จับตาธุรกิจฟิตเนสและการออกกำลังกายในสิงคโปร์ช่วงหลังโควิด-19 ขยายตัวต่อเนื่อง

ด้วยมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบอย่างหนัก หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจศูนย์กีฬาและการออกกำลังกาย เช่น ฟิตเนส และคลาสกีฬาต่าง ๆ ที่หยุดชะงักลงเนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการตามปกติ แต่วันนี้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ธุรกิจฟิตเนสในสิงคโปร์ก็กลับมาคึกคัก อีกทั้งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 อีกด้วย

คนสิงคโปร์สนใจการออกกำลังกายและเข้ายิมมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19

ข้อมูลจากการกีฬาแห่งสิงคโปร์ (SportSG) รายงานว่า คนสิงคโปร์ใช้บริการศูนย์ออกกำลังกายในโครงการ ActiveSG ทั่วประเทศมากถึง 238,600 คนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 6% นอกจากยิมแล้ว คนสิงคโปร์ก็สนใจคลาสออกกำลังกายต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการโดย ActiveSG มากยิ่งขึ้น เช่น โยคะ ซุมบา และการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ รวมทั้งกีฬาต่าง ๆ ก็กลับมาเป็นที่นิยม โดยจำนวนการจองการใช้สนามกีฬาในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ได้แก่ สนามแบดมินตันเพิ่มขึ้น 19% สนามบาสเกตบอล 7% และสระว่ายน้ำ 2% ข้อมูลนี้แสดงว่า คนสิงคโปร์หันมาสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น หลังจากอุตสาหกรรมฟิตเนสได้รับผลกระทบอย่างมากตลอดช่วงสองปีของการแพร่ระบาด ซึ่งเจ้าของธุรกิจยิมต่าง ๆ ต่างสูญเสียรายได้ บางรายต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร เมื่อปี 2564 SportSG จึงจ่ายเงินอุดหนุนแก่ศูนย์กีฬาและธุรกิจฟิตเนส จำนวน 18 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมฟิตเนสและการรณรงค์การออกกำลังกายของรัฐบาลสิงคโปร์

หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุขเมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยเฉพาะการยกเลิกการเว้นระยะห่างและการจำกัดการรวมกลุ่มทางสังคม กิจการฟิตเนสก็เริ่มฟื้นตัว (แม้รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงบังคับใช้มาตรการบางอย่าง อาทิ การใส่หน้ากากอนามัยภายในอาคาร) จากการสอบถามผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการฟิตเนส ทุกคนรู้สึกดีใจที่ศูนย์กีฬาและฟิตเนสกลับมาคึกคักอีกครั้ง และให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลเชิงบวกกับการออกกำลังกายและธุรกิจฟิตเนส เนื่องจากทำให้คนสิงคโปร์ตระหนักเรื่องความสำคัญของการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายมากขึ้น บริการผู้ฝึกสอนหรือเทรนเนอร์ส่วนตัวก็มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลสิงคโปร์ออกแนวปฏิบัติเรื่องการออกกำลังกายใหม่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยรณรงค์ให้คนอายุ 18 – 64 ปี ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 – 300 นาทีต่อสัปดาห์ ยิ่งทำให้ธุรกิจฟิตเนสและคลาสออกกำลังกายมีอุปสงค์สูงขึ้นในตลาด

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า ศูนย์ฟิตเนสของเอกชนในสิงคโปร์หลายรายขยายสาขาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของคนสิงคโปร์ โดยเฉพาะในย่านสำนักงานและตัวเมือง เช่น Tanjong Pagar Bukit Timah และ Orchard  ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจนี้กำลังมีแนวโน้มที่ดี แต่ผู้ประกอบการยังคงกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ ซึ่งอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เนื่องจากสถาณการณ์เงินเฟ้อ การขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการยังต้องตื่นตัวเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยในฟิตเนสตลอดเวลาด้วย

แนวโน้มของอุตสาหกรรมฟิตเนสในสิงคโปร์ปี 2565

แนวโน้มธุรกิจฟิตเนสหลังโควิด-19 ปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนสิงคโปร์ ค่ายฟิตเนสและศูนย์กีฬาต้องหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับสมาชิก เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและน่าสนใจแก่ผู้ใช้บริการ เช่น แพคเกจรายสัปดาห์ แพคเกจระยะสั้นสำหรับการเตรียมเป็นเจ้าสาว และการเข้าใช้บริการโดยไม่จำกัดครั้งในทุกสาขาหากสมัครสมาชิกระยะยาว นอกจากนี้ ศูนย์ฟิตเนสในสิงคโปร์ยังเน้นการออกกำลังกายแบบองค์รวมมากขึ้น ทั้งการบำบัด (healing) และความสมบูรณ์พูนสุข (wellness) ควบคู่กันไป

นอกจากนี้ การบริการคลาสออกกำลังกายแบบออนไลน์นั้นก็ยังเป็นที่นิยม เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ทำงานจากที่บ้าน และคนที่ทำงานแบบผสมที่บ้านกับที่ทำงาน (hybrid working) คนวัยทำงานสิงคโปร์ยังมีแนวโน้มที่จะเลือกออกกำลังกายในช่วงสั้น ๆ และระหว่างทำงานมากขึ้น เช่น การปั่นจักรยานไปทำงาน การเลือกออกกำลังกายในเวลากลางวันหรือช่วง off-peak รวมถึงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ (low-impact) เช่น การใช้บาร์ เสื่อโยคะ และดัมเบล นอกจากนี้ สินค้าที่เกี่ยวกับด้านการออกกำลังกาย เช่น เสื้อผ้าแนวกีฬา (Athleisure) ที่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ก็ได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสิงคโปร์ รวมไปถึงนาฬิกาอัจฉริยะ (smart watch) ที่สามารถวัดข้อมูลสุขภาพในด้านต่าง ๆ ของผู้สวมใส่ก็มียอดขายที่สูงเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

สิงคโปร์สนับสนุนประชาชนเรื่องการออกกำลังกายและการกีฬาอย่างจริงจัง โดยการกีฬาแห่งสิงคโปร์ ภายใต้การดูแลของกระทรวงชุมชน วัฒนธรรม และเยาวชนสิงคโปร์ (MCCY) สนับสนุนให้คนสิงคโปร์ออกกำลังให้เป็นกิจวัตร ตามแผนการพัฒนาสิงคโปร์ 2030 และแผนแม่บทการกีฬาของชาติ ปัจจุบัน สิงคโปร์ได้จัดตั้งศูนย์กีฬาในโครงการ ActiveSG ทั่วประเทศจำนวน 19 ศูนย์ ประกอบไปด้วย อาคารยิมออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ และสนามกีฬาประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังให้สิทธิพิเศษแก่ประชาชน เช่น บัตรกำนัลมูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับคนสิงคโปร์ที่สมัครเป็นสมาชิก ActiveSG เพื่อเป็นค่าเข้าใช้บริการสถานออกกำลังกายและการทดลองเรียนในคลาสต่าง ๆ สิงคโปร์ยังมีศูนย์กีฬาแห่งชาติ (Sports Hub) ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2557 เพื่อเป็นศูนย์รวมการบริการด้านกีฬาและไลฟ์สไตล์ให้กับคนสิงคโปร์ และสนามจัดแข่งกีฬาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก Sports Hub มีแผนจะผนวกโครงการ Kallang Alive เพื่อให้เป็นศูนย์ฟุตบอล ศูนย์เทนนิส และศูนย์กีฬาเยาวชนแห่งชาติอีกด้วย

คนไทยเป็นเจ้าของธุรกิจและเจ้าของร่วมฟิตเนสและคลาสเต้นในสิงคโปร์หลายแห่ง โดยเฉพาะ ยิมมวยไทย ได้รับความนิยมอย่างมากจากคนสิงคโปร์ทุกเพศทุกวัย มีความต้องการนักมวยอาชีพและครูมวยที่มีชื่อเสียงจากไทยให้มาสอนตามโรงเรียนสอนศิลปะป้องกันตัวอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมและแนวโน้มของคนสิงคโปร์ที่นิยมการออกกำลังกายมากขึ้น ประกอบกับการหากิจกรรมทำในยามว่าง ทำให้กีฬาชนิดใหม่ ๆ อย่างมวยไทยได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย สถานเอกอัครราชทูตฯ สนับสนุนกีฬามวยไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยมีกำหนดจะจัดกิจกรรมส่งเสริมมวยไทยในช่วงปลายปี 2565  ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสที่เปิดกว้างในธุรกิจมวยไทยในสิงคโปร์อยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงการขยายโอกาสการขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำมันมวย นวม เสื้อผ้าชกมวย เพิ่มเติมในสิงคโปร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง