การพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจนของสิงคโปร์และความร่วมมือด้านพลังงานสิงคโปร์-ต่างประเทศ

หลังจากที่สิงคโปร์ประกาศยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยมีเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 นั้น หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจเอกชนด้านพลังงานใน สิงคโปร์ต่างขานรับนโยบายและเริ่มเดินหน้าพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะมาตรการคุมเข้มโรงไฟฟ้า ซึ่งเดิมร้อยละ 95 ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงถึงร้อยละ 40 ของคาร์บอนทั้งหมดในสิงคโปร์ และการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับการนำไฮโดรเจนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ

บริษัทชั้นนำด้านพลังงานของสิงคโปร์และพันธมิตรต่างชาติ เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานไฮโดรเจน

บริษัท Keppel และบริษัท Sembcorp สองบริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมการออกแบบแท่นขุดเจาะกลางทะเลและด้านพลังงานของสิงคโปร์ เริ่มพัฒนาและออกแบบโครงการพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นการขยายสาขาธุรกิจของบริษัทนอกเหนือจากธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ

ในปี 2565 บริษัท Keppel เป็นพันธมิตรกับบริษัท Mitsubishi Heavy Industries และบริษัทในเครือ IHI ของญี่ปุ่น เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าที่สามารถรองรับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนแห่งแรกของสิงคโปร์บนเกาะ Jurong มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ร่วมกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2569 โดยเริ่มผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และจะค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจนขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ บริษัท Keppel ยังวางแผนการสร้างโรงงานผลิตไฮโดรเจนหรือพาหะไฮโดรเจนในอินโดนีเซียอีกด้วย ด้วยการเป็นพันธมิตรกับบริษัท Pertamina บริษัทพลังงานแห่งชาติของอินโดนีเซีย และบริษัท Chevron เพื่อนำเอาพลังงานความร้อนใต้พิภพที่เกาะสุมาตรามาผลิตพลังงานไฮโดรเจน 40,000 ตัน/ปี

บริษัท Sembcorp ลงนามกับบริษัท IHI เพื่อศึกษาห่วงโซ่อุปทานในการใช้แอมโมเนีย (พาหะของไฮโดรเจน) และเดินหน้าศึกษาเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบขนส่งไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและความชำนาญการจากบริษัท Chiyoda บริษัทชั้นนำด้านการออกแบบโรงงานของญี่ปุ่น ในการลำเลียงไฮโดรเจน 60,000 ตัน/ปี จากหลายแหล่งทั่วโลก เช่น ออสเตรเลียและตะวันออกกลาง มาที่เกาะ Jurong ของสิงคโปร์

บริษัท Keppel กับบริษัท Mitsubishi Heavy Industries ลงนามร่วมสร้างโรงไฟฟ้าที่รองรับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนแห่งแรกของสิงคโปร์บนเกาะ Jurong
แหล่งที่มา: https://www.mhi.com/news/22083101.html
บริษัท Keppel บริษัท Pertamina และบริษัท Chevron ลงนามความตกลงเพื่อสำรวจและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนและแอมโมเนียในอินโดนีเซีย
แหล่งที่มา:https://www.pertamina.com/en/news-room/news-release/pertamina-nre-keppel-infrastructure-and-chevron-sign-agreement-to-explore-green-hydrogen-and-green-ammonia-development-projects-in-indonesia

EMA คุมเข้มการปล่อยคาร์บอนของโรงไฟฟ้า และการรองรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจน

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA) วางแผนออกมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน (emission standards) ฉบับใหม่สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสิงคโปร์ โดยจะบังคับให้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมอย่างน้อยร้อยละ 10 ซึ่งเป็นประสิทธิภาพจริงที่คำนวณจากการใช้ระบบการผลิตแบบพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (advanced combined-cycle gas turbine – CCGT) เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในตลาดในขณะนี้ และกำหนดให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 0.355 ตัน/เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) เท่านั้น จากค่าเฉลี่ยการปล่อยที่ 0.4057 ตัน/เมกะวัตต์-ชั่วโมงในปัจจุบัน และต้องสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจนได้อย่างน้อยร้อยละ 30 อีกทั้ง ต้องมีความพร้อมสำหรับการดัดแปลงให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนอย่างสมบูรณ์ได้ในอนาคตมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนฉบับใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) การปล่อยคาร์บอนเพื่อการผลิตกำลังไฟฟ้าฉบับใหม่เผยแพร่ในปี 2566 นี้ ทั้งนี้ EMA จะดำเนินการปรึกษาและสำรวจความคิดเห็นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายในครึ่งแรกของปี และจะค่อย ๆ เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้ เพื่อให้อุตสาหกรรมมีเวลาเตรียมการเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ

EMA เตรียมออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อสนับสนุนโครงการด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืน

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า EMA อยู่ระหว่างการร่างพันธบัตรสีเขียวแบบระยะกลาง (medium-term) ฉบับแรกของ EMA เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะการลดคาร์บอนในธุรกิจพลังงาน เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการปรับปรุงโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลง ทั้งนี้ พันธบัตรสีเขียวของ EMA จะเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างชาติและรองรับสกุลเงินที่หลากหลาย

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า พันธบัตรสีเขียวของ EMA จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้ดีและช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ทั้งยังทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายแก่นักลงทุน นอกเหนือจากพันธบัตรที่ออกโดยบริษัทด้านพลังงานอื่น ๆ เช่น บริษัท SP Group และบริษัท Sembcorp ของสิงคโปร์ และยังช่วยลดความเสี่ยงของ EMA เอง อันเนื่องจากความไม่แน่นอนด้านพลังงานจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

สิงคโปร์เร่งจัดหาพลังงานสะอาดจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย carbon net zero

ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สิงคโปร์เร่งขยายความร่วมมือด้านการซื้อ-ขายพลังงานสะอาด (low-carbon energy sources) กับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงและมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ และมหาอำนาจระดับกลางในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนแผน Singapore Green Plan 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 นอกจากการเริ่มซื้อไฟฟ้าจากลาวตามโครงการ Power Integration Project ในกรอบอาเซียน (LTMS-PIP) แล้ว สิงคโปร์ยังได้จัดทำความตกลงกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้

สหรัฐฯ Joint Ministerial Statement on Energy Cooperation (14 กรกฎาคม 2565) เน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน พลังงานสะอาด และความเชื่อมโยงทางพลังงาน

บรูไน MoU on Cooperation in Energy and Green Economy (24 สิงหาคม 2565) เน้นความร่วมมือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์ และตลาดซื้อ-ขายคาร์บอน

ลาว MoU on Energy Cooperation (28 กันยายน 2565) เน้นเรื่องการซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งในกรอบ LTMS-PIP ภายใต้วิสัยทัศน์ ASEAN Power Grid

ออสเตรเลีย Green Economy Agreement (GEA) (18 ตุลาคม 65) เน้นการค้าและการลงทุนสีเขียวและการซื้อ-ขายพลังงานสะอาดข้ามพรมแดน ตลาดคาร์บอน และเทคโนโลยีพลังงานเพื่อการบรรลุเป้าหมาย net zero

มาเลเซีย Joint Press Release on Carbon Capture Storage and Carbon Credits (25 ตุลาคม 2565) ระหว่างสิงคโปร์กับรัฐซาราวัก มาเลเซีย ซึ่งสะท้อนว่าถึงแม้ รัฐบาลกลางมาเลเซียจะยังไม่เห็นด้วยที่จะขายพลังงานสะอาดแก่สิงคโปร์ แต่สิงคโปร์ก็ดำเนินความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของมาเลเซีย ในประเด็นที่จะช่วยให้ สิงคโปร์บรรลุ net zero ได้เร็วขึ้น

เวียดนาม MoU on Carbon Credits Collaboration (17 ตุลาคม 2565) เน้นเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทน การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (รวมไฮโดรเจนและแอมโมเนีย)                   

กัมพูชา MoU on Energy Cooperation (26 ตุลาคม 2565) โดยกัมพูชาจะศึกษาความเป็นไปได้ในการขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดแก่สิงคโปร์ภายในปี 2571

ญี่ปุ่น MoC on Liquefied Natural Gas Cooperation and Energy Transitions (26 ตุลาคม 2565) เน้นการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานของก๊าซ LNG ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

เยอรมนี Framework for Sustainability and Innovation (13 พฤศจิกายน 2565) เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนร่วมกันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

อินโดนีเซีย MoU on Renewable Energy Cooperation (16 มีนาคม 2566) เน้นการลงทุนเพื่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ solar photovoltaics (PV) และ battery energy storage systems (BESS) ในอินโดนีเซีบ และการซื้อข่ายพลังงานไฟฟ้าระหว่างสิงคโปร์ – อินโดนีเซีย

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อเสนอแนะ

ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่หนาแน่นที่สุดในโลก กำลังการผลิตมากกว่า 700 เมกะวัตต์ (MWp) และตั้งเป้าการผลิตที่ 1.5 กิกะวัตต์ (GWp) ภายในปี 2568 และจะเพิ่มเป็น 2 กิกะวัตต์ (GWp) ภายในปี 2573

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 สิงคโปร์ได้เปิดใช้งานระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ (energy storage system – ESS) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรในเขต Banyan และ Sakra ของเกาะ Jurong อย่างเป็นทางการ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Sembcorp เพื่อกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ในช่วงที่ผลิตได้มากเกิน เอาไว้ใช้เมื่อต้องการในภายหลัง แก้ปัญหาความไม่แน่นอนของสภาพอากาศของสิงคโปร์ และเพื่อความมีเสถียรภาพของแหล่งพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ ระบบ ESS ประกอบด้วยหน่วยของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประสิทธิภาพสูงขนาดใหญ่มากกว่า 800 หน่วย กักเก็บพลังงานได้สูงสุด 285 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอกับความต้องการตลอดทั้งวันของที่อยู่อาศัย HDB แบบ 4 ห้อง จำนวน 24,000 ครัวเรือนต่อการส่งจ่ายหนึ่งครั้ง ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติจากส่วนกลางและเซ็นเซอร์อัจฉริยะ เพื่อให้ระบบ ESS ทำงานได้อย่างสัมพันธ์กับความต้องการของโครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าของสิงคโปร์

ระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ (energy storage system – ESS) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แหล่งที่มา: https://www.sembcorp.com/en/media/media-releases/energy/2023/february/southeast-asia-s-largest-energy-storage-system-officially-opens/

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง