ธนาคารในสิงคโปร์เร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI มุ่งสู่สุดยอดบริการทางการเงิน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา การนำ AI มาใช้ในบริการธนาคารในสิงคโปร์เริ่มความคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ ครอบคลุมตั้งแต่แชทบอท การทำงานแบบอัตโนมัติ จนถึงการป้องกันการฉ้อโกงการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนการคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และยกระดับการให้บริการลูกค้า กลยุทธ์ด้าน AI ของ DBS OCBC และ UOB ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ในสิงคโปร์ยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้าน AI ในสาขาการเงินการธนาคารของรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของธนาคารสิงคโปร์กับการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อการให้บริการ

เริ่มกันที่ธนาคาร DBS ได้พัฒนาระบบผลักดัน “Nudges” ให้กับการส่งข้อความหาลูกค้าของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น Nudges เป็นโปรแกรมที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสินทรัพย์ และประวัติการทำธุรกรรมของลูกค้า ให้สามารถวิเคราะห์และประมวลผลได้ลึกถึงข้อมูลระดับรายบุคคล Nudges เหล่านี้ไม่เพียงช่วยปรับรูปแบบการเขียนข้อความให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล แต่ยังช่วยเลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะส่งถึงลูกค้าแต่ละรายด้วย

ระบบผลักดัน “Nudges” ของธนาคารส่งข้อความหาลูกค้า
แหล่งที่มา: DBS Website (https://www.dbs.com/dbsdigibanking/index.html?pid=sg-group-pweb-home-heroblock-tidd)

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบบ Nudges ของธนาคาร DBS ได้ส่งข้อความแจ้งเตือนสมาชิกถึงภาวะตลาดหุ้น Wall Street ที่ปรับตัวลง 8 สัปดาห์ติดต่อกัน ช่วยให้สมาชิกสามารถเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างทันท่วงที นอกจากคำแนะนำเรื่องการลงทุนแล้ว  Nudges ยังสามารถแจ้งเตือนเรื่องอื่น ๆ อาทิ ใบแจ้งหนี้ การแนะนำบัตรเครดิต และความผิดปกติของบัญชี รวมถึงการส่ง Nudges ให้กับลูกค้าในต่างประเทศ ธนาคาร DBS ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big-Data) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปลูกฝังพนักงานทุกคนให้มีกรอบความคิดของความเป็นนักธุรกิจ Start-Up ขณะนี้ธนาคารมีทีมงานด้านไอทีมากถึง 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

ทางด้านธนาคาร OCBC กำลังพัฒนาและใช้แพลตฟอร์ม “Next Best Conversation” เพื่อจัดการกับข้อมูลปริมาณมากของธนาคารเพื่อปรับปรุงปฏิสัมพันธ์และการบริการระหว่างธนาคารและลูกค้า แพลตฟอร์มจะประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแต่ละคนอย่างละเอียดครอบคลุมทุกช่องทางเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและตรงกับลูกค้าแต่ละรายมากที่สุด แพลตฟอร์มยังช่วยให้คำแนะนำลูกค้าแบบเรียลไทม์ทันที และจะปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเสมอ ล่าสุด ธนาคาร OCBC ประกาศแผนรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีจำนวนมากถึง 1,500 ตำแหน่ง อย่างต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเน้นตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยี AI, การป้องกันภัยทางไซเบอร์ (cyber security), วิทยาการข้อมูล (data science) และการพัฒนาระบบและแอปพลิเคชัน ในปี 2565 ธนาคาร OCBC มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (e-learning)  ด้านเทคโนโลยีมากถึง 8,000 กว่าหลักสูตร เพื่อพัฒนาบุคลากรของธนาคาร

แพลตฟอร์ม “Next Best Conversation” ของธนาคาร OCBC
แหล่งที่มา: OCBC Website (https://www.ocbc.com/group/careers/blog/the-next-best-conversation.html)

ส่วนธนาคาร UOB ตั้งเป้าหมายจะขยายฐานกลุ่มลูกค้ารายย่อย (retail customers) ให้ได้มากกว่า 7 ล้านคนทั่วอาเซียนภายในปี 2570 และเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารได้เปิดตัว UOB TMRW แอปพลิเคชันบนมือถือที่พัฒนามาจากแอปพลิเคชัน UOB Mighty ด้วยการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ในการจัดประเภทการวิเคราะห์จำนวนธุรกรรมและข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าจำนวนมากแบบเรียลไทม์ ทำให้ TMRW สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าและแนะนำการจัดการเรื่องเงินที่ตอบโจทย์กับการใช้งานมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีบริการการแจ้งเตือนการชำระเงินล่วงหน้า ในด้านการศึกษาไลฟ์สไตล์ทางการเงินของลูกค้า แอปพลิเคชัน TMRW ช่วยวิเคราะห์และจัดการบัญชี และให้คำแนะนำเรื่องการเก็บเงินได้

แอปพลิเคชันบนมือถือ UOB TMRW
แหล่งที่มา: UOB Website (https://www.uob.com.sg/personal/digital-banking/index.page)

เห็นได้ว่าธนาคารในสิงคโปร์กำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI กันอย่างเข้มข้น และเน้นไปทางด้านการให้คำแนะนำเรื่องการเงินกับลูกค้าแบบการเข้าถึงเป็นรายบุคคล ด้วยการศึกษา วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเชิงลึกยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นการทำการตลาดแบบรู้ใจขั้นสุด (Hyper-Personalization) เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เทคโนโลยี AI จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่กลุ่มสถาบันการเงินต้องการพัฒนาในลำดับต้น ๆ ในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยบริษัท NVIDIA1 พบว่าสถาบันการเงินชั้นนำมากกว่า 500 แห่งทั่วโลกได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในด้านต่าง ๆ และพบว่า AI มีส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้แก่สถาบันการเงิน ธนาคาร DBS รายงานว่า การพัฒนาระบบธนาคารดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของธนาคารทำให้ธนาคารมีผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้น และเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มมากขึ้นจาก 4,900 เป็น 6,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2564 ทั้งยังเป็นช่องทางใหม่ในการเพิ่มรายได้ให้กับธนาคารด้วยการทำการตลาดให้กับระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ให้กับสถาบันการเงินต่างๆในต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย การแข่งขันบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาก็คึกคักเช่นกัน เช่น ธนาคารไทยพานิชย์ มี Robo Advisor ที่ให้บริการออกแบบและบริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติ และการบริการของ Card X2 เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายและเป็นธรรมมากขึ้น ในฝั่งของธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน K PLUS ใหม่ ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” โดยมีเทคโนโลยี AI เป็นระบบหลังบ้าน และพัฒนาแพลตฟอร์ม InsurTech3 ด้วยระบบ AI ในธุรกิจประกันภัย ขณะที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นำ AI มาใช้ศึกษาข้อมูลในระบบบัตรเครดิตที่มีจำนวนมาก เพื่อจับคู่กับการเสนอขายสินค้าและบริการให้ได้อย่างตรงใจลูกค้า จัดตั้ง “กรุงศรี ฟินโนเวต” เพื่อเชื่อมต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับธุรกิจของธนาคาร ทั้งนี้ ไทยมีตลาดลูกค้าภายในประเทศที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ ซึ่งคนไทยยังคงต้องการทางเลือกบริการธนาคารที่หลากหลาย การลงทุนในเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มรายได้และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวงการธนาคารของประเทศไทยอีกด้วย


1บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักของบริษัทคือ “หน่วยประมวลผลทางด้านกราฟิก” สำหรับคอมพิวเตอร์

2เป็นบริษัทที่ธนาคารไทยพานิชย์จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและสินเชื่อ

3ร่วมมือกับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง