สิงคโปร์เปิดทางนำเข้าไก่จากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

สิงคโปร์นำเข้าไก่จากออสเตรเลียมากขึ้น หลังจากที่กระบวนการนำเข้าถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกเนื้อสัตว์ปีกที่มีมูลค่ามากที่สุดของออสเตรเลีย หลังจากที่กระบวนการนำเข้าถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปี 2565 สิงคโปร์นำเข้าสัตว์ปีกจากออสเตรเลียถึง 9% ของผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกทั้งหมดของออสเตรเลีย หรือคิดเป็นมูลค่า 7.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ในเดือนมิถุนายน 2565 สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) ได้ประกาศกระบวนการปรับปรุงการนำเข้า ให้มีการยกเว้นการตรวจสอบเนื้อสัตว์ปีกของออสเตรเลียจากสัตว์แพทย์ของรัฐบาลทั้งก่อนและหลังการฆ่า ส่งผลให้มีการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกของออสเตรเลียมายังสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 54% ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 และการยกเว้นนี้จะมีผลอย่างถาวรในเดือนกันยายน 2565

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมในเดือนตุลาคม 2565 ด้วยการลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจสีเขียว ว่าด้วยกรอบของหลักการเศรษฐกิจสีเขียวและขอบเขตความร่วมมือเจ็ดด้าน ได้แก่ การค้า ตลาดคาร์บอน และพลังงานสะอาด รวมไปถึงความร่วมมือในแนวคิดและความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับระบบเกษตรแบบยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารโลก และประเด็นอื่นๆ

ในปี 2565 ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม มาเลเซียระงับการส่งออกไก่มายังสิงคโปร์เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไก่ที่สูงขึ้น และการขาดแคลนเนื้อสัตว์ปีกในประเทศ ส่งผลให้สิงคโปร์หันไปหาแหล่งส่งออกประเทศอื่น เช่น ไทยและบราซิล และเพิ่มการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ ข้อมูลจาก SFA ระบุว่า สิงคโปร์นำเข้าไก่จากมาเลเซียในปี 2564 ประมาณ 34% หรือเกือบ 73,000 ตัน ของอุปทานไก่ในสิงคโปร์

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในปี 2565 มูลค่านำเข้าสัตว์ปีกเลี้ยงมีชีวิตของสิงคโปร์อยู่ที่ 165.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้ามาจากมาเลเซียเป็นหลัก และมูลค่านำเข้าเนื้อสัตว์ปีก สด แช่เย็น หรือแช่แข็งของสิงคโปร์อยู่ที่ 458.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากบราซิล ด้วยมูลค่าการนำเข้า 352.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 76.92% ของมูลค่าการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมดของสิงคโปร์ ตามมาด้วยสหรัฐฯ และไทยเป็นอันดับสี่ ด้วยมูลค่าการนำเข้า 19.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 4.15% และโตขึ้น 5.41% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 ในปี 2564 ประเทศที่ได้รับการอนุมัติจาก SFA มีทั้งหมด 29 ประเทศ แต่หลังจากเหตุการณ์การระงับการส่งออกไก่จากมาเลเซียมายังสิงคโปร์ ส่งผลให้สิงคโปร์ได้กระจายแหล่งนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นภายใต้นโยบาย 30*30 โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2565 อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการอนุมัติให้ส่งออกไก่มายังสิงคโปร์ได้

ประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโต หรือสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสิงคโปร์ได้ เพราะไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก ประกอบกับสินค้าไก่ไทยได้รับการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีเทคโนโลยีการผลิต แปรรูปที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดสิงคโปร์ ในขณะนี้ โรงงานส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสด/แช่แข็งไทยที่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้ามายังสิงคโปร์มีทั้งหมด 39 แห่ง อย่างไรก็ดี การอนุมัติประเทศนำเข้าเนื้อไก่มายังสิงคโปร์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องรักษามาตรฐาน และคุณภาพ ประกอบกับการสร้างภาพลักษณ์ในสินค้า และมีการพัฒนาให้ทันสมัยตลอดเวลาเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง