การออกตรวจลงตรา/ใบอนุญาตทำงานเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของสิงคโปร์และสถานการณ์การจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสิงคโปร์

เมื่อเดือนมกราคม 2564 ผู้แทนคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board – EDB) ได้จัดตั้งโครงการใบอนุญาตประเภท Tech.Pass เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวน 500 ราย มาทำงานในสิงคโปร์ โดยมุ่งเป้าไปยังผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการก่อตั้งหรือบริหารธุรกิจเทคโนโลยี (Tech Company) รวมถึงผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ผู้สมัคร Tech.Pass ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1) ได้รับเงินเดือนอย่างน้อย 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือเทียบเท่า) เป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนการสมัคร 2) มีประสบการณ์ในบริษัทด้านเทคโนโลยี อย่างน้อย 5 ปี โดยต้องเคยทำงานในบริษัทที่ได้รับการประเมินมูลค่าหรือมูลค่าตามราคาตลาด (market capitalisation) อย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีเงินทุนสนับสนุนอย่างน้อย 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3) มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีอย่างน้อย 5 ปี โดยต้องเป็นเทคโนโลยีที่มีผู้ใช้งานอย่างน้อย 100,000 คนต่อเดือน หรือสร้างรายได้อย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ Tech.Pass มีอายุ 2 ปี และสามารถขอต่ออายุได้อีก 2 ปี โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้ถือ Tech.Pass ต้องมีรายได้อย่างน้อย 240,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วง 2 ปีแรกที่อยู่ในสิงคโปร์หรือมีการใช้จ่ายทางธุรกิจอย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี โดยผู้ถือ Tech.Pass สามารถให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารของธุรกิจใด ๆ ในสิงคโปร์

Tech.Pass เป็นโครงการต่อยอดของโครงการ Tech@SG ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือของ EDB กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ Enterprise Singapore (ESG) สำหรับธุรกิจในสิงคโปร์ ที่นำเสนอเทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการหลัก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ e-Commerce และ สื่อดิจิทัล ซึ่งระบุข้อกำหนดที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในการจ้างบุคลากรต่างชาติด้วยใบอนุญาตประเภท Employment Pass (EP) โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ 1) ผู้ถือใบอนุญาต EP ต้องได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ 2) ผู้สมัคร EP ต้องมีความอาวุโสในตำแหน่งงานระดับผู้จัดการเป็นอย่างน้อย

สถานการณ์แรงงานและความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสิงคโปร์

ภาคการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นภาคส่วนสำคัญในเศรษฐกิจสิงคโปร์ ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยรายงาน e-Conomy SEA 2020 ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมกันระหว่าง 3 บริษัท ได้แก่ Temasek Google และ Bain & Company ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Internet e-Conomy) และธุรกิจออนไลน์ คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 29.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ภายในปี 2568 นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่จำนวนมากที่สุดสำหรับธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ Lazada และ Sea (เจ้าของ Shopee)

เนื่องจากบริษัทด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนกันยายน 2563 มีตำแหน่งงานว่าง 890 ตำแหน่งสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เว็บไซต์ และมัลติมีเดีย และตำแหน่งนักวิเคราะห์ว่างอีก 700 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นประเภทงานที่มีตำแหน่งงานว่างมากที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสิงคโปร์ (ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2564)

นาย Ang Chin Tah รองประธานอาวุโสของหน่วยงานภาครัฐ Digital Industry Singapore (DISG) ซึ่งเป็นสำนักงานที่กำกับดูแลธุรกิจเทคโนโลยี โดยบูรณาการการทำงานหน่วยงานภาครัฐ 3 แห่ง ได้แก่ 1) EDB 2) ESG และ 3) Infocomm Media Development Authority (IMDA) ให้สัมภาษณ์ว่า ทักษะด้านดิจิทัล อาทิ การวิเคราะห์และข้อมูลภาคการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม Cybersecurity และวิศวกรรมซอฟแวร์ เป็นที่ต้องการในตลาดงานของสิงคโปร์ โดยยกตัวอย่าง บริษัท Shopee Lazada และ Amazon ที่ยังคงว่าจ้างบุคลากรอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งจัดโครงการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสำหรับชาวสิงคโปร์ ได้แก่

  • เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 นาย Forrest Li ประธานเจ้าหน้าบริหาร เป็นตัวแทนบริหาร Sea ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent – MOI) การจ้างพนักงานชาวสิงคโปร์จำนวน 500 คน รวมถึงการจัดโครงการฝึกอบรมด้าน การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ IMDA โดยมีนาย Lew Chuen Hong ประธานบริหารของ IMDA เป็นผู้ร่วมลงนาม ซึ่งการฝึกอบรมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TechSkills Accelerator (TeSA) ภายใต้ IMDA เพื่อยกระดับและส่งเสริมทักษะใหม่ที่ตอบสนองต่อภูมิทัศน์ดิจิทัลที่กำลังเติบโตแก่ชาวสิงคโปร์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้บริจาคเงินทุนจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์แก่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และการศึกษา
  • บริษัทให้บริการรถโดยสารและจัดส่งอาหาร Grab ได้ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา 7 แห่งทั่วโลก (จีน สหรัฐ อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยและพัฒนาของ Grab ในสิงคโปร์มีบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมากที่สุด และมีแผนจ้างพนักงานเพิ่ม 350 คน เพื่อรองรับการให้บริการทางการเงินออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาธุรกิจธนาคารดิจิทัล และสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทฯ ได้ลงนาม MOI กับหน่วยงานภาครัฐ IMDA และ DISG เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ผ่านโครงการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูง และการวิจัยและพัฒนา (โครงการร่วมกับ TeSA) โดยนาง Ong Chin Yin ประธานฝ่ายบุคคล (head of people) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ตลาดงานสิงคโปร์ยังมีช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทานสำหรับบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูง
  • เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 Facebook สิงคโปร์ร่วมกับ SGTech สมาคมการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสิงคโปร์ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ IMDA ESG และ DISG จัดตั้งโครงการยกระดับทักษะ “Upskill with Facebook Singapore” ตามแนวคิดชาติอัจฉริยะ (smart nation) โดยเปิดรับผู้เข้าร่วมจำนวน 2,700 ราย และ ธุรกิจ SMEs จำนวน 1,000 แห่ง โครงการฯ มี 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) Facebook Social Media Marketing Professional Certificate 2) Rise 3) Facebook Blueprint Higher Education และ 4) Boost

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อแตกต่างของใบอนุญาตประเภท Tech.Pass เทียบกับใบอนุญาตประเภทอื่นคือ ผู้สมัครไม่จำเป็น ต้องได้งานในสิงคโปร์ ก่อนการสมัคร เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดเรื่องการรับรองจากนายจ้าง โดยผู้ถือ Tech.Pass สามารถขอใบอนุญาตประเภท Dependant’s Pass (DP) หรือ Long-Term Visit Pass (LTVP) แก่คู่สมรส บุตร และบิดา/มารดา

นอกจากนี้ เมื่อปี 2561 – 2562 ประเทศต่าง ๆ ได้ดำเนินการมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงด้านเทคโนโลยี อาทิ 1) ฮ่องกง: Technology Talent Admission Scheme เพื่อดึงดูดผู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) 2) ฝรั่งเศส : วีซ่า French Tech Visa เพื่อคัดสรรผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ และ 3) ไทย: สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาทำงานและพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง