ทิศทางเศรษฐกิจ “ปีเสือ” 2565 ของสิงคโปร์

ในฐานะ “4 เสือแห่งเอเชีย”

สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้รับสมญานามว่า “4 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” เป็นกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่มีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมสูง และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและต่อเนื่องในช่วงปี 2503 – 2533 มากกว่า 7% ต่อปี ในปัจจุบัน ทั้ง 4 เขตเศรษฐกิจยังคงมีความก้าวหน้า มีรายได้สูง และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและโลก โดยสิงคโปร์และฮ่องกงประสบความสำเร็จในการก้าวเป็นศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำ ในขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ล้ำสมัย โดยเฉพาะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นอันดับต้นของโลก

ปี 2565 ตรงกับปีนักษัตร “เสือ” นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของ 4 เสือแห่งเอเชีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีปัจจัยสนับสนุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน

ปีเสือของสิงคโปร์และการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับฮ่องกง   

ในปี 2565 นี้ สิงคโปร์จะมุ่งเน้นในด้าน 1) การจัดสรรทรัพยากรไปในด้านการใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และเร่งการนำช่องทางออนไลน์และดิจิทัลไปใช้ในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การธนาคาร การศึกษา การดูแลสุขภาพ โลจิสติกส์ และคลังข้อมูล 2) การลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น การลงทุนในกองทุนป้องกันชายฝั่งและน้ำท่วม เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ สิงคโปร์และฮ่องกงยังคงแข่งขันกันเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงยังคงเผชิญปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนด้านการเมืองภายในจีน ทำให้เงินลงทุนที่ไหลออกจากฮ่องกงไปยังที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาค และยังคงสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบุคคลที่มีรายได้สูงจากการไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรจากการลงทุน (zero capital gain tax) จำนวนมาก

ทิศทาง โอกาส และผลกระทบทางเศรษฐกิจของสี่เสือแห่งเอเชีย

โอกาสในอุตสาหกรรมการผลิต ผู้แทนบริษัท Eastspring Investments มองว่า ในปี 2565 ผู้ผลิตในภูมิภาคจะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพ และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งจะใช้ประโยชน์จากการที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDIs)  เริ่มมีแนวโน้มไหลออกจากจีนมากขึ้น อีกประการหนึ่ง ปัญหาการขาดแคลนแผ่นวงจรทั่วโลก (chip shortage) จะยังคงเป็นปัญหาจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกจากไต้หวัน เกาหลีใต้ และตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย โดยไต้หวันมีความแข็งแกร่งทางด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส บริษัท Semiconductor Manufacturing
Company (TSMC) ซี่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นวงจรให้บริษัท Apple ได้เปิดเผยแผนการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่มูลค่า 40,000-44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแผ่นวงจร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5 ของขนาดเศรษฐกิจของไต้หวัน ที่มีมูลค่ารวม 760,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวทางการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 สิงคโปร์และเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแนวคิดจากมาตรการ ปลอดโควิด (zero-Covid strategy) มาเป็นการอยู่ร่วมกับโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น ซึ่งรวมถึงการผ่อนปรนนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศ และการจัดทำ Vaccinated Travel Lanes กับกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับสิงคโปร์ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จึงเริ่มเห็นการฟื้นตัวของการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน ในทางตรงกันข้าม ฮ่องกงและไต้หวันยังคงจุดยืนเดียวกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในการคงมาตรการ Zero Covid ทำให้ระบบห่วงโซ่การผลิตและอุปทานตลอดจนภาคแรงงานได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกที่ต้องหยุดชะงักซ้ำ ๆ อันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์และมาตรการรักษาระยะห่างที่เคร่งครัด ซึ่งอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะกลาง-ยาว ทั้งนี้ มาตรการ Zero Covid ของฮ่องกง ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อภาคเศรษฐกิจของฮ่องกง แต่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งเริ่มผ่อนปรนมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 บ้าง ดังจะเห็นได้จากการที่บุคลากรที่มีความสามารถ โดยเฉพาะทางด้านไอทีและการเงินบางส่วน ย้ายมาทำงานในสิงคโปร์แทนฮ่องกง เช่นเดียวกับภาคธุรกิจบางส่วนที่ย้ายสำนักงานมายังสิงคโปร์ด้วย บริษัทเรือสำราญ Royal Caribbean ของสหรัฐฯ จะย้ายท่าเรือของเรือ Spectrum of the Seas จากฮ่องกงมายังสิงคโปร์ ในเดือนเมษายน 2565 เป็นผลจากบริษัทต้องระงับทัวร์หลายรายการเนื่องจากข้อจำกัดด้านโควิด-19 ที่เข้มงวดของฮ่องกง

ระบบภาษีใหม่ในกรอบองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ร่วมกับกฎภาษีขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบให้ประเทศที่เคยพึ่งพาแรงจูงใจด้านภาษีในการดึงดูด FDIs จะต้องแข่งขันโดยใช้ปัจจัยจูงใจที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์โดดเด่นขึ้นมาจากปัจจัยความสะดวกในการทำธุรกิจ หลักนิติธรรมที่แข็งแกร่ง และสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มั่นคง

ผลกระทบจากเศรษฐกิจจีน   

หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนและการสื่อสารแห่งเอเชีย บริษัท St James’s Place Wealth Management เห็นว่า ความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจของจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะสร้างความท้าทายต่อประเทศอื่น ๆ ในบางแง่มุม แต่ก็อำนวยประโยชน์สำหรับ 4 เสือแห่งเอเชียด้วย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากโอกาสในโครงการตามแนวคิดสายแถบและเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ และความตกลง RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา รวม 15 ประเทศ ครอบคลุมหนึ่งในสามของจำนวนประชากรโลก และคิดเป็นร้อยละ 30 ของเศรษฐกิจโลก โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 หากสี่เสือแห่งเอเชียแสวงหาจุดแข็งและส่งเสริมศักยภาพของตนในการเพิ่มมูลค่าในการค้าและการลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงและโครงการเหล่านี้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งของสี่เสือแห่งเอเชียและภูมิภาค

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ             

เศรษฐกิจของสี่เสือแห่งเอเชียอยู่ในระยะเติบโตเต็มที่ และปัจจุบันเริ่มมีจุดเน้นทางเศรษฐกิจร่วมกันในด้านการรับมือกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ ระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่นเดียวกับรายได้ ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาภาคบริการที่เน้นความรู้และใช้ทุนสูงกว่า เช่น การเงินและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจยังจับตามอง “ลูกเสือเศรษฐกิจ” ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งเวียดนามอินโดนีเซีย และไทยที่มีข้อได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าและต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง โดยไทยมีข้อได้เปรียบในด้านแรงงานที่มีคุณภาพแต่ค่าจ้างถูกและต้นทุนต่ำ ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาโอกาสในการขยายตลาดและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงและมีปัจจัยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขาใหม่ ๆ ที่สะท้อนศักยภาพและความสามารถในเชิงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เสริมจากปัจจัยพื้นฐานด้านแรงงานและต้นทุนที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการดำเนินธุรกิจและการขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอีกด้านหนึ่งด้วย


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง