การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Gig Economy Workers) ในสิงคโปร์

จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ประกาศวิสัยทัศน์ Forward Singapore ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตนั้น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 คณะนักวิจัยจาก Institute of Policy Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้ต่อยอดวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยวิจัยเรื่องความจำเป็นของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ผู้มีอาชีพอิสระ (Gig Economy Workers or Own-account Workers)1 ในสิงคโปร์ ดังนี้

Forward Singapore กับการพัฒนาทักษะของ Gig Economy Workers    

Forward Singapore Roadmap เป็นแผนงานเชิงวิสัยทัศน์ 1 ปี ที่รัฐบาลสิงคโปร์ และภาคส่วนต่าง ๆ จัดทำขึ้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ โดยมีประเด็นที่สำคัญต่อการส่งเสริมคนชาติสิงคโปร์ที่ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ (1) Empower คือ การเสริมสร้างพลังแก่ชาวสิงคโปร์ในด้านเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ และ (2) Equip คือ การจัดเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ชาวสิงคโปร์

ตามรายงานสถิติของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (MOM) จำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และคิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของแรงงานในท้องถิ่น ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยและความเปราะบางของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะพนักงานส่งของและพนักงานขับรถโดยสารส่วนบุคคล อาทิ Grab (คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ประกอบอาชีพอิสระในสิงคโปร์) ที่ต้องเผชิญกับการขาดความมั่นคงทั้งด้านกายภาพและด้านการเงิน

แนวโน้มทักษะที่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนทำงานอิสระ

Gig Economy เป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่พบได้ทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระมากขึ้น โดยดัชนี The Online Labour Index ของมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ให้เห็นถึงความต้องการ Gig Workers ที่มีทักษะสูงในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และมัลติมีเดีย การป้อนข้อมูลและธุรการ การเขียนและการแปล การสนับสนุนการขายและการตลาด และบริการระดับมืออาชีพ เช่น บริการทางการเงิน

ปัจจุบัน แม้ว่าภาคการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีจะเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ความต้องการแรงงานด้านธุรการและการป้อนข้อมูล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19 มีจำนวนสูงขึ้น และสูงกว่างานอิสระในด้านอื่น ๆ เนื่องจากนายจ้างสามารถว่าจ้างคนงานให้ทำงานจากที่ใดก็ได้ ในอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้ทั่วโลก ทั้งนี้ การเติบโตของงานอิสระหรืองานชั่วคราวในสิงคโปร์ สอดคล้องกับกระแสการเติบโตของงานอิสระทั่วโลก ซึ่ง NUS วิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระในทุกระดับจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

วิธีการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลสำหรับกลุ่มคนทำงานอิสระ

กลุ่มคนทำงานอิสระจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค เช่น การออกแบบดิจิทัล ควบคู่ไปกับการปรับปรุงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานอิสระ (Gig Literacies) เช่น (1) ทักษะในการสร้างบัญชีประวัติบุคคล โดยเน้นด้านอาชีพและประสบการณ์ทำงานออนไลน์บนเว็บไซต์ LinkedIn หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอื่น ๆ (2) การรักษาสมดุลชีวิตและการทำงานโดยใช้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานดิจิทัล และ (3) การจัดการความสัมพันธ์กับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์

การเพิ่มขีดความสามารถในการจ้างงานสำหรับกลุ่มคนทำงานอิสระควรเป็นไปใน 3 ระดับ คือ (1) ทักษะขั้นพื้นฐาน ทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานและทักษะตามบริบทโดยเน้นที่งานง่าย ๆ ที่นำเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เช่น การใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ดิจิทัลขั้นพื้นฐาน รวมถึงทักษะการสื่อสาร (2) ทักษะระดับกลาง ทักษะการใช้เครื่องมือขั้นสูงเพื่อทำงานที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การวาดภาพดิจิทัลและการสร้างเนื้อหาดิจิทัล รวมทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องกับการหางานหรือตอบรับงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น Grab และ Upwork และ (3) ทักษะเฉพาะ คือ ทักษะขั้นสูงที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านใน 6 สาขาสำคัญ ได้แก่ 1) ซอฟต์แวร์และการพัฒนา 2) ธุรกิจและการบริหาร 3) บริการระดับมืออาชีพ 4) วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม 5) การสร้างสรรค์และมัลติมีเดีย และ 6) การขนส่งและจัดส่ง ซึ่งจากผลการวิจัยของ NUS ในปัจจุบันพบว่า พื้นฐานการเขียนโปรแกรมและทักษะการประมวลผลแบบคลาวด์มีความสำคัญยิ่งขึ้นในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

ผู้ประกอบอาชีพอิสระแบบ Gig Economy เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนหรือแรงงานในประเทศหรือเมืองที่มีเศรษฐกิจขั้นสูง สำหรับสิงคโปร์ ได้กำหนดแผน Research, Innovation and Enterprise (RIE 2025) เพื่อเป็นแผนแม่บทในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (MCI) สิงคโปร์ ได้กล่าวในงาน Business China ว่าสิงคโปร์ได้ลงทุนในแผน RIE ไปแล้ว 25,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยในช่วงต่อไปจะเน้นด้าน (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะ Web 3.0 (2) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่แรงงาน รวมถึงการผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และ (3) การวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัล

นอกจากกลุ่มคนทำงานอิสระแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนที่จะจ้างผู้ทุพพลภาพวัยทำงาน (working-age persons with disabilities – PWDs) ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 (เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 30 ในปี 2563 – 2564) แผนแม่บท Enabling Masterplan 2030 (EMP 2030) ยังกำหนดข้อริเริ่มสำหรับนายจ้างที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าวในอีก 8 ปีข้างหน้า เช่น ออกแบบรูปแบบการจ้างงานทางเลือกสำหรับผู้ทุพพลภาพ เช่น งานขนาดเล็กหรืองานชั่วคราวที่สามารถช่วยกระจายงานให้ผู้คนในวงกว้างมากขึ้น โดยมีเป้าหมายอัตราการจ้างงานที่ร้อยละ 40 หรือการจ้างงาน PWDs ประมาณ 10,000 ราย


1 ศัพท์คำว่า Gig เป็นคำแสลงที่หมายถึงวงดนตรีที่รับจ้างเป็นครั้ง ๆ และมีการต่อยอดเป็นคำว่า Gig Worker เพื่อใช้เรียกพนักงานพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์ในช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนถูกใช้งานอย่างกว้างขวางในช่วง ค.ศ. 2009 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ (Subprime Crisis) จนคนต้องออกมาทำงานอิสระเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเติบโตอย่างมหาศาลของ Gig นี้ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่มีการทำงานเป็นครั้งคราวเป็นตัวแปรหลักขึ้นมา และเริ่มขยายไปในหลายประเทศ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำงานเป็น Gig Workers มากขึ้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง