เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศตัวเลขประมาณการล่วงหน้าการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2564 GDP ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.3 แบบ Year-on-Year (YoY) เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Circuit Breaker) และเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงที่สุดของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 คือ ไตรมาสที่ 2/2562 GDP ของสิงคโปร์ในขณะนี้ไม่ได้ฟื้นตัวได้ดีเท่าเดิม แต่ยังคงหดตัวร้อยละ -0.9

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดระยะที่ 2 แบบเฝ้าระวังอย่างยิ่ง Phase 2 (HA) ในช่วง 16 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2564 ดังนั้น หากเปรียบเทียบแบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) กับไตรมาสที่ 1/2564 (ซึ่งเป็นช่วงมาตรการระยะที่ 3 แบบผ่อนคลาย) เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสนี้จึงยังคงหดตัวร้อยละ -2.0 ทั้งนี้ MTI จะมีการประกาศอัตราการเติบโต GDP ของไตรมาสที่ 2/2564 ที่ชัดเจนอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2564

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบและยังคงไม่ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2/2564 ได้แก่

  • กลุ่มการก่อสร้าง ซึ่งแม้จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 98.8 แบบ YoY แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (ช่วงก่อนโควิด-19) ภาคการก่อสร้างในสิงคโปร์ยังคงหดตัวร้อยละ -31.6 แบบ YOY และหดตัวร้อยละ -11.0 แบบ QoQ โดยโครงการก่อสร้างยังคงชะลอตัวและถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะจากเอเชียใต้ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคการก่อสร้างในสิงคโปร์
  • กลุ่มการค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและคลังสินค้า ขยายตัวร้อยละ 9.3 แบบ YoY น้อยกว่าไตรมาสที่ 1/2564 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2562 ยังคงหดตัวร้อยละ -6.8 และหดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ -0.4 แบบ QoQ
  • กลุ่มที่พักอาศัย การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และการบริการอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 13.4 แบบ YoY แต่ยังคงหดตัวร้อยละ -11.8 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และหดตัวร้อยละ -3.0 แบบ QoQ เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคระบาดสำหรับ Phase 2 (HA) เช่น การห้ามรับประทานที่ร้านอาหารโดยเด็ดขาด

อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 ได้แก่

  • ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เติบโตร้อยละ 18.5 แบบ YoY ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 11.3 ในไตรมาสที่ 1/2564 ยกเว้นอุตสาหกรรมการผลิตชีวการแพทย์ที่ยังเติบโตไม่ดีนัก โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมความแม่นยำสูงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์โลกที่เพิ่มขึ้นจากเซมิคอนดักเตอร์ แต่หดตัวร้อยละ -1.8 แบบ QoQ
  • กลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร การเงินและการประกันภัย ขยายตัวร้อยละ 7.8 แบบ YoY ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่ 1/2564 และขยายตัวร้อยละ 0.4 แบบ QoQ

อัตราการว่างงาน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์รายงานว่าอัตราการว่างงานเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ลดลงจากร้อยละ 2.9 ในเดือนเมษายน 2564 โดยอัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการว่างงานของคนสิงคโปร์ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง โดยมีคนชาติสิงคโปร์ว่างงานประมาณ 79,000 คน แต่มีคนต่างชาติแบบ PR ว่างงานประมาณ 9,600 คน เป็นเหตุให้รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงต้องส่งเสริมการจ้างงานคนชาติ และออกมาตรการกระตุ้นให้ภาคเอกชนจ้างงานคนชาติก่อนคนต่างชาติ

อัตราเงินเฟ้อ มูลค่าการค้า และแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไป

จากข้อมูลธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 อัตราเงินเฟ้อหลักเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อหมวดบริการและการลดลงเล็กน้อยของต้นทุนการค้าปลีกและสินค้าอื่น ๆ อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.4 จากร้อยละ 2.1 ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของกลุ่มการขนส่งและที่พักอาศัย ทั้งนี้ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับปี 2564 จะยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0 – 1 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 0.5 – 1.5

Enterprise Singapore ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ รายงานตัวเลขการส่งออก (ไม่รวมน้ำมัน – NODX) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องแบบ YoY เดือนเมษายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.9 เดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.6 และเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 15.9 จากการส่งออกเครื่องจักรและยาไปยังจีน กลุ่ม EU 27 และไต้หวัน แต่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซียลดลงในไตรมาสนี้ ในขณะที่การนำเข้าสินค้า (ไม่รวมน้ำมัน – NORI) ของไตรมาสที่ 2/2564 มีมูลค่ารวมประมาณ 18,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเล็กน้อย

ผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ GDP ปี 2564 ของสิงคโปร์จะสามารถขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ร้อยละ 4 – 6) โดยบางรายประเมินว่าจะสามารถเติบโตถึงร้อยละ 6.5 จากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ภาคการผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคบริการและภาคการก่อสร้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 The Institute for Management Development (IMD) เผยแพร่การจัดอันดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก World Competitiveness Ranking 2021 ซึ่งสิงคโปร์ไม่ได้เป็นอันดับ 1ดังเช่นทุกปี แต่อยู่ในอันดับ 5 ในปีนี้รองจาก 1) สวิตเซอร์แลนด์ 2) สวีเดน 3) เดนมาร์ก 4) เนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ สาเหตุจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย เกิดข้อจำกัดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน ทำให้ประสิทธิภาพทางธุรกิจลดลง ขณะที่ความมั่นคงของนโยบายและความสามารถในการคาดการณ์และจัดการของสิงคโปร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สิงคโปร์ทำได้ดีที่สุด ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดในเอเชีย แม้ว่าเศรษฐกิจประเทศอื่นในเอเชียส่วนใหญ่จะตกอันดับลงก็ตาม (อันดับ 7) ฮ่องกง 8) ไต้หวัน 16) จีน 23) เกาหลีใต้ 25) มาเลเซีย 28) ไทย 31) ญี่ปุ่น 37) อินโดนีเซีย)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง