แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมการผลิตสิงคโปร์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 แจ้งประมาณการเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสิงคโปร์ ทั้งด้านความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ผลผลิต และการจ้างงาน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สรุปสาระสำคัญ พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต ดังนี้

ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (business sentiment) ต่ออุตสาหกรรมการผลิต เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2565

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายการพัฒนาสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางวิศวกรรมขั้นสูง นวัตกรรม และแรงงานทักษะที่มีฝีมือระดับโลก ผ่านวิสัยทัศน์ในระยะ 10 ปีข้างหน้า (Singapore’s Manufacturing 2030 Vision) และเตรียมขยายขนาดของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ภายในปี 2573

ปี 2565 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจต่อภาคการผลิตเป็นไปในทิศทางลบ จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ความท้าทายของห่วงโซ่อุปทาน แรงกดดันด้านต้นทุน มาตรการโควิดเป็นศูนย์ในจีนและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ล้วนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์จากภายนอก โดยวิสาหกิจด้านการผลิตในสิงคโปร์คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะลดลงร้อยละ 8.0 และสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจเท่ากับไตรมาสที่ 2/2565

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสิงคโปร์ที่ยังน่าจะเติบโต ได้แก่ 1) วิศกรรมขนส่ง คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 48 จากภาคการบินและอวกาศ ที่การซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้นตามการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศทั่วโลกฟื้นตัว รวมถึงวิศวกรรมทางทะเลและนอกชายฝั่งที่กิจกรรมในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และ 2) วิศวกรรมความแม่นยำ คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 11 จากการผลิตสายเชื่อมและทัศนูปกรณ์ (optical instruments)

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสิงคโปร์ที่น่าจะหดตัว ได้แก่ 1) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 21 เนื่องจาก บริษัทในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องและการชะลอตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากตลาดพีซีและสมาร์ทโฟน 2) กลุ่มการผลิตด้านชีวการแพทย์ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 15 จากการที่บริษัทยาและเทคโนโลยีการแพทย์ได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3) กลุ่มการผลิตทั่วไป คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 11 เนื่องจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ และการพิมพ์ มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้น 4) กลุ่มเคมีภัณฑ์ คาดว่า จะหดตัวร้อยละ 7 จากกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากค่าวัสดุ ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่ลดลงในภูมิภาค

ประมาณการผลผลิต (output) ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในไตรมาสที่ 3/2565   

แม้ว่าแนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะลดลง แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 3/2565 ผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ยกเว้นกลุ่มเคมีภัณฑ์ที่ผลผลิตคาดว่าจะลดลงร้อยละ 8) โดย (1) กลุ่มวิศวกรรมขนส่งคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากการขยายตัวของการเดินทางทางอากาศซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นทางธุรกิจในกลุ่มนี้ (2) วิศวกรรมความแม่นยำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สูงขึ้น (3) กลุ่มการผลิตด้านชีวการแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากการผลิต ส่วนผสมทางเภสัชกรรมและผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สูงขึ้น และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตทั่วไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากการผลิตชิปที่ยังคงมีอุปสงค์สูงและขาดแคลนทั่วโลก รวมถึงอุปสงค์สูงขึ้นจากตลาด Internet of Things (IoT)

การจ้างงานและการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในไตรมาสที่ 3/2565

กลุ่มผู้ผลิตคาดว่าจะมีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่มขึ้นสำหรับไตรมาสที่ 3/2565 เทียบกับไตรมาสที่ 2/2565
ร้อยละ 25 ในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวิศวกรรมการขนส่งและอิเล็กทรอนิกส์

วิสาหกิจในภาคการผลิต ร้อยละ 72 รายงานว่าไม่มีข้อจำกัดหรือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกในไตรมาสที่ 3/2565 สำหรับบริษัทที่คาดว่าจะเผชิญความท้าทายในการส่งออก เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ (1) การแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่งในต่างประเทศ และ (2) ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากผลกระทบของห่วงโซ่อุปทาน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้ความน่าดึงดูดใจของการลงทุนในสิงคโปร์ลดลง แต่สำหรับภาคการผลิตของสิงคโปร์กลับมีผู้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยเสถียรภาพของสิงคโปร์ การค้า การเชื่อมต่อด้านลอจิสติกส์ และระบบนิเวศที่แข็งแกร่งที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรม จึงทำให้สิงคโปร์เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิตเพื่อให้บริการในภูมิภาคนี้

จากข้อมูลที่รวบรวมโดยแพลตฟอร์มข้อมูล Handshakes ผู้ผลิตที่เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวนมากกว่าผู้ผลิตที่ถอนการลงทุน โดยในปี 2564 มีผู้เข้ามาลงทุน 2,649 ราย เพิ่มขึ้นจากในปี 2563 จำนวน 2,468 ราย และปี 2562 จำนวน 2,087 ราย ในขณะที่ผู้ที่ยุติการลงทุนในสิงคโปร์ ลดลงจาก 1,980 ราย ในปี 2562 เป็น 1,700 ราย ในปี 2563 แต่เริ่มสูงขึ้นอีกในปี 2564 โดยมีจำนวน 1,970 ราย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง