สิงคโปร์รั้งที่ห้าในการจัดอันดับความยั่งยืนในการทำการค้าโลก

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สถาบัน IMD (Institute of Management Development) ร่วมกับมูลนิธิ Hintech ได้เปิดเผยรายงานการจัดอันดับดัชนีการค้าที่ยั่งยืน (Sustainable Trade Index) โดยสิงคโปร์จัดอยู่ในอันดับที่ห้า ในขณะที่นิวซีแลนด์เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยอังกฤษ ฮ่องกง และญี่ปุ่น จากการจัดอันดับดัชนีการค้าโลกของเขตเศรษฐกิจ 30 แห่ง โดยดัชนีดังกล่าววัดความพร้อมผ่านหัวข้อหลักสามอย่าง ได้แก่ 

(1) เศรษฐกิจ วัดจากเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบระยะยาว โดยมีตัวบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบการค้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าและความสะดวกในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

(2) สังคม ต้องมีการพัฒนาปัจจัยทางสังคมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจในการทำการค้าระยะยาว เช่น ระดับการศึกษา และมาตรฐานแรงงาน เป็นต้น

(3) สิ่งแวดล้อม จะวัดจากการปกป้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการปัจจัยภายนอกที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบการค้าโลก เช่น ระดับมลพิษทางอากาศและทางน้ำ เป็นต้น

รายงานยังได้ระบุว่า ประเทศที่อยู่ในอันดับสูงจะเป็นประเทศที่สนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี มีอุปสรรคทางการค้าต่ำ และมีโอกาสเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ พลเมืองต่างมีอายุขัยยืนยาว  มีความคิดในการประหยัดพลังงานและคำนึงถึงสภาพอากาศโลก ทั้งนี้ สิงคโปร์อยู่อันดับสองในหัวข้อเศรษฐกิจ รองจากฮ่องกง อันดับเก้าในหัวข้อสังคม และอันดับสิบในหัวข้อสิ่งแวดล้อม โดยทั้งฮ่องกงและสิงคโปร์ต่างดึงดูดการลงทุนเงินทุนจากต่างชาติและทั้งสองประเทศต่างมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่พัฒนาเป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์ Arturo Bris ผู้อำนวยการสถาบัน IMD World Competitiveness Center1 กล่าวว่า ในปัจจุบัน ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างผลกระทบของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล) กับแนวปฏิบัติของการค้าโลก ซึ่งบางประเทศพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจจากการส่งออก แต่เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างผลกำไร ส่งผลให้พวกเขามองข้ามวัตถุประสงค์ทางด้าน ESG ในขณะที่บางประเทศต้องใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionism) และหลีกเลี่ยงการค้าโลกเมื่อเผชิญกับความท้าทายจากสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าโลกในรูปแบบการแข่งขันทางการค้า เปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และมีการค้าที่เสรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสิงคโปร์อยู่ในดับดับที่สองในหัวข้อเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันยังรักษามาตรฐานที่เหมาะสมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดในมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในอนุสัญญาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการค้า การบำบัดน้ำเสีย นโยบายการกำหนดราคาและการชดเชยคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นของ สคต.

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  แทบทุกประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยภาวะโลกร้อน รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564  รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศ Singapore Green Plan 2030 เพื่อกำหนดเป้าหมายสำหรับการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนภายในปี 2573 รวมถึงการวางจุดยืนของสิงคโปร์ในการลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด หรือที่เรียกว่า Singapore Net Zero Emissions

ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็น BCG ผ่านนโยบายต่างๆ รวมถึงได้ชูประเด็นดังกล่าวเป็นนโยบายชาติในปี 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความไม่สมดุล และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านแนวคิด เศรษฐกิจแบบ BCG ในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็ได้ขานรับนโยบายนี้ โดยส่งเสริมการส่งออกสินค้า BCG ในกลุ่ม สินค้าไลฟ์สไตล์ บรรจุภัณฑ์ เวชสำอาง สารสกัดสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึง สินค้าอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า / เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยในเวทีการค้าโลกอีกด้วย


1 หน่วยงานของ IMD ที่ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในรายงาน The World Competitiveness Center เป็นประจำทุกปี


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง