พฤติกรรมการใช้จ่ายกับทักษะการออมเงินที่สูงขึ้นของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่

พฤติกรรมการใช้เงินของกลุ่มคนอายุน้อยหรือคนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ (young Singaporeans) มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ชอบใช้จ่ายแบบตามอำเภอใจ เสพติดความสะดวกสบาย และมีไลฟ์สไตล์ที่หรูหราฟุ่มเฟือย เช่น การใช้แกร็บ (Grab) แทนขนส่งมวลชน และการนิยมดื่มกาแฟแก้วละแพง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นข้อเท็จจริง ที่คนรุ่นใหม่เองคงปฏิเสธได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์จำนวนมากไม่ได้ละเลยการออมเงินและการลงทุน แต่กลับมีแนวโน้มที่จะเริ่มสะสมความมั่งคั่งตั้งแต่อายุยังน้อยด้วย

พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่

จากรายงานของธนาคาร DBS เกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อสุขภาวะทางการเงินของผู้คนในสิงคโปร์ พบว่า รายจ่ายต่อเดือนของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 1 ปี (ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2564 – 2565) แต่รวดเร็วพอ ๆ กับการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยรายจ่ายของกลุ่มคนวัย Millennials (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2524 – 2539) สูงขึ้นเกือบ 30% ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการได้รับอิสรภาพในการจับจ่ายหลังรัฐบาลสิงคโปร์ผ่อนคลายกฎระเบียบในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย

สื่อท้องถิ่น The Business Times ได้สำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่จำนวน 72 คน พบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้จ่ายไปกับ “สิ่งของที่ไม่จำเป็น” (non-essential) คิดเป็นมากกว่า 20% ของรายได้ต่อเดือน และ 46% ของกลุ่มตัวอย่าง จ่ายเงินซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นมากกว่า 30% ของรายได้ต่อเดือน เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ความงามและบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์เพิ่มความหอมให้กับบ้าน การเข้าร้านอาหารหรือร้านกาแฟราคาสูง และการสนใจกิจกรรมยามว่างที่ให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ แม้ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เช่น คลาสปั้นดินเผา หรือฟิตเนส ตลอดจนบัตรชมคอนเสิร์ต การแสดงดนตรี หรือพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ เกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่างยังชอบซื้อหาความสะดวกสบายต่าง ๆ เช่น บริการส่งอาหารถึงบ้าน บริการทำความสะอาดบ้าน และบริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (ride-hailing) โดยถือเป็นหนึ่งในการลงทุนเพื่อปรนนิบัติตัวเองให้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยสามารถสร้างความพอใจแก่ผู้ซื้อในทันที

สัดส่วนการออมเงินต่อรายได้ต่อเดือนจากกการสำรวจพฤติกรรมของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่ของสื่อท้องถิ่น The Business Times
สัดส่วนการใช้จ่ายกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อรายได้ต่อเดือนจากกการสำรวจพฤติกรรมของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่ของสื่อท้องถิ่น The Business Times
แหล่งที่มา: The Business Times (https://www.businesstimes.com.sg/opinion-features/features/are-young-singaporeans-spending-too-much)

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องว่า ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้สำคัญกับการดำเนินชีวิตมากและไม่เต็มใจหากต้องลดรายจ่ายส่วนนี้ลง แม้เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาลงและค่าครองชีพสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัท Endowus ที่พบว่า คนสิงคโปร์รุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะพยายามหาเงินให้ได้มากขึ้น แทนที่จะตัดค่าใช้จ่ายในหมวดนี้ออกไป เช่น การทำงานเสริมหรือการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งต่างจากกลุ่มคน Gen X  (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2508 – 2523) และกลุ่ม Baby Boomers (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2489 – 2508) ที่เลือกใช้วิธีลดรายจ่ายหากค่าครองชีพสูงขึ้น แทนที่จะดิ้นรนเพื่อหารายได้เพิ่ม

คนสิงคโปร์รุ่นใหม่กับทักษะการบริหารการเงิน (Financial Literacy)

แม้คนรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมการใช้เงินต่างจากคนรุ่นก่อน แต่หากพิจารณาข้อมูลด้านทักษะทางการเงินจะพบว่า คนสิงคโปร์รุ่นใหม่กระตือรือร้นเรื่องการออมเงินและการสะสมความมั่งคั่งเพื่ออนาคตด้วย จากรายงานของธนาคาร DBS พบว่า จากลูกค้าของธนาคารที่ใช้บริการแพลตฟอร์มวางแผนการเงิน Nav Planner ทั้งหมด 3 ล้านคน ลูกค้ากว่า 40% หรือประมาณ 1.2 ล้านคนเป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ซึ่งสอดคล้องกับรายงานด้านความมั่งคั่งทางการเงินของธนาคาร OCBC ที่ระบุว่า คนสิงคโปร์อายุน้อยออมเงินในสัดส่วนที่สูงกว่า โดย (1) ผู้มีอายุระหว่าง 20 – 29 ปี ออมเงิน 33% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 35% ในปี 2565 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของชาติที่ 30% (2) ผู้มีอายุระหว่าง 30 – 39 ปี ออมเงิน 31% ของเงินเดือนในปี 2565 เพิ่มจาก 27% ในปี 2564 และ (3) คนอายุระหว่าง 40 – 60 ปี ออมเงินประมาณ 28% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2565  

นอกจากนี้ ค่ากลางของรายได้ต่อเดือนของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่ก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในปี 2565 กลุ่มคนอายุ 20 – 24 ปี และอายุ 25 – 29 ปี มีรายได้ 2,925 และ 4,446 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือนตามลำดับ เพิ่มขึ้นประมาณ 8.7% จากปีก่อนหน้า และกลุ่มคนอายุ 30 – 34 ปี  มีรายได้ 5,792 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือนเพิ่มขึ้น 10.9% ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการออมเงินไว้ใช้อย่างเพียงพอในยามเกษียณ จึงทำให้แนวโน้มคนสิงคโปร์รุ่นใหม่มีแนวโน้มจะออมเงินและลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นไปอีก โดยจำนวนการเปิดบัญชีเพื่อการเกษียณ (Supplementary Retirement Scheme: SRS) เพิ่มเป็น 3 เท่าในปี 2565 และในครึ่งหลังของปี 2566 การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์และตราสารหนี้ของรัฐบาลสูงเป็น 7 เท่าของช่วงครึ่งปีแรก จำนวนคนรุ่นใหม่ที่ฝากเงินแบบประจำกับธนาคาร UOB ในปี 2565 ก็สูงขึ้นถึง 160% จากช่วงเดียวกันของปี 2564

ค่าเฉลี่ยการออมเงินของคนสิงคโปร์ตามช่วงอายุเทียบกับค่าเฉลี่ยการออมเงินของชาติ
แหล่งที่มา: The Business Times (https://www.businesstimes.com.sg/opinion-features/features/are-young-singaporeans-spending-too-much)

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและค่านิยมของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่ไม่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ในประเทศอื่น ๆ ทำให้แนวโน้มการทำธุรกิจทั้งด้านสินค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม non-essential อาจไม่จำเป็นต้องมีราคาถูกเสมอไป แต่ต้องเน้นการโดนใจคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะจ่ายเพื่อความสะดวกสบายและไลฟ์สไตล์ที่พึงพอใจ ที่สำคัญ ผู้ประกอบการควรก้าวทันการตลาดยุคใหม่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ชอบประสบการณ์ใหม่ ๆ การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา และการใช้เทคโนโลยีในการขายที่ทันสมัยและเข้าถึงง่าย เช่น การใช้แชทบอท การออนไลน์ขายสด และการใช้ภาพเสมือนจริง AR  รวมถึงการรีวิวสินค้าจากอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใส่ใจในหลักการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance – ESG) และผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนที่คนรุ่นใหม่สนใจอย่างมาก

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์อาจแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค คือ การให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินและการลงทุน ดังนั้น ธุรกิจด้านการบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในสิงคโปร์มากจากที่เติบโตได้ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการบริหารความมั่งคั่ง (ด้านความสามารถในการแข่งขัน) อันดับที่ 2 ของโลกรองจากสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่าสินทรัพย์รวมมากกว่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 25641 การให้บริการ wealth management ของสิงคโปร์ในปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การให้บริการผ่านเว็บไซต์ การใช้ AI และการให้บริการปรึกษาทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Robo-Advisory) จะช่วยให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งมีความแม่นยำ ช่วยลดต้นทุนการจ้างบุคลากรและลดความเสี่ยงที่จะวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลผิดพลาด


1 https://www.mas.gov.sg/development/wealth-management


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง