สิงคโปร์เริ่มเก็บค่าถุงใส่สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่กลางเดือนมีนาคม 2566 นี้

ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2566 นี้ ผู้คนในสิงคโปร์จะต้องจ่ายค่าถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่เคยแจกฟรีแก่ลูกค้า โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency – NEA) และกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Sustainability and the Environment – MSE) ของสิงคโปร์ได้ประกาศนโยบายการเก็บค่าถุงใช้แล้วทิ้งครั้งแรกเมื่อต้นปี 2565 เพื่อลดจำนวนขยะชนิดบรรจุภัณฑ์ และเพื่อให้สังคมสิงคโปร์ก้าวสู่วิถีดำเนินชีวิตแบบยั่งยืนยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต

ตั้งแต่ปี 2565 นโยบายการคิดค่าถุงใส่สินค้าในสิงคโปร์ จะไม่จำกัดเฉพาะกับถุงหิ้วที่ทำจากพลาสติกเท่านั้น แต่จะรวมถึงถุงหิ้วที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ทุกชนิด เช่น กระดาษ หรือแม้แต่วัสดุที่ย่อยสลายได้ (degradable materials) เพราะการคิดค่าถุงที่ทำจากวัสดุใดวัสดุหนึ่งอย่างเดียว เช่น พลาสติก จะทำให้คนจะหันมาใช้ถุงหิ้วจากวัสดุทดแทนอื่น ๆ ซึ่งไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการลดการใช้สิ่งของที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง และไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ซูเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปร์เตรียมคิดเงินค่าถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสิงคโปร์จะเริ่มคิดเงินค่าถุงใช้ครั้งเดียวทิ้ง (disposable bags) อย่างน้อย 5 เซ็นต์ต่อถุง (ประมาณ 1.25 บาท) กลางเดือนมีนาคมนี้ โดยจะเริ่มบังคับใช้กับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปี (annual turnover) มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ก่อน ซึ่งมีจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดในสิงคโปร์ ได้แก่ NTUC FairPrice, Cold Storage, Giant, Sheng Siong และ Prime ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก ร้านค้าปลีกทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ รัฐบาลสิงคโปร์ยังไม่ได้มีข้อบังคับเก็บค่าถุงพลาสติกจากลูกค้า แต่ให้ร้านค้าพิจารณาความเหมาะสมตามสมัครใจของแต่ละร้าน ซึ่งร้านค้าหลายแห่งได้เริ่มเก็บเงินค่าถุง 10 เซ็นต์ต่อถุง (ประมาณ 2.5 บาท) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่น The Body Shop และ Cheers เป็นต้น

ทั้งนี้ สิงคโปร์ไม่ได้ห้ามการใช้ถุงหรือการซื้อขายถุงแบบใช้แล้วทิ้งแต่อย่างใด แต่ต้องการให้คนสิงคโปร์คิดอย่างรอบคอบก่อนรับหรือหยิบถุงหิ้วมากขึ้น เพื่อลดพฤติกรรมการใช้สิ่งของประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างฟุ่มเฟือย และให้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการลดจำนวนขยะของประเทศ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ในขณะที่สิงคโปร์กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) ทั้งจากมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนและการลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ ของสิงคโปร์

หน่วยงานภาครัฐของสิงคโปร์ยังสนับสนุนให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายถุงหิ้วให้กับผู้บริโภคไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เช่น เพื่อการกุศลหรือเพื่อสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และต้องช่วยรณรงค์ให้ผู้บริโภคนำถุงหิ้วของตนเองมาใช้เมื่อมาซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและต่อต้านการฟอกเขียว (greenwashing) ซูเปอร์มาร์เก็ตจะต้องรายงานจำนวนถุง รายได้ทั้งหมดจากการจัดเก็บค่าถุง และชี้แจงรายละเอียดการนำเงินไปใช้ต่อสาธารณะด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกออกมาตรการเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกก่อนหน้าสิงคโปร์มานานแล้ว เช่น สหราชอาณาจักรเริ่มคิดค่าถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2558 และญี่ปุ่นในปี 2563 ส่วนไทยและอินโดนีเซียเริ่มมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้าขนาดใหญ่ในปี 2563 ส่วนสาเหตุที่สิงคโปร์ดำเนินการค่อนข้างช้า NEA ให้เหตุผลว่า สิงคโปร์พิจารณาและให้น้ำหนักกับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศซึ่งมีระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวด เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่หนาแน่นและส่วนใหญ่อยู่อาศัยแบบแนวตั้งตามตึกสูง การกำจัดขยะในครัวเรือนจึงยังจำเป็นต้องนำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ และการคิดค่าถุงพลาสติกยังจะกระทบคนสิงคโปร์รายได้น้อย

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังสามารถกำจัดขยะพลาสติกได้หมดจากกระบวนการเผาขยะในเตาเผา และยังได้พลังงานไฟฟ้าจากกระบวนการเผาเป็นผลพลอยได้ อีกทั้งสิงคโปร์ยังคงลงทุนด้านการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อเอามาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่ได้เพิกเฉยกับการลดการใช้ถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ได้เริ่มโครงการนำร่องด้านการงดแจกถุงพลาสติกที่ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice และร้านสะดวกซื้อในเครือ เช่น Cheers ทั้งหมด 25 สาขา เมื่อปลายปี 2562 เป็นเวลา 1 ปี โดยคิดราคาค่าถุงหิ้ว 10-20 เซ็นต์ต่อถุง และยังได้ศึกษาอย่างรอบคอบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เพื่อพัฒนากรอบบังคับการคิดค่าถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งรวมถึงการสำรวจและหารือกับประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 6,000 ราย จากหลายภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นของคนสิงคโปร์ 1,000 คน เมื่อเดือนกันยายน 2564 พบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการลดการใช้ถุงพลาสติกหรือถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และมากกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการบังคับจ่ายค่าถุงดังกล่าว

ศูนย์ BIC เห็นว่า สิงคโปร์จริงจังกับการนำประเทศสู่เป้าหมาย Zero Waste Nation หรือขยะเป็นศูนย์ ที่จะลดปริมาณขยะจำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ส่งไปยังหลุมฝังกลบที่เกาะ Semakau ของสิงคโปร์ภายในปี 2573 ตามแผนสิงคโปร์สีเขียว Singapore Green Plan 2030 เพื่อการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน รวมถึงการวางจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด (ภายในปี 2593) ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจกับสิงคโปร์จึงต้องคำนึงถึงเรื่องของผลกระทบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม และติดตามมาตรการด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ที่รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงบังคับใช้กับภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการผลิตสินค้าและบริการ และการดำเนินธุรกิจสีเขียว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดในสิงคโปร์ได้อย่างยั่งยืน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง