แนวโน้มธุรกิจสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์ช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง (Pet Industry) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนอกจากธุรกิจการเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงแล้ว ยังรวมถึงธุรกิจการดูแลสัตว์เลี้ยงอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์ และอุตสาหกรรมการรักษาสัตว์ทางไกล ทั้งนี้ ในก่อนโควิด-19 การดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เมื่อนานาประเทศเผชิญกับภาวะระบาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตและทำงานที่บ้านมากขึ้น การเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศลดลง ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตเร็วขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 บริษัทวิจัย Future Market Insights คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 – 2574 ภาคธุรกิจสัตว์เลี้ยงจะมีอัตราการเติบโตถึง 6% ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงปี 2559 – 2563 ที่เติบโต 4.2% ต่อปี

ธุรกิจสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์

แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศเล็ก แต่จำนวนประชากรสิงคโปร์ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แฮมสเตอร์ หนูตะเภา และกระต่าย เมื่อปี 2562 สิงคโปร์มีสัตว์เลี้ยงประมาณ 288,900 ตัว ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559–2563 จำนวนสุนัขเพิ่มขึ้น 1.9% และแมวเพิ่มขึ้น 7.3% เนื่องจากแมวต้องการพื้นที่น้อยซึ่งตอบโจทย์กับขนาดที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์

ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์ก็เติบโตขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากงานมหกรรมสัตว์เลี้ยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Pet Fair South East Asia) ระบุว่า เมื่อปี 2559 สิงคโปร์มีขนาดตลาดค้าปลีกผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยงคิดเป็นมูลค่า 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และต่อมาเมื่อปี 2563 เติบโตเป็น 91.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าภายใน ปี 2568 มูลค่าของธุรกิจฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 111.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อาหารสัตว์เลี้ยงเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวในสิงคโปร์

นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการดูแลสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์  

มาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการในสิงคโปร์นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจการดูแลสัตว์เลี้ยง ดังนี้          

1) บริการด้านสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง (Pet Healthcare) ในสิงคโปร์ Ms. Athena Lee อดีต CEO ของบริษัทสตาร์ทอัพด้านการแพทย์ทางไกล ได้ต่อยอดบริการทางแพทย์ทางการของมนุษย์มาสู่บริการสำหรับสัตว์ โดยเล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญในระบบนิเวศของการดูแลสัตว์เลี้ยง คือ การขาดแคลนการให้คำปรึกษาออนไลน์ต่อเจ้าของสัตว์ เพราะธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงจะกลัวการไปพบสัตวแพทย์ Ms. Lee จึงได้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ZumVet เมื่อปี 2562 เพื่อเป็นช่องทางออนไลน์ให้คำปรึกษาสุขภาพสัตว์เลี้ยง ในช่วงโควิด-19 จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 8 เท่าในระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ Ms Lee ยังมองว่า การแพทย์ทางไกลสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโซลูชันการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบองค์รวมเท่านั้น โดยยังมีโอกาสพัฒนาไปสู่บริการอื่นๆ ของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง เช่น การให้ข้อมูลอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงเฉพาะตัวแบบเรียลไทม์ ควบคู่ไปกับการตรวจเป็นระยะโดยสัตวแพทย์เพื่อปรับโภชนาการของสัตว์เลี้ยง

2) ช่องทางการหาพี่เลี้ยงสัตว์ออนไลน์ Pet Sitting Platform นอกจากการดูแลสุขภาพแล้ว สัตว์เลี้ยงยังต้องการการดูแลทั่วไปอื่น ๆ ในภาวะโควิด-19 โดยเฉพาะในเวลาที่เจ้าของไม่สะดวก ซึ่งในสิงคโปร์มีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่จัดทำแอปพลิเคชันเชื่อมโยงเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับผู้ให้บริการ เช่น PetBacker แอปพลิเคชันสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับพี่เลี้ยงของสัตว์เลี้ยง คนรับพาสุนัขไปเดินเล่น รถโดยสารที่รับสัตว์เลี้ยง และช่างตัดขน หรือ Pawshake แอปพลิเคชันจับคู่เจ้าของสัตว์เลี้ยงกับบริการต่าง ๆ  เช่น การพาสุนัขไปเดินออกกำลังกายและการพาสุนัขโดยสารเครื่องบิน

3) E-commerce ร้าน Pet Lovers Centre ร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงแบบดั้งเดิมที่มี 70 สาขา ทั่วสิงคโปร์ต้องปิดให้บริการหน้าร้านชั่วคราวในช่วง circuit breaker (ช่วงล็อกดาวน์ของสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563) แต่ยังสามารถสร้างยอดขายผ่านช่องทางร้านค้าออนไลน์ที่บริษัทลงทุนไว้ตั้งแต่ปี 2546 โดยคำสั่งซื้อออนไลน์รายวันเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่าในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทสตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซหลายแห่งที่เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน เช่น แพลตฟอร์ม Pawrus ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่นอกจากจะจำหน่ายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ยังให้ความรู้ด้านการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมด้วย

รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อการดูแลสัตว์เลี้ยงในสิงคโปร์       

จากปัจจัยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงยินดีใช้จ่ายมากขึ้นในสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น (Super-aged Society) ของสิงคโปร์ภายในปี 2573 วิสาหกิจและผู้ประกอบการต่าง ๆ จึงมองเห็นช่องทางธุรกิจและนำเสนอทางเลือกใหม่ในตลาด ดังนี้

 (1) กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนั้นครอบคลุมไปยังอาหารสัตว์เพื่อความยั่งยืน เจ้าของสัตว์เลี้ยงกำลังพิจารณาโปรตีนจากแมลงเพื่อเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น บริษัท Pet Chow สิงคโปร์ รวมถึงสตาร์ทอัพจากยุโรป ต่างพร้อมที่จะเปิดตัวอาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงในเอเชีย เช่น โปรตีนจากหนอนแมลงวันลาย

(2) ความรักสัตว์เลี้ยงเสมือนบุคคลในครอบครัว และมาตรการจำกัดการเดินทางที่ส่งผลต่อทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง ทำให้เกิดธุรกิจสปาสัตว์เลี้ยง (Pet Spa-cation) ในสิงคโปร์ เช่น ระหว่างเดือนมิถุนายน 2564 – กรกฎาคม 2565 โรงแรม Capella ได้จัดโปรแกรมการเข้าพักสำหรับเจ้าของและสัตว์เลี้ยงที่รวมถึงการให้บริการสปาและอาหารต่อสัตว์เลี้ยง โดยราคาแพ็คเกจต่อ 1 คืนเริ่มต้นที่ 1,450 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 34,800 บาท)

แหล่งที่มา: Capella Hotel Singapore

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ             

ตามรายงานของบริษัทวิจัย Rakuten Insight ระบุว่าในปี 2564 ประชากรในเอเชียมากกว่า 59% มีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน โดยฟิลิปปินส์มีอัตราการเป็นเจ้าของสุนัขสูงสุดที่ 67% รองลงมาคือจีนที่ 53% และประเทศไทยที่ 47%

อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยนั้นถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ทั้งอีคอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่น สตาร์ทอัพ PetInsure ที่นำเสนอแพ็คเกจประกันสัตว์เลี้ยงซึ่งครอบคลุมค่า สัตวแพทย์ทั้งหมด การฉีดวัคซีน การรักษาการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ และกรณีการเสียชีวิต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจสัตว์เลี้ยงสามารถพัฒนาธุรกิจของตนโดยการปรับใช้แนวคิดดังกล่าวจากสิงคโปร์ เช่น การนำนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ พยายามปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้หลากหลายและมีเอกลักษณ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้าในยุคนี้ รวมทั้งการขยายตลาดมาสู่สิงคโปร์ เอเชีย และระดับโลกได้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง