เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 สำนักเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสิงคโปร์ (National Climate Change Secretariat – NCCS), คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB), สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA), การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime & Port Authority Of Singapore – MPA) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore – CAAS) เผยแพร่ข่าวสารนิเทศร่วม (Joint Press Release) เรื่อง แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์

สิงคโปร์มีข้อจำกัดทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ดินแดนของประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงพยายามศึกษาเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตหรือนำเข้าพลังงาน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการก้าวสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ และช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศตามแผน Enhanced 2030 Nationally Determined Contribution (NDC) ซึ่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าภายในปี 2573 จะลดความเข้มข้นของการปล่อยมลพิษลงร้อยละ 36 (จากจำนวนมลพิษ ปี 2548) และการพัฒนาการปล่อยมลพิษต่ำในระยะยาว (Long-Term Low-Emissions Development – LEDS)

รัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าจะมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 จึงตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์กำลังติดตามผลการวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ 2 หัวข้อ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

(1) การศึกษาการนำเข้าพลังงานไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและการประยุกต์ใช้ในสิงคโปร์ ไฮโดรเจนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะผลิตคาร์บอนต่ำ สิงคโปร์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และกระบวนการทางอุตสาหกรรมบางชนิด การที่สิงคโปร์มีทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจำกัด ก่อให้เกิดความท้าทายในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าสีเขียวภายในประเทศ ดังนั้นสิงคโปร์ จำเป็นต้องจัดหาแหล่งไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำที่ราคาไม่สูง โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ 3 ช่องทาง คือ 1) การนำเข้าไฮโดรเจนผ่านการขนส่งทางเรือ 2) การต่อท่อไฮโดรเจนรับจากประเทศเพื่อนบ้าน 3) การผลิตไฮโดรเจนเองในประเทศ เช่น ผลิตจากการปฏิรูปก๊าซมีเทนด้วยไอน้ำ (SMR) การแยกน้ำ (Electrolysis) โดยใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่นำเข้า หรือการแปรสภาพเป็นก๊าซชีวมวล ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงติดตามการพัฒนาในทุกทางเลือกเพื่อตัดสินใจใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

(2) การศึกษาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ และการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilisation, and Storage CCUS) การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิด CO2 หรือการลดคาร์บอน (Decarbonisation) เป็นเส้นทางสู่ภาคพลังงานและเคมีภัณฑ์ของสิงคโปร์จากการที่ไฮโดรเจนเป็นสารที่จัดเก็บและขนส่งยาก รัฐบาล กำลังศึกษาเทคโนโลยีด้านการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) เช่น ดักจับและเก็บไว้ในธรณีวิทยาใต้พื้นผิวที่เหมาะสม และเทคโนโลยีด้านการดักจับและการใช้ประโยชน์ (CCU) เช่น การแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์อย่าง การแปลงเป็นแร่ (mineralisation) และสามารถใช้วัตถุดิบจากของเสีย หรือจากแร่ธาตุธรรมชาติ มาผลิตวัสดุก่อสร้าง หรือการแปลงเป็นสารเคมีและเชื้อเพลิงสังเคราะห์ เช่นน้ำมันก๊าดและเมทานอลซึ่งมีศักยภาพในการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานและเรือเดินทะเล

ผลการศึกษานี้จะนำไปใช้ในการวิจัย การพัฒนาและการสาธิต (RD&D) ที่มีอยู่ของหน่วยงานรัฐบาล เช่น โครงการเงินทุนวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Energy Research, Funding Initiative – FI) 49 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานเพื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*STAR), EDB, EMA, NCCS และมูลนิธิวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation – NRF) และเพื่อเป็นแนวทางแก่กลุ่มภาคเอกชนและกิจการร่วมค้า เช่น  บริษัท Keppel DC1, บริษัท Chiyoda2 และบริษัท Itochu3  ในการปรับใช้โซลูชันคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจน ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์พร้อมเปิดโอกาสต่อความร่วมมือศึกษาวิจัยดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงการนำร่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในทุกภาคส่วน เช่น การเดินเรือ การบิน การเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม และพลังงาน

สิงคโปร์จะแสวงหาพันธมิตรนานาประเทศเพื่อพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำใหม่ๆ ความร่วมมือดังกล่าว อาจรวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบระหว่างประเทศ มาตรฐาน การรับรองเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และความร่วมมือใน RD&D ปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับออสเตรเลียเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปล่อยมลพิษต่ำ MOU กับชิลีเรื่องไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และหารือกับประเทศอื่น ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ข้อมูลเพิ่มเติม  

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564  EMA และ S&P Global Platts ร่วมกันจัดสัมมนาทางไกลในหัวข้อ “Bridge or Destination? LNG & Hydrogen In the Energy Transition” การสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์พลังงานนานาชาติสิงคโปร์ (The Singapore International Energy Week – SIEW 2021) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2564 โดยการสัมมนาเน้นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทนอย่างไฮโดรเจน

ดร. Peter Zeniewski นักวิเคราะห์ด้านพลังงาน จากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าวว่าการผลิตไฮโดรเจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่าภายในปี 2593 เป็นปริมาณกว่า 500 เมกะตัน โดยเฉพาะจาก Electrolysis ของน้ำ และก๊าซธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี CCUS เพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านการขนส่งทางเรือ ทางถนน และอุตสาหกรรมหนัก อย่างไรก็ตาม การผลิตไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงสะอาดยังมีต้นทุนที่สูง มาตรการของภาครัฐ เช่น Carbon Tax, Carbon Market, Carbon Offset จะเป็นการสนับสนุนทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทาน กระตุ้นให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2561-2580 ซึ่งหากสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ภายในประเทศ ไม่พึ่งพิงการนำเข้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มีการลงทุน วิจัย และพัฒนา ด้านพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง สร้างงานและรายได้ ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชน ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวสอดคล้องกับ Singapore Green Plan 2030 ในเรื่องของ Energy Reset เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การลงทุน วิจัยและพัฒนาน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ ไฮโดรเจนก็เป็นหนึ่งในพลังงานที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยให้ความสำคัญ เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีโครงการวิจัย ค้นคว้า ทดสอบ ระบบผลิตไฮโดรเจนจากน้ำใช้ในรถยนต์และกำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนรองรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (ปี 2553 – 2567) หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีไฮโดรเจน และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) จึงได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม Hydrogen Thailand ในเดือนตุลาคม 2563 เพื่อขับเคลื่อนพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคตสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำในประเทศไทย


1 Keppel Data Centers ได้ประกาศ MoU กับ Kawasaki Heavy Industries, Mitsui O.S.K. Lines, Vopak LNG และ Linde เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางการค้าของห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจนเหลวในเดือนพฤษภาคม 2564

2 Chiyoda, Mitsubishi, PSA, Jurong Port, City Gas, Sembcorp, SLNG (โดยได้รับการสนับสนุนจาก MPA และ NRF) ได้ลงนามใน MoU เพื่อพัฒนาธุรกิจ ความเป็นไปได้ทางเทคนิคและเชิงพาณิชย์ของการนำเข้าไฮโดรเจนสู่สิงคโปร์

3 Itochu Corp ลงนาม MoU กับ Itochu Enex, Vopak, Pavilion Energy, Mitsui OSK line และ Total ในการศึกษาร่วมเพื่อพัฒนาแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทางทะเลชนิดใหม่ในสิงคโปร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง