“Never say never” เป็นคำกล่าวที่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ จากที่ทั่วโลกกำลังฟื้นฟูจากไวรัสสายพันธุ์ Delta แต่สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงในช่วงข้ามคืน เมื่อเกิดไวรัสกลายพันธุ์ Omicron ที่เริ่มแพร่ระบาดในเดือนพฤศจิกายน 2564 ทำและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในหลายประเทศ การอุบัติของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงมาตรการเปิดประเทศด้วย

สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กและมีความหนาแน่นของประชากรสูง ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็พึ่งพาการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศอย่างยิ่ง ดังนั้น สิงคโปร์จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจกับการควบคุมโรคระบาดอย่างระมัดระวัง โดยได้เปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 แต่ก็ต้องพบกับความท้าทายอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของ Omicron ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อ Omicron ในสิงคโปร์แล้ว 546 ราย โดยเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 443 รายและผู้ติดเชื้อในประเทศ 106 ราย) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 รัฐบาลจึงประกาศกระชับนโยบายเปิดประเทศ โดยยกเลิกการจำหน่ายบัตรโดยสารเครื่องบินและรถบัสสำหรับช่องทางพิเศษผู้ได้รับวัคซีนแล้วโดยไม่ต้องกักตัว (Vaccinated Travel Lane – VTL) ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ถึง 20 มกราคม 2565 และจะลดโควตาการจำหน่ายตั๋วลงครึ่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีผลศึกษาว่า Omicron อันตรายกว่า Delta หรือไม่ ควบคู่กับการเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม โดยที่ปัจจุบันพบว่าผู้ติดเชื้อ Omicron ในสิงคโปร์ 98% มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีอาการ รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มคลายความกังวลและให้ผู้ติดเชื้อ Omicron พักรักษาตัวที่บ้านได้ (ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2564) เช่นเดียวกับภาคธุรกิจในสิงคโปร์ที่มีมุมมองบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 สำนักงาน Singapore Commercial Credit Bureau (SCCB) ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Optimism Index) ของสิงคโปร์ ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยค่อย ๆ ไต่ระดับจาก 5.78% ในไตรมาสที่ 4/2564 เป็น 5.91% ในไตรมาสที่ 1/2565 โดยวัดจากปัจจัย 6 ประการ คือ 1) ยอดขาย 2) กำไรสุทธิ 3) ราคาขาย 4) คำสั่งซื้อใหม่ 5) สินค้าคงคลัง 6) การจ้างงาน

นอกจากปัจจัยด้านยอดขายแล้ว ในไตรมาสที่ 1/2565 คาดว่า ตัวชี้วัดทั้ง 5 ปัจจัยที่เหลือจะดีขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี (YoY)  ดัชนีสะท้อนถึงมุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน โดยภาคธุรกิจที่ผู้ประกอบการเชื่อมั่นสูง ได้แก่ (1) การผลิต คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด แต่ยอดขาย กำไรสุทธิ และคำสั่งซื้อใหม่อาจลดลง (2) การเงิน มีตัวชี้วัด 5 ปัจจัยเป็นบวกและระดับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น (3) บริการระดับการจ้างงานลดลง แต่ปริมาณการขายขยายตัวและคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้น แต่ภาคธุรกิจที่ความเชื่อมั่นลดลง ดังนี้ (3.1) การค้าส่งมียอดขาย กำไรสุทธิ ราคาขาย ระดับการจ้างงานหดตัวเป็นศูนย์ และคำสั่งซื้อใหม่ลดลง (3.2) การขนส่งปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย (3.3) การก่อสร้างหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 4) ภาคเหมืองแร่และเกษตรกรรม คาดการณ์ว่าจะเผชิญผลกระทบทางลบมากที่สุด โดยมูลค่ายอดขายของภาคเหมืองแร่จะลดลง -40% และภาคเกษตรกรรมจะลดลง -20% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ถึงแม้ตัวเลขดัชนีสะท้อนภาพบวก แต่ Audrey Chia ผู้บริหารระดับสูงของ SCCB มองว่า ภาพรวมของวิสาหกิจในสิงคโปร์จะยังคงไม่ฟื้นตัวเท่าใดนักในปีใหม่ 2565 นี้ เนื่องจากจากความไม่แน่นอนของ Omicron ที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกได้ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร DBS มองว่า ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 ทั้งการบิน การท่องเที่ยว บริการ และอาหารและเครื่องดื่ม จะฟื้นตัวหลังจากกลางปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่สอดคล้องกับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ที่ประเมินตัวเลข GDP ปี 2565 ว่า จะเติบโต 3.0% – 5.0%  (ต่ำกว่าปี 2564 ที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตประมาณ 7.0%)   

แหล่งที่มา: The Business Times, AFP

ข้อมูลเพิ่มเติม

การจ้างงานในสิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก Omicron เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (MOM) รายงานภาวะการว่างงาน 98,700 ตำแหน่ง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการจำกัดการเข้าเมืองซึ่งสวนทางกับความต้องการกำลังคนในภาคส่วนที่กำลังเติบโต เช่น บริการทางวิชาชีพบริการทางการเงิน ข้อมูล การสื่อสาร และบริการด้านสุขภาพและสังคม หากการกระชับนโยบายเปิดประเทศยังขยายระยะเวลาออกไปอัตราการว่างงานและการขาดแคลนบุคลากรในสิงคโปร์ก็น่าจะสูงขึ้น หนทางแก้ไขของทางการสิงคโปร์ คือ การพัฒนาเพิ่มทักษะและยกระดับบุคลากรปัจจุบัน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่าการจ้างแรงงานใหม่ ทั้งในด้านเงินเดือนและปัจจัยที่พนักงานเดิมรู้จักองค์กรดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านเป้าหมาย ค่านิยม นโยบาย และวัฒนธรรมองค์กร


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง