มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์กับการปรับตัวให้ทันกับโลกปัจจุบัน เน้นการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ระบบการศึกษาของสิงคโปร์เป็นที่ยอมรับในระดับโลก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore – NUS) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University – NTU) ได้รับการจัดอันดับจากสื่อด้านการศึกษาหลายสำนักว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับต้น ๆ ของโลก วิกฤตการณ์โควิด-19 และอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์ ส่งผลกระทบต่อการเรียนในระดับอุดมศึกษาในสิงคโปร์ การเติบโตของสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยีที่เน้นประสบการณ์มากกว่าวุฒิปริญญา ทำให้การศึกษาในระดับปริญญาขึ้นไปถูกลดทอนความสำคัญ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสิงคโปร์จึงเริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งปฏิรูปการบริหารและหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางและแนวโน้มของโลกสมัยใหม่

การปฏิรูปมหาวิทยาลัยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Education)

มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์เห็นว่าการพัฒนาทักษะ “เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) เป็นภารกิจสำคัญและจำเป็น โดย NUS ได้เริ่มจัดตั้ง School of Continuing and Lifelong Education เมื่อปี 2558 เน้นพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่ให้กับศิษย์เก่า ด้วยแนวความคิดว่า ผู้คนในปัจจุบันไม่ควรหยุดเรียนรู้ แต่ควรเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะออกหลักสูตรใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งให้สิทธิแก่ศิษย์เก่าทุกคนในการกลับมาเรียนหลักสูตรระยะสั้นได้หนึ่งหลักสูตรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 NUS ได้จัดงานประชาสัมพันธ์หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (Graduate Certificate) ให้กับประชาชนทั่วไปในงาน Lifelong Learning Festival ที่จัดขึ้นครั้งแรกที่วิทยาเขต Kent Ridge ของ NUS เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงได้ง่ายขึ้นในราคาที่ไม่แพง โดยส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรนอกเวลาทำการและเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษา ค.ศ. 2022/2023 กว่า 70 หลักสูตร เช่น Graduate Certificate in Analytics and Technology Management และ Graduate Certificate in Technological Innovation Management โดยมอบส่วนลดค่าเล่าเรียน 10% แก่ประชาชนทั่วไป และลดเพิ่มอีก 5% สำหรับศิษย์เก่าของ NUS

นอกจากนี้ NUS ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือ “NUS Career+” ที่พัฒนาล่าสุด ผู้ใช้งานสามารถบันทึกประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และทักษะต่าง ๆ และเลือกตำแหน่งงานที่ต้องการ แอปพลิเคชันจะใช้ฐานข้อมูลจากเว็บไซต์จัดหางานต่าง ๆ มาประมวลผลเพื่อระบุทักษะที่ผู้ใช้งานควรจะเรียนรู้เพิ่มเติม และแนะนำหลักสูตรจากสถาบันต่าง ๆ ในประเทศที่เปิดสอน NUS พัฒนา Career+ มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน

ศาตราจารย์ Ho Teck Hua รองประธานอาวุโสของ NUS กำลังสาธิตการใช้งานแอปพลิเคชัน NUS Career+ ในงาน Lifelong Learning Festival 2022
แหล่งที่มา: NUS News (https://news.nus.edu.sg/embracing-a-mindset-of-continual-learning-at-the-nus-lifelong-learning-festival-2022/)
แอปพลิเคชัน NUS Career+
แหล่งที่มา: NUS News (https://news.nus.edu.sg/career-fest-2021/)

สำหรับ NTU มีการจัดตั้ง Centre of Professional and Continuing Education ที่เปิดสอนทั้งแบบออนไลน์ระยะสั้นและแบบภาคการศึกษา ในขณะที่ Singapore University of Social Sciences (SUSS) มี College of Lifelong and Experiential Learning โดยมีหลักสูตรตั้งแต่ระดับก่อนมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และหลังจบการศึกษา เช่น หลักสูตรปริญญาโทครูสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และหลักสูตรอนุปริญญาด้านการดูแลผู้สูงอายุ

การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันการศึกษาขั้นสูงในระยะยาว

มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์นำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมในการสอนอย่างจริงจัง โดยได้นำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (virtual reality: VR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (augmented reality: AR) มาใช้ในการเรียนการสอน เช่น การจำลองสถานการณ์อาชญากรรม ภาพสามมิติของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และลายนิ้วมือ หรือการจำลองสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ด้านความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย การใช้แชทบอท AI จำลองบทสนทนาระหว่างผู้ป่วยกับนักศึกษาแพทย์ เพื่อฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสารและการจ่ายยา สิงคโปร์มั่นใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยเติมเต็มการเรียนการสอนให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยสามารถทำซ้ำอย่างไม่จำกัดและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยยิ่งโดดเด่น มีประสิทธิภาพ และแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

ผู้ช่วยศาตราจารย์ Stella Tan (ขวา) กำลังสอนนักศึกษาด้วยการจำลองสถานการณ์อาชญากรรมด้วย VR
นักศึกษาแพทย์ใช้ VR ในการจำลองด้วยโปรแกรม Patient Safety as Inter-Professional Training (PASS-IT)

แหล่งที่มา: สมาคมศิษย์เก่า NUS (https://www.nus.edu.sg/alumnet/thealumnus/issue-126/perspectives/focus/adapting-to-an-altered-reality)

การปรับหลักสูตรให้มีความหลากหลาย (Interdisciplinary Education)

มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรให้ทันสมัย โดยจัดตั้งหรือควบรวมคณะเดิมเป็นคณะใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตไม่ให้จำกัด เน้นเพิ่มความหลากหลายในการเรียนรู้ นักศึกษาสามารถเลือกวิชาหลักและวิชารองที่ตนสนใจ เช่น NUS จัดตั้งคณะมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (College of Humanities and Sciences) เมื่อปี 2564 และคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่รวมภาควิชาการออกแบบสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เพื่อผลิตวิศวกรที่ตอบโจทย์ของสังคมในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

รัฐบาลสิงคโปร์จัดตั้งโครงการ SkillsFuture ขึ้นในปี 2557 เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ  แก่แรงงานวัยผู้ใหญ่ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะทักษะอุตสาหกรรม 4.0 ประชาชนชาวสิงคโปร์อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อไว้สมัครเรียนกับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ โดยเมื่อปี 2563 รัฐบาลได้เพิ่มสิทธิให้อีกคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อรับมือกับภาวะการเลิกจ้างครั้งใหญ่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังเพิ่มสิทธิให้กับคนสิงคโปร์ที่มีอายุ 40 – 60 ปี อีกคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนอาชีพ (mid-career) ในปี 2564 มีคนสิงคโปร์เข้าเรียนคอร์สจาก SkillsFuture เป็นจำนวนมากถึง 660,000 คน (มากกว่าปี 2563 ถึง 22%)  และมีบริษัทเข้าร่วมกว่า 24,000 องค์กร สิงคโปร์อยู่ระหว่างการจัดงานประจำปีของ SkillsFuture (5 กรกฏาคม – 14 สิงหาคม 2565) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://skillsfuturefestival.sg

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยของไทยก็มีจำนวนนักศึกษาลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 จากการศึกษาวิจัยขององค์กรด้านการศึกษาพบว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในไทยยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดและแนวโน้มทางเศรษฐกิจในอนาคตเท่าใดนัก สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะเอกชนมีความเสี่ยงต้องปิดกิจการ จึงต้องเร่งปรับกลุยทธ์และกลไกในการพัฒนาบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและภาคธุรกิจด้วย โดยเฉพาะวัยแรงงานภาคการผลิตและบริการ และการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับตลาดแรงงาน ทั้งนี้ แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตยังไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างในประเทศไทย หน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันผลักดันการคิดต่อยอดความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตไทยให้แข่งขันในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง