ผู้ประกอบการสตรีในสิงคโปร์และเอเชียแบ่งปันประสบการณ์การจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพและให้ข้อแนะนำในการแก้ไขอุปสรรคในช่วงการระดมทุน

ในโอกาสวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม 2566 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับผู้ประกอบการหญิงแกร่งในสิงคโปร์และเอเชียที่บุกเบิกธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ แม้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์ ภูมิภาคเอเชีย หรือแม้กระทั่ง Silicon Valley ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนของผู้ประกอบการชายสูงกว่าผู้ประกอบการหญิง ประเด็นช่องว่างระหว่างเพศ (gender gap) อคติทางเพศ (gender bias) กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงต้องใช้ความพยายามสูงกว่าผู้ชาย ทั้งการระดมเงินทุนและการดำเนินธุรกิจ

ผู้ประกอบการสตรีสามารถระดมทุนได้น้อยกว่าและได้รับการจัดสรรรายได้ให้น้อยกว่า            

จากข้อมูลของบริษัท DealStreetAsia (DSA) และ Pitchbook ระบุว่า ในปี 2564 อินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพแห่งที่สองในเอเชียรองจากจีน บริษัทสตาร์ทอัพที่มีแต่ผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้ง (Only female founders) ได้รับเงินทุน Venture Capital (VC) เพียง 0.3% และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราส่วนเพียง 0.6%

แหล่งที่มา: Nikkei Asia, DealStreetAsia

บริษัท DSA ทำการสำรวจบริษัทที่ระดมทุน VC จำนวน 380 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า 77% ไม่มีหุ้นส่วนที่เป็นผู้หญิงเลย จึงอาจส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยผู้หญิง เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะสนับสนุนผู้ที่มีลักษณะ ความคิด และการกระทำเช่นตน และอาจไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ผู้ประกอบการหญิงนำเสนอ โดยเฉพาะในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคสตรี นอกจากนี้ ผู้หญิงอาจมีเครือข่ายที่เอื้อประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจน้อยกว่า นาง Sarah Miyazawa ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ MM.LaFleur เครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิง มองว่าผู้ชายมักเจรจาธุรกิจในสนามกอล์ฟหรือคลับต่าง ๆ แต่ผู้หญิงอาจยังขาดแพลตฟอร์มที่เทียบเท่า ทั้งนี้ จากข้อมูลของ LinkedIn ผู้หญิงในสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง VC ของภูมิภาคมีโอกาสสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งน้อยกว่าผู้ชายถึง 38%          

ปัจจัยทางเพศที่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของผู้ประกอบการหญิง ทำให้ต้องหาทางออกโดยการจ้างผู้ชายมาเป็นผู้บริหารในบริษัท นาง Bhavna Suresh ผู้ก่อตั้ง 10club e-commerce marketplace ในอินเดีย ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่สามารถระดมทุนและหนี้สินได้ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “ผู้หวังดี” แนะนำให้เธอจ้างผู้ชายมาเป็นผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากบริษัทคู่แข่งที่ดำเนินการโดยผู้ชายล้วน ๆ สามารถระดมทุนในรอบถัดไปด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ รายงานปี 2562 ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) ระบุว่า 31% การระดมทุนครั้งแรกของบริษัทที่มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เป็นผู้หญิงจะเปลี่ยนตัวเป็น CEO ผู้ชายเพื่อช่วยในการระดมทุนครั้งต่อไป

ข้อแนะนำสำหรับสตรีที่เป็นผู้ประกอบการและผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์อัพ

นาย Joo Hock Chua หุ้นส่วนบริษัท Vertex Ventures หนึ่งในบริษัท VC ที่มีความเคลื่อนไหวที่สุดในภูมิภาค แบ่งปันคำแนะนำที่ผู้ประกอบการและผู้บุกเบิกธุรกิจที่เป็นผู้หญิงสามารถใช้เพื่อพัฒนาและปิดช่องว่างระหว่างเพศ ดังนี้

1. ขอเงินทุนในจำนวนที่เพียงพอ บางครั้งผู้หญิงอาจอนุรักษ์นิยมและลังเลที่จะผลักดันขอบเขตจำนวนเงินลงทุน ในขณะที่ผู้ชายมักจะมีความรั้น มั่นใจ และกล้าที่จะขอมากกว่า ดังนั้น  ผู้ประกอบการหญิงควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้และกล้าที่จะพูดถึงจำนวนเงินทุนที่ต้องการอย่างแท้จริง

 2. นำเสนอแผนธุรกิจและเลือกใช้คำตอบอย่างเหมาะสม นักลงทุนจะตั้งคำถามที่แตกต่างระหว่างเพศ ผู้หญิงมักจะถูกตั้งคำถามที่เป็น “การป้องกัน” (prevention) มากกว่า “การส่งเสริม” (promotion) เมื่อเทียบกับผู้ชาย คำถาม “การป้องกัน” จะเน้นไปที่การป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นหรือระยะเวลาที่จะคุ้มทุน ในขณะที่คำถาม “การส่งเสริม” มักจะเป็นคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการของธุรกิจในเชิงบวกและแผนการสร้างรายได้จากธุรกิจ อคติทางเพศในการตั้งคำถามดังกล่าวส่งผลต่อจำนวนเงินทุนที่ให้กับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการที่ได้คำถามส่งเสริมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะได้รับเงินทุนมากกว่าถึงสองเท่า ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการตอบคำถาม “การป้องกัน” ด้วยคำตอบเชิง “ส่งเสริม” อาจสามารถระดมทุนได้มากขึ้น เพราะเป็นคำตอบที่นักลงทุนต้องการแสดงความคิดเห็นได้มากกว่า และหากผู้หญิงสามารถฝึกเสนอคำตอบในเชิงสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ก็จะมีโอกาสได้รับการลงทุนที่สูงขึ้น

 3. นำเสนอแผนธุรกิจให้กับนักลงทุนหญิงในทีมนักลงทุน ผู้หญิงและผู้ชายมีการสื่อสารที่แตกต่างกันอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ผู้ก่อตั้งสตรีต้องเผชิญ คือการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวนักลงทุนชาย ดังนั้น การที่ทีมนักลงทุนมีความหลากหลายทางเพศ จะช่วยลดอคติและจุดบอดเหล่านี้ได้ การมีผู้หญิงอยู่ฝั่งนักลงทุนจะช่วยให้มีความคิดเห็นและหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับนักลงทุนชาย 

แหล่งที่มา: Nikkei Asia, DealStreetAsia, Pitchbook

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

World Economic Forum เผยแพร่รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างชายและหญิง Global Gender Gap Report ค.ศ. 2022 ว่า จากการประเมินโดยเปรียบเทียบความเท่าเทียมทางเพศชาย – หญิงใน 145 ประเทศ คะแนนความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 67.9% เป็น 68.1% แต่คาดว่าต้องใช้เวลาอีกถึง 132 ปีจึงจะสามารถปิดช่องว่างระหว่างเพศชายและหญิงทั่วโลกได้

จากสถิติของสมาคม VC ในประเทศไทย พบว่า ในปี 2559 ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เป็นหญิงมีเพียง 6.7% เท่านั้น ทั้งนี้ ในภาวะที่ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อหรือทัศนคติของนักลงทุนผู้ชายได้ สิ่งที่สตาร์ทอัพของไทยสามารถร่วมมือกันได้คือ 1) การเพิ่มปริมาณนักลงทุนผู้หญิง 2) การเพิ่มโปรแกรมสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง 3) การสร้างต้นแบบ (role model) ผู้ประกอบการและนักลงทุนหญิง 4) การยอมรับความหลากหลายทางเพศ (diversity) ซึ่งรวมถึง LGBTQ+ โดยเน้นที่ความสามารถแทนเพศสภาพ และ 5) การเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงบนเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นทางธุรกิจ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง