เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 นายเฮง ซวี เกียต รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ได้แถลงแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของรัฐบาลสิงคโปร์ (1 เมษายน 2564 – 31 มีนาคม 2565) ต่อรัฐสภาของสิงคโปร์ โดยมีการจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 107 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และกำหนดงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 11 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือ 2.2 % ของ GDP) และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะขยายตัวที่ 4 – 6%

แนวทางการจัดสรรงบประมาณคือ (1) เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 (2) เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ (3) สร้างความสามัคคีในสังคม และ (4) พัฒนาสิงคโปร์ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนสําหรับทุกคน

สรุปผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ขาดดุลทั้งสิ้น 64.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือ 13.9 % ของ GDP) ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่สิงคโปร์ก่อตั้งประเทศมา และเศรษฐกิจหดตัวที่ -5.4% อนึ่ง เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องจัดสรร/อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีอีก 4 ครั้ง และได้นำเงินคงคลังจำนวน 52 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ออกมาใช้จ่ายเพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งสรุปผลการเบิกจ่ายเงินคงคลังดังกล่าว ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 พบว่า รัฐบาลใช้จ่ายตามจริงอยู่ที่ 42.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมีเงินคงเหลือ 9.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้โอนเงินคงคลังที่เหลือดังกล่าวมาใช้ (นายเฮง ซวี เกียต ได้กล่าวว่า นางฮาลิมา ยาขอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ได้อนุมัติในหลักการแล้ว) และจะขอจัดสรรเงินคงคลังเพิ่มเติมอีก 1.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนั้น สรุปยอดเงินคงคลังที่รัฐบาลสิงคโปร์นำออกมาใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ 2563 – 2564 จึงรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 53.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 นายเฮง ซวี เกียต ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสิงคโปร์ว่า รัฐบาลจะพยายามสร้างสมดุลและใช้จ่ายเงินคงคลังในระยะเวลา 4 – 5 ปีข้างหน้าอย่างรอบคอบ เนื่องจากรัฐบาลได้นำเงินคงคลังออกมาใช้แล้วถึง 53.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และหวังว่าเงินคงคลังจะสามารถกลับสู่ภาวะสมดุลได้ตามเดิมเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะปกติเพื่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

มาตรการให้ความช่วยเหลือชาวสิงคโปร์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเเต่ละรายการ

Household Support Package รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวชาวสิงคโปร์ รวมทั้งสิ้น 5 รายการ ได้แก่ (1) GST Voucher – Cash Special Payment ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่ำกว่า 2,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน และอาศัยอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำ (low value property) จะได้รับบัตรเงินสดมูลค่า 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน 2564 (2) GST Voucher – U – Save Special Payment ครอบครัวชาวสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ใน HDB จะได้รับส่วนลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม) เพิ่มอีก 50% จากส่วนลดปกติที่ได้รับเป็นประจำทุกปี เป็นเงินจำนวน 120 – 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ขึ้นอยู่กับขนาดของ HDB) ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม 2564 (3) Community Development Council (CDC) Vouchers ครอบครัวชาวสิงคโปร์จะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อใช้จ่ายในร้านค้าและร้านอาหารในศูนย์ Hawker Centres (4) Top-ups for Singaporean children ชาวสิงคโปร์ ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี จะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมจำนวน 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ภายในเดือนกันยายน 2564 และ (5) Service and Conservancy Charges Rebate ครอบครัวชาวสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ใน HDB จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาอาคาร (ค่าเก็บขยะ ค่าทำความสะอาดพื้นที่ส่วนรวม) เป็นเวลา 1.5 ถึง 3.5 เดือน ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2564 – เดือนมกราคม 2565

Covid-19 Resilience Package รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 11 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 3 รายการ ได้แก่ (1) Safeguarding public health and re-opening safely จำนวน 4.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งจะครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี การติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการสนับสนุนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกแล้วประมาณ 250,000 คน และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้วประมาณ 55,000 คน (2) Supporting workers and businesses where needed จำนวน 5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินชั่วคราวสำหรับผู้ที่ต้องออกจากงานโดยไม่สมัครใจผ่านโครงการต่างๆ เช่น Jobs Support Scheme (JSS), SGUnited Jobs and Skills Package และ COVID-19 Recovery Grant เป็นต้น (3) Supporting sectors that are still under stress ใน 3 สาขา ได้แก่ (3.1) อุตสาหกรรมการบิน จำนวน 870 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3.2) ผู้ประกอบอาชีพในภาคการขนส่งทางบก จำนวน 133 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ (3.3) สนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพอิสระในสายงานศิลปะและการกีฬา จำนวน 45 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Singapore Green Plan 2030 มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสิงคโปร์อย่างยั่งยืนภายใน 10 ปีข้างหน้า และมุ่งบรรลุเป้าหมาย “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (net-zero emissions) โดยเร็วที่สุด ประกอบด้วยนโยบาย/มาตรการ 3 สาขา ได้แก่ (1) นโยบายความมั่นคงทางอาหาร จำนวน 60 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อปฏิรูปเทคโนโลยีทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางอาหารในประเทศ (2) มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า เช่น การติดตั้งจุดชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV charging points) จำนวน 60,000 จุด อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่าจะปรับแก้โครงสร้างภาษียานยนต์ เพื่อให้ชาวสิงคโปร์สามารถเข้าถึง/มีกำลังซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะปรับลดค่าธรรมเนียม Additional Registration Fee (ARF) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จากปกติขั้นต่ำ 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 0 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในระหว่างเดือนมกราคม 2565 – เดือนธันวาคม 2566 และ (3) การเงินสีเขียว (Green Financing) รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) มูลค่า 19 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานระยะยาวของประเทศบางโครงการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดและดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในสิงคโปร์ มากขึ้น เช่น โครงการ Tuas Nexus ซึ่งประกอบด้วยโรงงานบำบัดน้ำเสียและขยะมูลฝอยแบบบูรณาการแห่งแรกของสิงคโปร์ที่เขต Tuas ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสิงคโปร์ (กำหนดเปิดใช้งานในปี 2568)

มาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก Singapore Green Plan 2030 ที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์ริเริ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 64 เป็นต้นไป กล่าวคือ (1) น้ำมันเชื้อเพลิงเกรดพิเศษ (น้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทน 98 ขึ้นไป) ปรับขึ้น 0.15 – 0.79 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตร และ (2) น้ำมันเชื้อเพลิงเกรดปานกลาง (น้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทน 92 และ 95) ปรับขึ้น 0.10 – 0.66 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตร อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์จะชดเชย การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพขับรถต่างๆ ผ่านค่าลดหย่อนภาษีทางถนน (Road Tax Rebate) จำนวนรวมทั้งสิ้น 113 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2564 – 31 กรกฎาคม 2565

มาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Service Tax : GST) ได้แก่ (1) การปรับขึ้น GST จากปัจจุบันที่ 7% เป็น 9% ในช่วงปี 2565 – 2568 และ (2) การเริ่มเก็บ GST สินค้าออนไลน์ที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีมูลค่าต่ำ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป (ปัจจุบัน สินค้าออนไลน์ที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะได้รับการยกเว้น GST) อนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ชาวสิงคโปร์อาจได้รับจากการปรับขึ้น GST รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวนรวมทั้งสิ้น 6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ภายใต้ Assurance Package เพื่อมอบเงินสดให้กับชาวสิงคโปร์ทุกคน คนละ 700  – 1,600 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

มาตรการสนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่น ด้วยรัฐบาลสิงคโปร์ต้องการสร้างสมดุลระหว่างแรงงานท้องถิ่นและแรงงานต่างชาติ ลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ และส่งเสริมการจ้างงานท้องถิ่น ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงเตรียมดำเนินมาตรการใน 2 ส่วน ได้แก่ (1) การลดจำนวนการจ้างแรงงานต่างชาติถือบัตร S Pass ใน อุตสาหกรรมภาคการผลิต (S Pass quota cut)  ให้เหลือ 15% ภายในวันที่ 1 มกราคม 2566 อนึ่ง ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติที่ถือบัตร S Pass ในอุตสาหกรรมภาคการผลิตอยู่ 20% และ (2) มาตรการส่งเสริมการจ้างงานคนสิงคโปร์  เช่น มาตรการ Wage Credit Scheme ซึ่งจะมีผลกับผู้ที่มีรายได้รวมไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (รายได้ก่อนหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Central Provident Fund : CPF) โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะร่วมสมทบเงิน 15% หรือขั้นต่ำ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น

Business transformation รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 24 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อดำเนินการในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) Growing a vibrant business community ส่งเสริมให้ธุรกิจภาคเอกชนเท่าทันต่อนวัตกรรมใหม่ เช่น การปฏิรูปอุตสาหกรรมการบิน การติดตั้งระบบตรวจสอบ/คัดกรอง และระบบควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับช่องทางผู้โดยสารขาเข้า ณ ท่าอากาศยานชางงี เป็นต้น (2) Catalysing a wide range of capital กระตุ้น/เพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมแนวคิดใหม่ทางธุรกิจ และ (3) Creating opportunities and redesigning jobs สร้างโอกาสทางอาชีพและพัฒนาทักษะของชาวสิงคโปร์

Significant Infrastructure Government Loan Act (SINGA) รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมการออกพันธบัตรใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติ Significant Infrastructure Government Loan Act (SINGA) ภายในวงเงินไม่เกิน 90 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาใช้ลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานระยะยาวของประเทศในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า เช่น โครงการขยายเส้นทาง MRT โครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำขึ้นน้ำลงโดยรอบ ประเทศ และโครงการก่อสร้างสถานที่บําบัดน้ำเสียและขยะมูลฝอยแบบครบวงจร (Tuas Nexus) เป็นต้น อนึ่ง ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวรัฐบาลเตรียมพิจารณาออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) สําหรับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับ Singapore Green Plan 2030 ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ SINGA ได้เตรียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้ และในอนาคตหากรัฐบาลต้องการปรับเพิ่มวงเงิน จะต้องเสนอเรื่องต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง