ด้วยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นสิงคโปร์ได้รายงานท่าทีของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อการแพร่ระบาดของ Omicron รวมทั้งสถานการณ์ของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นตัวจากการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ และการจัดทำช่องทางผู้ได้รับวัคซีนแล้ว (Vaccinated Travel Lanes – VTL) เพื่อส่งเสริมภาคการบินและการท่องเที่ยวในสิงคโปร์

ท่าทีของสิงคโปร์ต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Omicron ต่อการเปิดประเทศและการเดินทาง        

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้แถลงในโอกาสการประชุมพรรค People’s Action Party (พรรคฝ่ายรัฐบาล) ถึงท่าทีของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อไวรัสกลายพันธุ์ Omicron ว่า สิงคโปร์อาจจำเป็นต้องทบทวนและกระชับมาตรการทางสาธารณสุขให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขและการเข้าเมืองเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ได้ออกประกาศว่า ห้ามผู้เดินทางจาก
ทวีปแอฟริกา 7 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตีนี เลโซโท โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว เข้าประเทศหรือแวะพักเปลี่ยนเครื่องบินที่สิงคโปร์ ยกเว้นคนชาติและ PR สิงคโปร์ และต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลรัฐนิวเซาธ์เวลส์ของออสเตรเลียได้ยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อ Omicron จำนวน 2 ราย ซึ่งเดินทางเข้าออสเตรเลียโดยสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส (SIA) เที่ยวบินที่ SQ 211 ซึ่งผู้เดินทางทั้งสองรายเดินทางมาจากแอฟริกาใต้ และแวะพักเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ก่อนเดินทางเข้าออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ออกมายืนยันว่ายังไม่พบเชื้อไวรัส Omicron ในสิงคโปร์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ได้ประกาศระงับการเปิดใช้ VTL กับ UAE ซาอุดิอาระเบีย และกาตาร์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากอาจเป็นชุมทางในการแวะพักเปลี่ยนเครื่องจากแอฟริกามายังสิงคโปร์ และประกาศว่าสิงคโปร์จะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ (The relaxation of social measures will be paused.)

การปรับตัวของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส (SIA)

รายงานผลการดำเนินงานของ SIA ไตรมาสที่ 3/2564 ยังคงขาดทุนจำนวน 427.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเติบโตขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ที่ขาดทุน 2,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เฉพาะเดือนตุลาคม 2564 จำนวนผู้โดยสารของ SIA เพิ่มขึ้นเป็น 189,700 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปีก่อนหน้า เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้ผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าประเทศ และจัดทำ VTL กับประเทศต่าง ๆ โดยนับถึงเดือนธันวาคม 2564 สิงคโปร์ได้จัดทำ VTL กับ 27 ประเทศทั่วโลก

ถึงแม้รายได้และจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น แต่ SIA ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ คือ 1) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น 2) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงของ SIA และ Scoot เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 (แบบ QoQ) 3) อุปสงค์อาจไม่ฟื้นตัวเท่าระดับก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะจากกลุ่มนักธุรกิจที่เคยสร้างกำไรให้สายการบิน โดยการปรับตัวของพฤติกรรมองค์กรที่เริ่มคุ้นเคยกับการใช้การประชุมทางไกลตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจะส่งผลกระทบให้ภาคการบินหดตัวลง โดยเฉพาะการเดินทางระยะไกล เนื่องจากบริษัทและองค์กรต่าง ๆ สามารถลดค่าใช้จ่ายและยังช่วยลดคาร์บอนฟรุตพรินท์ได้ด้วย 

สถานการณ์สายการบินในเอเชีย และการปรับตัว

สายการบินในเอเชียยังมีผลการดำเนินงานที่ติดลบ เนื่องจากอุปสงค์การเดินทางทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยหลายประเทศประกาศกระชับมาตรการหลังจากข่าวการอุบัติขึ้นของ Omicron  สายการบิน SIA ของสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่มีเส้นทางบินในประเทศ ส่วนสายการบิน Air China, China Eastern Airlines, China Southern Airlines ของจีน ได้รับผลกระทบจากนโยบาย Covid-Zero ของรัฐบาลจีน กอปรกับการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด และการจำกัดการเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจการบินในจีนยังขาดทุนและซบเซาเช่นเดียวกับสายการบินหลักของญี่ปุ่น คือ ANA Holdings/Japan Airlines ที่ยังคงไม่ฟื้นตัว โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ญี่ปุ่นได้ประกาศกระชับมาตรการเดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวดอีกครั้ง

สายการบิน Korean Airlines ของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเพื่อรับมือกับโควิด-19 และสามารถทำกำไรได้ในไตรมาสที่ 2/2564 จนมีมูลค่าหลักทรัพย์ (ราคาหุ้น) สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยได้ปรับเที่ยวบินคนโดยสารเป็นเที่ยวบินสำหรับขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการแพทย์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอุปสงค์สูง

ในขณะที่สายการบิน Air Asia ของมาเลเซียขยายบริการไปสู่บริการดิจิทัล บริการจัดส่งอาหาร และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

แหล่งที่มา: AirAsia

สายการบินหลักของประเทศเศรษฐกิจ emerging economy ยังคงขาดสภาพคล่องตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ซึ่งรวมถึง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ และสายการบิน Philippines Airlines ของฟิลิปปินส์ซึ่งได้ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายต่อศาลในสหรัฐฯ เพื่อเปิดช่องทางให้ฟื้นฟูธุรกิจต่อไป   

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ไวรัสกลายพันธุ์ Omicron อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว และการเปิดประเทศต้องหยุดชะงักหรือชะลอตัวลง สำหรับสิงคโปร์ นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เปรียบสถานการณ์นี้เสมือน “เกมบันไดงู” ที่มี Omicron เป็นเหมือนงูตัวหนึ่ง แต่ละประเทศพยายามขึ้นบันไดเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า โดยอยู่กับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic) แต่ก็อาจ “ตกจากงู” และต้องก้าวถอยหลังหากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งสิงคโปร์และทั่วโลกต่างยังต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ต่อไป

การสนับสนุนนโยบายที่สนับสนุนและเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างประเทศในภูมิภาคอาจมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของสายการบินในเอเชีย รวมทั้งการร่วมมือทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการบิน เช่น เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 SIA และ Garuda Indonesia ของอินโดนีเซีย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อศึกษาโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้า เช่น ความร่วมมือในการจัดทำ frequent-flyer programmes กิจกรรมทางการตลาด การขนส่งสินค้าและซ่อมบำรุง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง