สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนอันดับต้นของสตาร์ทอัพจากทั่วโลก เนื่องจากมีความพร้อมด้านระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และมีหน่วยงานเพื่อให้คำปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจและการระดมเงินทุนอย่างครบวงจร อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดายนัก สิงคโปร์ต้องขับเคลื่อนแผนการสนับสนุนระบบนิเวศเพื่อสตาร์ทอัพยาวนานหลายทศวรรษก่อนที่จะสามารถแสดงบทบาทนำในเรื่องดังกล่าวได้ดังเช่นทุกวันนี้

จุดเริ่มต้น

เมื่อปี 2542 (ค.ศ. 1999) ซึ่งเป็นยุคที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในสหรัฐฯ เฟื่องฟู ผู้คนเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และธุรกิจออนไลน์เริ่มขยายตัว รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชน (Venture Capital – VC) และจัดสรรงบประมาณอีกกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดตั้ง กองทุน Private Equity Fund อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ และมีการลงทุนในสิงคโปร์น้อยกว่า 2% ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่า นโยบาย VC และ Private Equity Fund เป็นความคิดที่เร็วเกินไป อีกทั้งยังพบปัญหา “ชาวสิงคโปร์ไม่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ” ซึ่งหมายถึงความกลัวของชาวสิงคโปร์ที่จะทําอะไรใหม่ ๆ เว้นแต่รัฐบาลวางแผนให้หรือต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน จึงเกิดคำเปรียบเปรยที่ว่า “No U-Turn Syndrome (NUTS)” ดังนั้น การพัฒนาคนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก

จุดเปลี่ยน: การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน

เมื่อปี 2544 (ค.ศ. 2001) รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้มุ่งเน้นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติผ่านสถาบันอุดมศึกษาโดยเริ่มจากโครงการ “NUS Overseas Colleges (NOC)” ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore – NUS) ได้ทยอยส่งนักศึกษาไปเรียนรู้งานที่ซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อสัมผัสประสบการณ์ตรงจากสถานที่จริง และจากโครงการนี้เอง จึงได้มีศิษย์เก่า NOC กลับมาริเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ซึ่งรวมแล้วมากกว่า 800 แห่งและบางส่วนก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Carousell และ ShopBack อีกทั้ง NUS ได้จัดตั้งโครงการ “BLOCK71” ที่ดัดแปลงอาคารห้องแถวธรรมดาให้กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับสตาร์ทอัพ โดยเสนอค่าเช่าสำนักงานราคาถูก มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศและรวบรวมชุมชนสตาร์ทอัพให้มารวม ณ จุดเดียวกัน ซึ่งที่ “BLOCK71” นี่เอง ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น ShopBack หรือ Travelmob เป็นต้น

BLOCK71 ภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2557
แหล่งที่มา: NUS ENTEPRISE

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การสร้างกลุ่มบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในลักษณะ “Incubator” หรือการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และ “Accelerator” หรือการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ช่วยเร่ง อัตราการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่มีอยู่แล้ว โดยในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้เร่งสร้างบุคลากรทั้ง 2 กลุ่ม อาทิ Mentors Investors และ Business Contacts Overseas ทั้งที่เป็นชาวสิงคโปร์และเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติเข้ามาร่วมโครงการด้วย ซึ่งพบว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง และสิงคโปร์จึงเริ่มบทบาทการเป็นแหล่งผลิตสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียงของภูมิภาคนับตั้งแต่นั้นมา

“การสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างให้ชาวต่างชาติ” สามารถดึงดูดความสนใจจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี อาทิ TradeGecko ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบการจัดการสินค้าคงคลังออนไลน์ และระบบจัดการคำสั่งซื้อ ที่มีแนวคิดริเริ่มในปี 2012 โดยชาวนิวซีแลนด์ 3 คน ตัดสินใจย้ายมาสิงคโปร์เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมด้าน การลงทุนที่ดีกว่าและเปิดกว้างต่อชาวต่างชาติ โดยได้เข้าร่วมโครงการ JFDI ซึ่งหนึ่งใน Accelerator ของสิงคโปร์ในขณะนั้น ผลจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวนำไปสู่การลงทุนของ VC และ TradeGecko สามารถดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จจวบจบปัจจุบัน ต่อมา สิงคโปร์ได้จัดตั้งโครงการ “Startup Ecosystem” เกิดขึ้นในปี 2551 (ค.ศ. 2008) โดยหน่วยงานภาครัฐของสิงคโปร์ National Research Foundation (NRF) ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อจัดตั้งกองทุน the Early Stage Venture Fund (ESVF) ให้กับผู้ริเริ่มลงทุนในสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ทั้งยังได้ก่อตั้ง Technology Incubation Scheme (TIS) หรือศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ที่จะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ โดยให้คำแนะนำและการเชื่อมโยงความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในสิงคโปร์

การขยายตัวในปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคต

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนในสตาร์ทอัพในสิงคโปร์จึงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อปี 2553 (ค.ศ. 2010) สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเพียง 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2563 (ค.ศ. 2020) เพิ่มมากถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นที่ตั้งของธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 3,800 แห่ง มี Accelerator และ Incubators อีกกว่า 190 โครงการ มีผู้ประกอบการจากหลากหลายประเทศ เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้ และมียูนิคอร์นแล้วจำนวน 9 แห่ง เช่น Lazada ผู้นำด้านธุรกิจ e-Commerce อาทิ Grab และ SEA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Garena Shopee และ AirPay เป็นต้น

เป้าหมายต่อไปของสิงคโปร์ คือ การเป็น “จุดศูนย์กลาง” การดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ และการแสดงบทบาทนำในด้านนวัตกรรมเพื่อสตาร์ทอัพในภูมิภาค โดยมุ่งออกแบบโครงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เน้นการเติบโตของธุรกิจบริการ 3 สาขา ได้แก่ บริการทางการเงิน บริการการขนส่ง และบริการจัดส่งอาหาร

อุปสรรคและโอกาสของการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพในสิงคโปร์

นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่า สิงคโปร์ยังคงประสบปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพครบวงจร คือ การขาดผู้ฝึกสอน (Coaching) โดยเฉพาะการฝึกสอนผู้ที่รับตำแหน่ง CEO เป็นครั้งแรก ทั้งเทคนิค การสื่อสารกับนักลงทุน การบริหารคนในองค์กร และการบริหารจัดการหากมีธุรกิจในเครือหลายแห่ง ดังนั้น สิงคโปร์จึงน่าจะให้ความสำคัญกับโครงการ CEO Coaching Programme ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์จะยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะหากเปรียบกับซิลิคอนวัลเลย์ซึ่งเติบโตมากกว่า 60 ปีแล้วนั้น วงการสตาร์ทอัพของสิงคโปร์เพิ่งริเริ่มมาได้เพียง 20 ปี โดยสิงคโปร์จะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนำสมัย ซึ่งเป็นกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต ทั้งนี้ หน่วยงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรทบทวน/วิเคราะห์ความเสี่ยงธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงบ่มเพาะนานเกินไปว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาวหรือไม่ รวมถึงความกังวลจากกรณี “SoftBank Effect” ที่ VC ต้องวิเคราะห์/พิจารณาข้อมูลของธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง ว่าธุรกิจใดสามารถทำกำไรได้จริงในระยะยาว หรือธุรกิจใดเพียงแค่ให้ผลกำไรในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง