การเติบโตของธุรกิจการให้บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later) ในสิงคโปร์

ธุรกิจการให้บริการแบบ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later – BNPL) เป็นรูปแบบการชำระเงินที่มีแนวโน้มการเติบโตทั่วโลก จากความนิยมซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานวัยมิลเลนเนียลหรือเจเนอเรชั่น ซี (Gen Z คือ กลุ่มคนที่เกิดหลังปี 2543)

สิงคโปร์เริ่มให้บริการ BNPL เมื่อปี 2560 โดยผู้ให้บริการส่วนมากเป็นบริษัทฟินเทค เช่น Atome ShopBack (ชื่อเดิม Hoolah) Grab PayLater และ Pace  โดย Atome เป็นบริษัทในเครือ Advance Intelligence Group ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคระดับยูนิคอร์นของสิงคโปร์ ทั้งนี้ Atome ได้ขยายธุรกิจเข้ามาในไทยเมื่อปี 2562 และถือเป็นผู้ให้บริการ BNPL รายแรกในประเทศไทยอีกด้วย

รูปแบบการชำระเงินแบบ BNPL และมูลค่าการเติบโตของธุรกิจ BNPL ในสิงคโปร์

บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” หรือ BNPL เป็นบริการสินเชื่อ ณ จุดขาย โดยระบบจะอนุมัติให้ลูกค้าได้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการก่อน แล้วค่อยจ่ายทั้งก้อนหรือผ่อนชำระในภายหลังเป็นงวด ๆ เช่น ทุก 2 สัปดาห์หรือทุกเดือน ตามนโยบายของผู้ให้บริการแต่ละราย ทั้งนี้ รายได้หลักของผู้ให้บริการจะมาจากการคิดค่าบริการแพลตฟอร์มจากร้านค้า ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะมีทั้งบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แบรนด์ชั้นนำ ไปจนถึงร้านค้าขนาดย่อม 

จุดเด่นของบริการ BNPL คือ (1) ลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิตก็สามารถซื้อก่อนและจ่ายทีหลังได้ (2) ไม่มีดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนใหญ่มีแต่ค่าธรรมเนียมในการจ่ายล่าช้าที่ไม่สูง (3) เงื่อนไขการขอใช้บริการไม่ซับซ้อนและใช้เวลาอนุมัติเร็วกว่าบัตรเครดิต (ผู้สมัครบัตรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อปีเหมือนบัตรเครดิต) และ (4) ร้านค้าที่เข้าร่วมจะได้รับเงินทันทีจากเจ้าของแพลตฟอร์ม โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะรับความเสี่ยงไว้เอง ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า ร้านค้าที่รวมตัวเลือกทางการเงินแบบ BNPLไว้ในกลยุทธ์ทางธุรกิจนั้น มีขนาดตระกร้าการขายที่ใหญ่ขึ้น โดยบริษัท Atome หนึ่งในผู้ให้บริการ BNPL รายใหญ่ของสิงคโปร์รายงานว่า ร้านค้าปลีกมีปริมาณการขายสูงขึ้นเฉลี่ย 17% และอัตราส่วนระหว่างยอดจำหน่ายสินค้าตามจริงเมื่อเทียบกับยอดเข้าชมสินค้า (conversion rate) เพิ่มขึ้น 30%1

จากการสำรวจตลาด ธุรกิจ BNPL ในสิงคโปร์มีโอกาสที่จะเติบโต 52% ต่อปี และจะมีมูลค่ารวม 773.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 นี้ โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าสินค้ามวลรวม (gross merchandise value) ของ BNPL ในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นจาก 507.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 เป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 จากแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ แสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์ม BNPL ตรงกับความต้องการของทั้งร้านค้าและผู้บริโภคอย่างมาก แม้ว่าสิงคโปร์จะมีอัตราการเข้าถึงบริการบัตรเครดิตและการเปิดบัญชีธนาคารสูงที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคก็ตาม          

นอกจากนี้ งานวิจัยของบริษัท Milieu เปิดเผยว่า คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของร้านค้า เช่น ส่วนลดพิเศษหากชำระแบบ BNPL โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการที่ราคาไม่สูง ซึ่งผู้ซื้อสินค้าที่เลือกจ่ายแบบ BNPL เกือบครึ่งหนึ่งซื้อสินค้าและบริการที่ราคาไม่เกิน 100 ดอลลาร์สิงคโปร์

ความกังวลของสังคมต่อการให้บริการแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังในสิงคโปร์

สื่อและสำนักข่าวท้องถิ่นของสิงคโปร์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการชำระเงินในรูปแบบ BNPL ว่าอาจเป็นการส่งเสริมการใช้เงินที่เกินตัวให้กับผู้บริโภค และทำให้ภาวะหนี้สินในครัวเรือนรุนแรงขึ้น ส่วนผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม BNPL อาจประสบปัญหาเรื่องการปล่อยเงินกู้เกินศักยภาพ รวมถึงปัญหาช่องว่างในการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจในระยะกลางถึงยาว

ทั้งนี้ Monetary Authority of Singapore (MAS) ให้ข้อมูลว่า การชำระเงินแบบ BNPL ในสิงคโปร์ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการชำระเงินโดยวิธีอื่น โดยคิดเป็นอัตราน้อยกว่า 0.5% ของยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต จำนวน 103 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อปี 2564 โดยผู้ใช้บริการ BLNP ส่วนใหญ่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัยทำงานและสร้างรายได้ของตนเองได้แล้ว นอกจากนี้ MAS ยังได้หารือกับสมาคมผู้ประกอบการฟินเทคสิงคโปร์ เพื่อจัดทำจรรยาบรรณธุรกิจ BNPL ซึ่งคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2565 โดยจะมีข้อกำหนด เช่น จำนวนหนี้รวมสูงสุดของผู้บริโภค การระงับการใช้จ่ายใหม่ของลูกค้าที่ผิดนัดชำระเงิน การไม่คิดดอกเบี้ยทบต้นของยอดคงค้าง และความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการ BNPL กำลังร่วมมือกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมที่แสดงยอดการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละราย เพื่อช่วยให้การประเมินเครดิตของลูกค้าในสิงคโปร์รัดกุมยิ่งขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

แพลตฟอร์ม BNPL กำลังเป็นที่นิยมในไทยเช่นกัน โดยภาคเอกชนประเมินว่า มูลค่าสินค้ารวมBNPL ของไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 893.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 เป็น 15,818.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 17 เท่า ภายใน 7 ปี โดยในประเทศไทยเริ่มมีผู้ให้บริการที่หลากหลายขึ้น เช่น PayNext ของบริษัท True Money และ SPayLater ของบริษัทอีคอมเมิร์ซ Shopee รวมทั้งบริษัทจากสิงคโปร์ เช่น Atome และ Pace ปัจจุบันไทยมีผู้ถือบัตรเครดิตมากกว่า 6 ล้านคนจากจำนวนประชากร 70 ล้านคน ทำให้ธุรกิจ BNPL ในไทย รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากยังคงมีประชากรจำนวนมากที่ไม่มีบัญชีธนาคารและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อบัตรเครดิต ธุรกิจ BNLP จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคทั่วไป สำหรับภาคธุรกิจค้าปลีก การเป็นพันธมิตรกับระบบการจ่ายเงินแบบ BNPL ก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นด้วย

นอกจากผู้ให้บริการ BNPL ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและบริษัทฟินเทคแล้ว ปัจจุบันสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็กำลังปรับตัวให้เข้ากับกระแส BNPL ที่กำลังเติบโตด้วยเช่นกัน เช่น Mastercard ผู้ให้บริการบัตรเครดิตระดับโลก ได้เปิดบริการผ่อนชำระเงินแบบ BNPL โดยการเป็นตัวเชื่อมระหว่างธนาคารและบริษัทฟินเทค และเสนอการชำระเงินแบบ BNPL โดยตรงกับผู้บริโภค รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ก็เริ่มเปิดให้บริการแบบ BNPL เอง ดังนั้นผู้ให้บริการธุรกิจ BNPL จะต้องนำเสนอเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย เน้นการตลาดที่โดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันและมีส่วนแบ่งเพิ่มในตลาด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ยังคงจับตามองการเติบโตของ BNPL อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะสร้างปัญหาในการชำระหนี้คืนและสร้างภาระหนี้สินแก่กลุ่มประชากรอายุน้อย ดังนั้น การออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทันกับการเติบโตของ BNPL จึงมีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ และการห้ามไม่ให้โฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะกับประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูง


1 https://www.marketing-interactive.com/shopline-atome-partnership


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง