รถโดยสารไฟฟ้าผลิตในสิงคโปร์ พร้อมทดลองใช้ภายในสิ้นปีนี้

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 บริษัทสิงคโปร์ SC Auto Industries และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของสวีเดน Volvo ได้เปิดตัวรถโดยสารไฟฟ้า Volvo BZL-SC Neustar City แบบสามประตู ยาว 12 เมตร ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทางสาธารณะแบบไฟฟ้าคันแรกที่สร้างขึ้นในสิงคโปร์และขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งหมด โดยบริษัท Volvo เป็นผู้จัดหาโครงสร้างรถโดยสารพร้อมเครื่องยนต์และล้อ (Chassis) และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ในขณะที่บริษัท SC Auto ซึ่งมีประสบการณ์หลายสิบปีในการสร้างรถโดยสารเอกชนและรถโคช เป็นผู้ออกแบบ ผลิต และประกอบตัวรถโดยสารที่โรงงานใน Senoko สิงคโปร์ ยานพาหนะดังกล่าวสามารถรีไซเคิลได้ถึง 90% รวมถึงแบตเตอรี่ก็สามารถนำมารีไซเคิลได้อีกด้วย ทั้งนี้ ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ตรงตามมาตรฐานรถโดยสารสิงคโปร์โดยเฉพาะ และมีคุณลักษณะบางประการ เช่น ทางออกฉุกเฉินที่ด้านหลัง โดยรถโดยสารดังกล่าวพร้อมที่จะทดลองใช้บนถนนภายในสิ้นปี 2565  

แหล่งที่มา: SC Auto (https://business.facebook.com/SCAutoIndustries/?tn-str=k*F)

นาง Rachel Lee กรรมการผู้จัดการบริษัท SC Auto กล่าวว่า บริษัทฯ มีความสามารถในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า 1,200 คันต่อปีจากโรงงานในสิงคโปร์และเมียนมา โดยบริษัทได้ลงทุนราว 2.5-3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (65-78 ล้านบาท1) สำหรับการวิจัยและออกแบบ ทั้งนี้ หากโครงการประสบความสำเร็จและมีการผลิตมากขึ้น บริษัทคาดว่า จะสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก 100 ตำแหน่งในสิงคโปร์ จากจำนวนพนักงานบริษัท 100 คนในปัจจุบัน

นาง Lee ยังได้กล่าวต่อว่า ผู้คนส่วนมากต่างกังวลใจในเรื่องห่วงโซ่อุปทานและบริการหลังการขาย ดังนั้นการมีสาขาในสิงคโปร์จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม บริษัท SC Auto ยังตั้งเป้าที่ขยายไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทจะแข่งขันการประกวดราคาของรัฐบาลและเอกชนในสิงคโปร์และต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและมาเลเซีย ทั้งนี้ ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ คือการช่วยสร้างระบบนิเวศของยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่บริษัทวางแผนร่วมมือกับสถาบันระดับอุดมศึกษาเพื่อฝึกอบรมพนักงานและบ่มเพาะผู้มีความสามารถใหม่ๆ อีกด้วย

นาย Alvin Tan รัฐมนตรีแห่งรัฐของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Minister of State for Trade and Industry) ที่ได้เข้าร่วมงานเปิดตัวรถโดยสารไฟฟ้าดังกล่าว ระบุว่า ภาคการขนส่งคิดเป็นประมาณหนึ่งในห้าของการปล่อยมลพิษทั่วโลก และการขนส่งแบบยั่งยืนมีศักยภาพสูงพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงคมนาคมได้ประกาศแผนสำหรับสิงคโปร์ที่จะลดการปล่อยก๊าซจากการขนส่งทางบกลง 80% จากสูงสุด 7.7 ล้านตันในปี 2559 เป็น 1.54 ล้านตันในปี 2593 โดยหนึ่งในวิธีที่รัฐบาลฯ จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการแทนที่รถโดยสารสาธารณะที่ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลด้วยรถโดยสารที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดในปี 2583 ทั้งนี้ รถโดยสารดีเซลมากกว่า 400 คันจะถูกแทนที่ด้วยรถโดยสารไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2568 และจะมีการเพิ่มรถโดยสารไฟฟ้าให้มากขึ้นในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากรถโดยสารดีเซลที่เหลือมีอายุใช้งานตามกฎหมายถึง 17 ปี ดังนั้นรถโดยสารสาธารณะอย่างน้อยหนึ่งในสองคันจะเป็นรถโดยสารไฟฟ้าภายในปี 2573

เหตุผลที่บริษัท SC Auto ได้ตัดสินใจเข้าสู่วงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและสร้างรถโดยสารสาธารณะประจำทางเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท มาจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่บริษัทให้ความสำคัญก่อนหน้านี้ และความมุ่งมั่นของหน่วยงานการขนส่งทางบกสิงคโปร์ (Land Transportation Authority : LTA) ในความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสนับสนุนการใช้รถโดยสารสาธารณะจากพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งเป้าหมายภายในปี 2573 ของ LTA ได้สร้างความสนใจกับบริษัทอื่นเช่นกัน รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถโดยสารสิงคโปร์ LexBuild ซึ่งผลิตรถโดยสารเอกชน Hola และจัดจำหน่ายรถโดยสารและอะไหล่แบรนด์ต่างๆ จากจีน โดยบริษัทได้เปิดตัวต้นแบบรถโดยสารสาธารณะภายใต้แบรนด์ย่อย LexSwitch ในงาน Singapore international Transport Congress and Exhibition เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565

นาย Charles Tan ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม LexBuild กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทใช้เงินเกือบ 1.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (39 ล้านบาท) ในการออกแบบรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ของบริษัท จากนั้นบริษัทได้จัดหาส่วนประกอบที่มีคุณภาพจากประเทศต่างๆ และได้ว่าจ้างบริษัทผู้ผลิตจีน Wisdom (Fujian) Motor ให้ประกอบรถโดยสารตามข้อกำหนดที่สอดคล้องกับ LTA ทั้งนี้ บริษัทได้มองส่วนแบ่งทางการตลาดของรถไฟฟ้าก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น และอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมากต่อรถโดยสารเอกชนในสิงคโปร์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้การตัดสินใจดังกล่าวได้หยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี บริษัทยังเชื่อว่า ยังมีโอกาสในตลาดสิงคโปร์ แต่อาจจะต้องใช้แนวทางแตกต่างออกไป บริษัทสามารถออกแบบรถโดยสารไฟฟ้าทั้งคันได้ตั้งแต่เริ่มต้น และบริษัทพร้อมที่จะเข้าร่วมการประกวดราคาของ LTA สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นของ สคต.

หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีการตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด ภาคขนส่งสาธารณะเป็นหนึ่งในปัจจัยการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกนโยบายที่สนับสนุนการใช้รถยนต์/รถโดยสารที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น การแทนที่รถโดยสารสาธารณะด้วยรถโดยสารที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดในปี 2583 หรือตั้งแต่ปี 2573 การลงทะเบียนสำหรับรถยนต์ใหม่และรถแท็กซี่ต้องเป็นรถพลังงานสะอาดเท่านั้น ทั้งนี้ นโยบายพลังงานสะอาด ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทย เพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลก อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความได้เปรียบได้ในหลายๆ ด้าน เช่น แรงงานไทยมีความรู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถยนต์ ไทยเป็นแหล่งสายการผลิตส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ อะไหล่ ชิปอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้เกิดการออกแบบและผลิตได้ตรงตามมาตรฐานรถยนต์/รถโดยสารสิงคโปร์และติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป


1 1 เหรียญสิงคโปร์ เท่ากับ 26.07 บาท ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง