เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 นาย Lim Kok Thai ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Singapore Food Agency (SFA) และนาย Hikonobu Ise ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และเจ้าของบริษัท ISE Foods Inc. (ISE) และหุ้นส่วนรายใหญ่ของบริษัท ISE Foods Holdings Pte Ltd (IFH)1 ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) แบบเสมือนจริง (Virtual Zoom) ในการสร้างฟาร์มไข่ไก่แห่งที่ 4 ของสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (2,455 ล้านบาท2) โดยในพิธีการลงนาม MOU ดังกล่าวมีรัฐมนตรีกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ (นางสาว Grace Fu) ผู้อำนวยการบริษัท IFH (นาย Chandra Das) และเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของญี่ปุ่น3ประจำสิงคโปร์ (นาย Jun Yamazaki) เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

แผนการลงทุนของ IFH กว่า 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อสร้างฟาร์มไข่ไก่แห่งที่ 4 ของสิงคโปร์ จะเป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจสอบสุขภาพไก่จากระยะไกล การควบคุมสภาพอากาศขั้นสูง และการจัดการกลิ่นและของเสีย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก บนพื้นที่ 13 เฮกตาร์ หรือ 81.25 ไร่4 โดย SFA จะให้ IFH เช่าพื้นที่ดังกล่าวในราคาตลาดเป็นระยะเวลา 30 ปี


การก่อสร้างฟาร์มจะเริ่มต้นในปี 2565 และมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2567 ถึง 2569 ทั้งนี้ เมื่อฟาร์มสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ศักยภาพการผลิตต่อปีจะอยู่ที่ไข่จำนวน 360 ล้านฟอง และลูกไก่จำนวน 5 ล้านตัว ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพของฟาร์มไข่ทั้ง 4 ฟาร์มของสิงคโปร์สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคไข่ในสิงคโปร์ได้ 50% ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ผลิตได้เพียงประมาณ 28% ซึ่งศักยภาพการผลิตดังกล่าวจะกลายเป็นปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในด้านความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมไข่ในสิงคโปร์ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารโดยรวมของสิงคโปร์แบบยั่งยืน รวมถึงจะยังเป็นการสร้างงานให้แก่แรงงานสิงคโปร์อีกด้วย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SFA (นาย Lim) กล่าวว่า สิงคโปร์ยินดีที่ได้ร่วมมือกับ ISE เนื่องจากช่วยให้สิงคโปร์เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตอาหาร และการก้าวไปสู่เป้าหมาย 30 x 30 ของสิงคโปร์ การลงทุนด้านต่างๆ ของ ISE เช่น ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เทคโนโลยีการทำฟาร์มขั้นสูง และการวิจัยและพัฒนา จะเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพขั้นสูงในอนาคต และความรู้แบบ Know-how จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง ตลอดจนเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านอาหารโดยรวมของสิงคโปร์อีกด้วย

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และเจ้าของบริษัท ISE และหุ้นส่วนรายใหญ่ของบริษัท ISE (นาย Hikonobu Ise) กล่าวว่า ความร่วมมือกับสิงคโปร์ครั้งนี้มีความสำคัญต่อ ISE เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการแรกในต่างประเทศของ ISE และยังเป็นโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางการผลิตทางการเกษตรของสิงคโปร์ และ ISE ต้องการให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างฟาร์มแบบยั่งยืนแห่งอนาคต ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถไปพัฒนาต่อในประเทศอื่นได้

ความคิดเห็นของ สคต.

สิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศกว่า 90% ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีการจัดทำกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารมาเป็นระยะเวลานาน เช่น นโยบายกระจายความเสี่ยงของแหล่งอาหาร ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์นำเข้าอาหารจากกว่า 170 ประเทศ และนโยบายการผลิตอาหารภายในประเทศให้ได้ 30% ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 (30×30 Policy) ทั้งนี้ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับนโยบาย 30×30 มากยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศนโยบาย 30×30 Express เพิ่มเติม เพื่อเร่งให้บรรลุผลเร็วขึ้น ส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหาร รวมถึงการทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตมากขึ้นในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดของสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้พยายามส่งเสริมให้ประชากรสิงคโปร์หันมาบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเทรนด์ความนิยมการบริโภคสินค้าอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น (Local Produce) ซึ่งรวมถึงร้านอาหารในสิงคโปร์ที่นิยมใช้วัตถุดิบที่ผลิตในสิงคโปร์มากขึ้น

การลงทุนสร้างฟาร์มไข่ไก่ในสิงคโปร์ของบริษัท ISE Foods Holdings Pte Ltd (IFH) จะเป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาหาร และศักยภาพการผลิตอาหารของสิงคโปร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์ก้าวไปสู่อีกขั้นของความสำเร็จของนโยบาย 30×30 อย่างไรก็ตาม อาหารที่สิงคโปร์ผลิตได้นั้นยังคงเป็นจำพวกสินค้าผัก ไข่ไก่ และปลา แต่ไม่สามารถปลูกผลไม้ได้ ส่งผลให้อาหารที่ผลิตในประเทศนั้นยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ทำให้สิงคโปร์ยังคงต้องนำเข้าสินค้าอาหารรวมถึงผลไม้จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ด้วยเทรนด์การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์5 (Carbon Footprint) ทำให้ร้านอาหารในสิงคโปร์หันมาใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศและมองหาแหล่งผลิตอาหารจากประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ดังนั้น โอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดสินค้าอาหารและผลไม้ในสิงคโปร์ยังคงมีอีกมาก แต่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจควรศึกษากฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารและผลไม้ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ที่นิยมบริโภคสินค้าคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถปลูก/ผลิตสินค้าอาหารได้ตามมาตรฐานของตลาดสิงคโปร์ได้


1 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ISE Foods Holdings Pte Ltd (IFH) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ เพื่อดำเนินการฟาร์มสัตว์ปีกแห่งที่สี่ของสิงคโปร์ โดยมี นาย Hikonobu Ise ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และเจ้าของบริษัท ISE Foods Inc. (ISE) เป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ของ IFH
2 อัตราแลกเปลี่ยน 1 SGD เท่ากับ 24.55 บาท
3 Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary แปลว่า เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม – ที่มา: กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
4 13 เฮกตาร์ = 81.25 ไร่ (ไทย) – ที่มา: Addnine
5 คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง