส่งสินค้าขาดแคลน และค่าส่งสินค้าสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตต้องแบกรับต้นทุน  การผลิตที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นด้วย สำหรับสินค้าที่ขนส่งผ่านคลองสุเอซมายังสิงคโปร์ ได้แก่ อาหารและวัตถุดิบประกอบอาหาร เรซินพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การแพทย์ 

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้ (2563) ได้ทำให้ค่าขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศสูงขึ้น 20% – 200% กอปรกับการปิดกั้นคลองสุเอซในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าหลายร้อยลำไม่สามารถผ่านคลองสุเอซได้ทำให้เกิดภาวะหยุดชะงักของเส้นทางเรือดังกล่าวส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นไปอีก และในที่สุดผู้บริโภคอาจกลายเป็นผู้รับภาระจากค่าสินค้าที่สูงขึ้นในช่วงสั้น ๆ ต่อไป 


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง