อุตสาหกรรมอัญมณีในสิงคโปร์เติบโตอย่างต่อเนื่องและโอกาสใหม่สำหรับเพชรแท้จากห้องแล็บ

ถึงแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์นั้น ภาครัฐและภาคเอกชนมองว่ายังคงความแข็งแกร่งและคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อไปในปี 2565 สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสิงคโปร์มีจำนวนสูงขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวถึง 1.5 ล้านคน และการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 4 – 6 ล้านคนในปีนี้

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 นาง Indranee Rajah รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศคนที่ 2 ของสิงคโปร์) ได้ร่วมเปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Singapore International Jewelry Expo ครั้งที่ 17 ณ ศูนย์ประชุม Sands Expo and Convention Centre ที่ Marina Bay Sands และกล่าวว่า ภาคธุรกิจเครื่องประดับของสิงคโปร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสิ้นปี สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ค้าปลีกนาฬิกาและเครื่องประดับมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การซื้อนาฬิกาเพื่อเก็งกำไรเป็นอีกทางเลือกสำคัญของนักลงทุน

นาง Indranee Rajah รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Singapore International Jewelry Expo ครั้งที่ 17
แหล่งที่มา: Singapore International Jewelry Expo (https://www.facebook.com/SIJE.Page/)

มุมมองของภาคเอกชนสิงคโปร์ต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

นาย Ronald Low นักอัญมณีศาสตร์จากบริษัทผลิตอัญมณีสิงคโปร์ Ivy Masterpiece กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคซื้อเครื่องประดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีเงินเก็บมากขึ้นจากการที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ สินค้าฟุ่มเฟือยจึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคพิจารณา ทั้งการซื้อเพื่อเป็นของขวัญและการลงทุน ปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าเมือง อุปสงค์ของสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อุปทานยังมีปัญหาคอขวดเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ทำให้ราคาเพชรที่บริษัทซื้อจากซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้นประมาณ 20%

นาย Ho Nai Chuen ประธานสมาคมอัญมณีแห่งสิงคโปร์ แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า อุปสงค์ของอัญมณีและเครื่องประดับยังคงเติบโตและตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าเครื่องประดับเป็นการลงทุนที่ดีในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาด สิงคโปร์มีสถิติที่น่าสนใจทางเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่ 1) จำนวนการสมรสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2564 ด้วยอัตรา 25.1% จากปี 2563 ส่งผลให้ผู้คนซื้ออัญมณีสำหรับงานหมั้นและงานแต่งงาน 2) อัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น และ 3) ผู้บริโภคซื้อเครื่องประดับเพื่อการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน จากมีนาคม – พฤษภาคม 2565 โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้น 17.8% ในสินค้านาฬิกาและเครื่องประดับ ช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ค้าอัญมณีในประเทศในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ นำความยั่งยืนมาใช้ และกล้าที่จะขับเคลื่อนโลกาภิวัฒน์ขยายธุรกิจข้ามพรมแดน

เพชรแท้จากห้องแล็บ (Lab-Grown Diamond – LGD) – โอกาสใหม่ในสิงคโปร์

เพชรแท้ที่ผลิตในห้องแล็บ1มีมาตั้งแต่ปี 2513 แต่ในขณะนั้นยังมีราคาแพงและส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรม เมื่อระยะเวลาผ่านไป ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตเพชรแท้ที่มีคุณภาพสูงขึ้น และขนาดใหญ่พอสำหรับใช้ในการทำเครื่องประดับ โดยกระบวนการรวดเร็วขึ้นและต้นทุนต่ำลง ความนิยมของเพชรแท้จากห้องแล็บจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม แต่จุดขายที่สำคัญที่สุดยังเป็นปัจจัยด้านราคา เนื่องจากเพชรแท้จากห้องแล็บมีราคาเพียง 40% – 80% ของเพชรที่ขุดโดยธรรมชาติ  ปัจจุบัน ยอดขายเครื่องประดับจากเพชรแท้จากห้องแล็บ มีสัดส่วนประมาณ 5% – 8% ของตลาดเพชรทั้งหมดทั่วโลกซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10% ภายในปี 2566 และยังมีพื้นที่ให้เติบโตอีกมาก

เพชรแท้จากห้องแล็บของแบรนด์ Authica J. ของสิงคโปร์
แหล่งที่มา: Authica J. (https://authica-j.com/blog/authica-the-business-times/)

ในสิงคโปร์ ความสนใจในเพชรแท้จากห้องแล็บเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทอัญมณีมีความเคลื่อนไหว ดังนี้ (1) บริษัท SK Jewellery ผู้จำหน่ายเครื่องประดับรายใหญ่และรายแรกในสิงคโปร์ ได้เปิดตัวร้านจำหน่ายเพชรแท้จากห้องแล็บ Star Carat Shop เมื่อปี 2562 (2) บริษัท GoldHeart Jewelry เริ่มโฆษณาและผลักดันผลิตภัณฑ์เพชรแท้จากห้องแล็บ (3) แบรนด์เครื่องประดับรายใหม่ The Better Diamond เพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2562 แต่เล็งเห็นถึงโอกาสของ LGD ในสิงคโปร์ที่มีตัวเลือกที่ทันสมัยน้อยมาก เพชรจำลองอย่าง Moissanite และ Cubic Zirconia ไม่สามารถทดแทนเพชรแท้ได้ จึงเน้นจำหน่ายเพชร LGD ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีลูกค้าประมาณ 80 – 100 รายต่อเดือน รวมถึงประสบความสำเร็จในการได้รับเลือกจากกองประกวด Miss Universe Singapore ปี 2564 ให้ร่วมจัดทำมงกุฎเพชรที่ทำจากเพชร LGD ทั้งหมด

มงกุฎเพชร Miss Universe Singapore ปี 2564 ทำจากเพชร LGD ทั้งหมดจากแบรนด์ The Better Diamond
แหล่งที่มา: The Better Diamond
(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=833532174173168&set=pb.100025491806768.-2207520000..&type=3)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ และมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้มีอัตราการเติบโตต่อปี (Compound Annual Growth Rate – CAGR)
ทั้งมูลค่าการส่งออกกับการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 10.79% และ 3.55% ตามลำดับ โดยมูลค่าส่งออกมีประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 4.74% ของผลิตภัณฑ์ส่งออกโดยรวมของประเทศ

ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ในไทยด้านอุปสงค์ คือ ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร และพลอยต่างจากคนรุ่นก่อน รวมถึงแนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลงในคนรุ่นใหม่อาจทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เพชรแท้จากห้องแล็บเป็นทางเลือกที่นิยมสำหรับผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุระหว่าง 18 – 37 ปี) เพราะให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของสินค้าเท่าเทียมกับคุณภาพของสินค้า ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิม ๆ ว่าเพชรแท้ต้องขุดมาจากเหมืองเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการผลิตที่โปร่งใส ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีจรรยาบรรณมากกว่า เช่น ไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยด้านอัญมณีและเครื่องประดับมีข้อได้เปรียบเรื่องความประณีตในงานหัตถศิลป์อยู่แล้ว หากสามารถพัฒนาความสามารถและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการผลิตเพชรแท้จากแล็บเพื่อทำเครื่องประดับ รวมทั้งหาโอกาสร่วมทุนกับผู้ประกอบการหรือบริษัทต่างชาติที่มีความสามารถ นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ก็จะเป็นการต่อยอดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มโอกาสและมูลค่าต่อธุรกิจได้


1 Lab-Grown Diamond (เพชรแท้จากห้องแล็บ) ถูกจำลองขั้นตอนการเกิดขึ้นของเพชรตามธรรมชาติ ภายในห้องทดลองโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งจำลองกระบวนการเกิดเพชรโดยธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่ได้คือเพชรที่มีคุณสมบัติทางเคมี ทางกายภาพ และทางแสง เช่นเดียวกับเพชรที่เกิดขึ้นใต้ผิวโลก


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง