สิงคโปร์ดันแผนลดการบริโภคโซเดียมลง 15% ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565คณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพ (Health Promotion Board : HPB) เปิดเผยว่า ชาวสิงคโปร์บริโภคเกลือมากเกินไป และมีแผนที่จะให้ชาวสิงคโปร์ลดการบริโภคโซเดียมลงประมาณ 15% ภายในอีกห้าปีข้างหน้า1 โดยจะส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์เปลี่ยนการบริโภคเกลือธรรมดามาเป็นสินค้าทางเลือกที่มีโซเดียมต่ำที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ HPB จะร่วมมือกับร้านค้าปลีกในการทำให้สินค้าทดแทนเหล่านี้มีราคาที่จับต้องได้ และมีทางเลือกสินค้ากลุ่มซอสและเครื่องปรุงรสโซเดียมต่ำที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับการให้ความรู้กับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวสิงคโปร์มีอัตราการบริโภคเกลือสูงขึ้น โดยในปี 2565 ชาวสิงคโปร์หนึ่งคนได้รับโซเดียมเฉลี่ยที่ 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากในปี 2543 ที่บริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 3,300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือปริมาณหนึ่งช้อนชา นอกจากนี้ การบริโภคโซเดียมมากเกินไปยังส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่อาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

HPB กล่าวว่า การใช้สารทดแทนเกลือ เช่น สารโพแทสเซียมคลอไรด์ซึ่งมีรสชาติเหมือนเกลือทั่วไป สามารถช่วยลดการบริโภคโซเดียมได้ นอกจากนี้ การบริโภคสารโพแทสเซียมจะช่วยควบคุมความดันโลหิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะชาวสิงคโปร์บริโภคโพแทสเซียมเฉลี่ยที่ 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่แนะนำอยู่ที่ 3,500 – 4,700 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ดี สารทดแทนเกลือมีราคาแพงกว่าเกลือทั่วไปประมาณ 10 เท่า ดังนั้น HPB ได้ทำงานร่วมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในการทำ House Brand2 ของเกลือโซเดียมต่ำภายในปี 2566 โดยจะเริ่มจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกลือโซเดียมต่ำที่ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice และ Sheng Siong ในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2565 หรือผลิตภัณฑ์เกลือโซเดียมต่ำแบรนด์ K-Salt ประกอบด้วยโซเดียมและโพแทสเซียมคอลไรด์ ซึ่งช่วยลดปริมาณโซเดียมได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเกลือทั่วไป ในราคา 2.50 เหรียญสิงคโปร์3(66 บาท) สำหรับขนาด 400 กรัม นอกจากนี้ HPB จะเพิ่มความหลายหลายของซอสและเครื่องปรุงรสโซเดียมต่ำ ในปัจจุบัน ซอสและเครื่องปรุงรสที่ดีต่อสุขภาพคิดเป็น 25% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จำหน่ายในสิงคโปร์ ซึ่ง HPB มีแผนการที่จะขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้น และจะเปิดตัวโครงการสนับสนุนการลดการบริโภคโซเดียมทั่วประเทศ

HPB ยังดำเนินโครงการ Healthier Dining Program4 ร่วมกับบริษัทรับจัดเลี้ยง (Catering Companies) เกือบ 150 แห่ง เพื่อให้เปลี่ยนมาใช้เกลือและซอสปรุงรสโซเดียมต่ำ ตัวอย่างเช่น บริษัท LPH Catering เปลี่ยนไปใช้เกลือและซอสปรุงรสโซเดียมต่ำในปี 2564 โดยบริษัทเห็นว่า ผลลัพธ์ค่อนข้างน่าพอใจ โดยทางร้านไม่ได้ปรับสูตรแต่อย่างใด และลูกค้ามองว่า รสชาติไม่ได้แตกต่างระหว่างเกลือทางเลือกและเกลือธรรมดา นอกจากนี้ HPB ระบุว่า จะทำงานร่วมกับเครือร้านอาหาร (Eatery Chains) และร้านค้าตามศูนย์อาหารท้องถิ่น (Hawkers) เพื่อใช้ส่วนผสมทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

Dr.Eunice Pang รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ของ HPB กล่าวว่า ปัจจุบันเกลือโซเดียมต่ำมีสัดส่วนเพียง 2% ของตลาดทั้งหมด แต่ HPB คาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จนมีส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเกลือทั่วไป

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นของ สคต.

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผลักดันการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสุขภาพที่ดีมาเป็นเวลานาน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคน้ำตาล/เกลือ การใช้ตราสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice Symbol : HCS)5 ของ HPB หรือโครงการ Healthier SG ของรัฐบาลฯ เป็นต้น ในขณะเดียวกันประชาชนสิงคโปร์ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการดูสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น จากความพยายามในการลดการบริโภคโซเดียมในสิงคโปร์และความต้องการเพิ่มความหลากหลายและขยายสัดส่วนสินค้าโซเดียมต่ำ ส่งผลให้ความต้องการสินค้ากลุ่มซอสปรุงรส น้ำสลัด เครื่องปรุงรสแบบโซเดียมต่ำในสิงคโปร์มีมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจตลาดสิงคโปร์ควรศึกษาวิธีการข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์6 เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

ตราสัญลักษณ์ Healthier Choice Lower in Sodium (โซเดียมต่ำ)
แหล่งที่มา: HealthHub (https://www.healthhub.sg/live-healthy/2093/about-lower-sodium-salt)

1 แผนยุทธศาสตร์ในการลดการบริโภคโซเดียมประกาศครั้งแรกระหว่างการอภิปรายงบประมาณในเดือนมีนาคม 2565

2 House Brand คือสินค้าที่เป็นแบรนด์ของร้านค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ที่นำมาวางขายควบคู่กับสินค้าของแบรนด์อื่นๆ โดย House Brand มักจะมีราคาถูกกว่า

3 1 เหรียญสิงคโปร์ เท่ากับ 26.44 บาท ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2565

4 เริ่มในปี 2557 เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ร้านกาแฟ ร้านค้าในศูนย์อาหารท้องถิ่นมีการนำเสนอเมนูที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

5 ตราสัญลักษณ์ Healthier Choice นั้น เป็นตราสัญลักษณ์ที่ออกโดย HPB โดยกำหนดให้สินค้าอาหารที่มีตราสัญลักษณ์ Healthier Choice Lower in Sodium (โซเดียมต่ำ) นั้นต้องมีโซเดียมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน ที่ไม่มีตราสัญลักษณ์อย่างน้อย 25% โซเดียมน้อยกว่า 25% ถึงจะได้รับตราสัญลักษณ์ Healthier Choice Lower in Sodium

6 กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง