รายงาน Sustainability Report ฉบับแรกของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS)

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 นาย Ravi Menon ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “Being the Change We Want to See: A Sustainable Future” พร้อมทั้งประกาศเผยแพร่รายงานความยั่งยืนปี ค.ศ. 2020/2021 (Sustainability Report) เป็นครั้งแรก

MAS ของสิงคโปร์ เป็นธนาคารกลางแห่งแรกในอาเซียนและเป็นแห่งที่สองของโลกที่เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี (ต่อจาก Bank of England ของ สหราชอาณาจักร) ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ที่จะส่งเสริมระบบการเงินสีเขียว และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยลดการใช้คาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

สิงคโปร์มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risks) คือ ผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม (2) ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลง (Transition Risks) ซึ่งเกิดจากกระบวนการปรับตัวสู่ เศรษฐกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีที่เผชิญอุปสรรค และการเปลี่ยนแปลงในความชอบของผู้บริโภคและนักลงทุน

ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนน้อยลง และเป็นช่องทางเงินทุนสู่เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น MAS จึงจัดตั้งนโยบายเพื่อความยั่งยืน 3 ด้าน ดังนี้

1. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินของสิงคโปร์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

(1) ออกแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแก่สถาบันการเงินทุกแห่งในสิงคโปร์ทั้งด้านการธนาคาร การประกันภัย และการจัดการสินทรัพย์ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดย MAS จะเผยแพร่เอกสารข้อมูลเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและสิ่งที่ควรปรับปรุงในด้านนี้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในสิงคโปร์ และจะมีส่วนร่วมในการจัดวางกรอบการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมกับเครือข่ายระหว่างประเทศ เช่น micro-prudential supervision ภายใต้เครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2560 และมีสมาชิกธนาคารกลางจาก 92 ประเทศทั่วโลก (ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกเช่นกัน)

(2) จัดการทดสอบความเข้มแข็ง (stress testing) ในอุตสาหกรรมการเงินภายในสิ้นปี 2565 ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย ที่พัฒนาโดย NGFS

(3) จัดทำแนวทางเพื่อปรับปรุงคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (climate-related disclosures) ที่เชื่อถือได้และเปรียบเทียบได้ในโอกาสแรก MAS และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) จะร่วมกันกำหนดแผนงานในด้านนี้ โดยให้สถาบันการเงินและนิติบุคคลที่จดทะเบียนใน SGX มีส่วนร่วมด้วย หลังจากนั้น SGX จะปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการทำรายงานฯ ตามคำแนะนำของ Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) ทั้งนี้ MAS หวังว่าทุกธนาคาร บริษัทประกันภัยและผู้จัดการสินทรัพย์จะเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565

(4) มุ่งสู่มาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืนระดับโลก เช่นการกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ตามกลุ่ม G7 การดำเนินการตามข้อแนะนำของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ ระหว่างประเทศ (IOSCO) และมูลนิธิมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ซึ่งมีแผนที่จะจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (International Sustainability Standards Board – ISSB) เพื่อกำหนดมาตรฐานระดับโลกภายในสิ้นปี 2564

2. พัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ

(1) พัฒนาอนุกรมวิธานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomies) หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมสีเขียว คำนิยามที่ชัดเจนของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

(2) ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมโซลูชั่นการเงินสีเขียว เช่น แนะนำโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายในการออกพันธบัตรสีเขียว และเงินกู้สีเขียวซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

(3) สนับสนุนการค้า carbon credit และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีสภาพคล่องและมีความโปร่งใส่สำหรับตลาด carbon credit โดยเฉพาะในเอเชีย ทั้งนี้ DBS Bank, SGX, Temasek และ Standard Chartered ได้ประกาศแผนเปิดตัวตลาดการแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอน Climate Impact X (CIX) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(4) จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรม Green FinTech เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้เกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนของโครงการ เช่น Application Programming Interfaces (API) และ Internet of Things (IoT)

(5)  จัดทำโครงการ Greenprint ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริม climate-friendly ecosystem

3. สนับสนุนโครงการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงการลงทุนสีเขียว

(1) MAS จัดสรรเงินสำรองต่างประเทศจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-related investment) และสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินสิงคโปร์ โดยแต่งตั้งผู้จัดการสินทรัพย์ 5 ราย เพื่อจัดการตราสารทุนและตราสารหนี้ฉบับใหม่ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การจัดสรรเงินสำรองต่างประเทศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการลงทุนสีเขียว (Green Investment Program (GIP) ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยเงินงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของ ecosystem ด้านการเงินสีเขียวในสิงคโปร์ให้แข็งแกร่งและหลากหลาย รวมถึงปกป้องภาคการเงินจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

(2) สนับสนุนการลด carbon footprint และพัฒนาแผนงานเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง โดยในรายงานความยั่งยืนของ MAS ฉบับต่อไปจะกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษสำหรับปี 2568 (ค.ศ. 2025) และ 2573 (ค.ศ. 2030) และตั้งเป้าหมายระยะเวลาเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ตาม Paris Agreement) รวมทั้งพัฒนากลยุทธ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 และส่งเสริมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการพิมพ์ธนบัตรและผลิตเหรียญกษาปณ์

(3) MAS รายงานเพิ่มเติมถึงความพยายามของสิงคโปร์ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งแต่ปี 2560 ได้มีการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนมูลค่ากว่า 11 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมีการออกเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกว่า 22.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2563

ข้อมูลเพิ่มเติม  

ในช่วงปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการ (1) จัดตั้งกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (MSE) เปลี่ยนชื่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมล้อมและทรัพยากรน้ำ (MEWR) (2) จัดทำแผน Singapore Green Plan (SGP) 2030 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งเศรษฐกิจสีเขียวเป็น 1 ใน 5 สาขาสำคัญของ SGP และสามารถส่งเสริมเกื้อกูลกับ

แผน BCG Economy ของไทยได้ (3) จัดตั้งตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับโลก (4) ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกิจการท่าเรือ และ (5) การใช้ประโยชน์จาความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน เพื่อแสดงบทบาทการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของภูมิภาคและโลก

การสร้างระบบการเงินสีเขียวเป็นส่วนสำคัญยิ่งของแผน SGP โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 MAS ได้จัดตั้งคณะทำงานอุตสาหกรรมการเงินสีเขียว (Green Finance Industry Taskforce – GFIT) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเงินการธนาคารสีเขียวในสิงคโปร์เป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ กองทุน Sovereign Wealth Funds ของสิงคโปร์ยังมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้นและเพิ่มเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในการทำงานและการตัดสินใจลงทุน โดยปัจจุบัน SWF ประมาณ 18 กองทุน จากทั้งหมด 98 กองทุนที่มีนโยบาย ESG อย่างเป็นทางการ  

ภาคการธนาคารของไทยก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้าน Sustainable Banking แก่สถาบันการเงินไทย อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัย ESG หลายประการ โดยสมาชิกสมาคมธนาคารไทยยังได้จัดทำบันทึกข้อตกลงด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) ในเรื่องการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) และลงนามร่วมกันในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบต่อปัจจัย ESG                       

การดำเนินธุรกิจสีเขียวและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในธุรกิจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและภาคเอกชน โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลต่าง ๆ ที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนแบบ climate-linked investment เพื่อสร้าง sustainable ecosystem ในภาคธุรกิจและเอกชน ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและเพิ่มการดึงดูดกระแสเงินลงทุนจากผู้ลงทุนที่สนใจอีกด้วย นอกจากนี้ ภาคเอกชนที่เป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตก็ย่อมสามารถสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้แก่องค์กรได้อีกด้วย จากสถิติล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เป็นต้นมา นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนกับหลักทรัพย์ของบริษัทที่เน้นความยั่งยืนและให้ความสำคัญต่อ ESG เป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง