รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์แถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี ค.ศ. 2022 (Budget 2022)

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้ประกาศงบประมาณปี ค.ศ. 2022 (Budget 2022)1 สรุปสาระสำคัญ พร้อมข้อสังเกต ดังนี้

สรุปการนำเงินทุนสำรองมาใช้และการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล    

ตามที่ประธานาธิบดีสิงคโปร์เคยอนุมัติการนำเงินทุนสำรอง (Past Reserve) ของสิงคโปร์มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนจากโควิด-19 จำนวน 52,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์แถลงว่า หน่วยงานภาครัฐสิงคโปร์ได้นำเงินออกมาใช้รวมกันน้อยกว่าจำนวนที่ได้รับอนุมัติข้างต้น โดยนำออกมาใช้เพียง 42,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงใช้งบประมาณแบบขาดดุล 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปีงบประมาณนี้ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP เมื่อเทียบกับในปีงบประมาณ คศ. 2021 ที่ขาดดุล 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 0.9% ของ GDP      

การเสริมสร้างระบบภาษีที่ยุติธรรมและยืดหยุ่นมากขึ้น      

การปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax – GST ใกล้เคียงกับ VAT ของไทย) จาก 7% เป็น 9% โดยจะทยอยปรับขึ้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 1 มกราคม 2566 จาก 7% เป็น 8% และครั้งที่ 2 วันที่ 1 มกราคม 2567 จาก 8% เป็น 9% ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทำงบประมาณ Assurance Package วงเงิน 6,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ไว้ล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี GST ต่อประชาชนสิงคโปร์

การปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ในปี 2567 สำหรับฐานรายได้ที่สูง คือ ปรับเพิ่มจาก 22% เป็น 23% สำหรับรายได้ระหว่าง 500,000 – 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และเพิ่มจาก 22% เป็น 24% สำหรับรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และสำรวจการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) ในแบบระบบอัตราภาษีขั้นต่ำ Minimum Effective Tax Rate (METR) ซึ่ง IRAS จะปรึกษาแวดวงอุตสาหกรรม สำหรับการออกแบบ METR ต่อไป

การปรับขึ้นภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) คือ 1) ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (Property Tax) ในปี 2566 โดยอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ปรับเพิ่มเป็น 12%-36% (เพิ่มขึ้นจาก 10%-20%) และอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของครอบครอง ส่วนที่เกิน 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ปรับเพิ่มเป็น 6%-32% (เพิ่มขึ้นจาก 4%-16%) และ 2) ภาษียานพาหนะหรูหรา (Luxury Car Tax) ปรับเพิ่มค่าลงทะเบียนเพิ่มเติม (ARF) รวมถึงเพิ่มระดับ ARF ในอัตราสูงถึง 220% ในส่วนของมูลค่าตลาดที่เกินจาก 80,000 ดอลลาร์สิงคโปร์    

แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   

การปรับฐานเงินเดือนแรงงานต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 รัฐบาลสิงคโปร์จะปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับทั้ง Employment Pass (EP) และ S Pass ประเภทละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน โดย EP ทั่วไปจะปรับขึ้นจาก 4,500 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน เป็น 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน และ EP ภาคการเงิน จะปรับขึ้นเป็น 5,500 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน สำหรับบัตร S Pass ทั่วไป ปรับขึ้นจาก 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน เป็น 3,000 และ S Pass ภาคการเงิน ปรับขึ้นเป็น 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือนตามลำดับ และมีโอกาสจะปรับขึ้นอีกในช่วงปี 2566 – 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะลดโควตาการออกบัตรอนุญาตประเภท Work Permit ในภาคการก่อสร้างและ Process Sectors ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

การสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจในสิงคโปร์ 1) เพิ่มเงินสนับสนุน 600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับโครงการ Productivity Solutions Grant (PSG) เพื่อสนับสนุนโครงการ 100,000 โครงการในระยะเวลา 4 ปี

2) จัดตั้งความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เช่น Singapore Global Enterprises ที่สนับสนุนวิสาหกิจด้านนวัตกรรมและการก้าวสู่สากล Singapore Global Executive Program เพื่อดึงดูดเยาวชนที่มีความสามารถ 3) ปรับปรุงสินเชื่อเพื่อการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition -M&A Loan) ให้รวมถึง M&A สำหรับวิสาหกิจในสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2569

การพัฒนาบุคลากรสิงคโปร์ 1) พัฒนาโครงการ SkillsFuture Enterprise Credit (SFEC) เช่น เพิ่มการครอบคลุมค่าใช้จ่าย 90 % สำหรับการออกแบบงานใหม่ ๆ และการฝึกอบรมที่เข้าข่ายตามเงื่อนไข 2) จัดสรรงบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อสนับสนุนสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Trades Union Congress – NTUC) ในการขยาย Company Training Committees ซึ่งช่วยสนับสนุนพนักงานให้สามารถเพิ่มพูนทักษะและโอกาสในการทำงานมากยิ่งขึ้นผ่านการฝึกอบรม รวมทั้งเงินสนับสนุนสำหรับวิสาหกิจในการปฏิรูปองค์กร

การลงทุนในดิจิทัลและนวัตกรรม 1) เพิ่มงบประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อปรับปรุงแผนงานที่สร้างความสามารถทางดิจิทัลต่อธุรกิจและบุคลากร 2) พัฒนาศักยภาพของศูนย์การดำเนินงานด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์กร 3) ปรับปรุงแผนงานเพื่อรองรับการนำดิจิทัลโซลูชันขั้นสูงมาใช้และขยายขีดความสามารถในการฝึกอบรม ICT (Information and Communications Technology)

การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสังคม

การเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 1) ในอีก 2 ปีข้างหน้า สิงคโปร์จะขยายรูปแบบค่าจ้างที่ก้าวหน้า (Progressive Wage Model) สู่กลุ่มผู้ค้าปลีก บริการด้านอาหาร การจัดการของเสีย พนักงานทำความสะอาดบ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ผู้ดูแลระบบ และ พนักงานขับรถทั่วทุกภาคส่วน 2) การจัดสรรงบประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ช่วยเหลือวิสาหกิจผ่านโครงการ Progressive Wage Credit Scheme (PWCS) ในการร่วมจ่ายเงินค่าจ้างในปี 2565-2569 สำหรับพนักงานที่มีรายได้ถึง 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (50% ปี 65-66, 30% ปี 67-68 และ 15% ปี 69) และปี 2565-2567 สำหรับผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 2,500-3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ 3) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 สิงคโปร์จะเพิ่มรายได้ขั้นสูงแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ Workfare Income Supplement จาก 2,300 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้มีกลุ่มพนักงานที่จะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น

การสนับสนุนการเกษียณ 1) เพิ่มอัตราเงินสมทบ CPF ของพนักงานสำหรับพนักงานอายุ 55-70 ปี 2) เพิ่มจำนวนเงินเกษียณอายุขั้นพื้นฐาน (Basic Retirement Sum – BRS) 3.5% ต่อปีสำหรับผู้ที่อายุครบ 55 ปี ในปี 2566-2570 ลงทุนในเด็กและเยาวชน 1) ปรับปรุงโครงการที่สนับสนุนครอบครัวในการสร้างกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของบ้าน 2) ขยายโครงการ KidSTART ที่สนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็กสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลไปทั่วประเทศ โดยภายในปี 2566 สามารถสนับสนุนเด็ก 5,000 คน การสร้างสังคมที่มีความเอื้ออาทรและสามัคคี 1) เปิดตัวแผนแม่บท Enabling Masterplan 2030 เพื่อสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการดูแล 2) เพิ่มเงินสนับสนุน 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับภาคการกุศลผ่าน Enhanced Fund-Raising Programme เป็นเวลาสามปีจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2567

ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียว 

สิงคโปร์จะเพิ่มความมุ่งมั่นในการบรรลุการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 และจะปรับขึ้นภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) จากปัจจุบัน 5 ดอลลาร์สิงคโปร์/ตัน ปี 2567-2568 เพิ่มเป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์/ตัน ปี 2569-2570 เพิ่มเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์/ตัน และปี 2573 เพิ่มเป็น 50-85 ดอลลาร์สิงคโปร์/ตัน รวมถึงอนุญาตให้ธุรกิจที่ต้องเสียภาษีคาร์บอนใช้คาร์บอนสินเชื่อเพื่อชดเชยสูงสุด 5% ของการปล่อยมลพิษที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่ปี 2567 3) สนับสนุนแผนสิงคโปร์สีเขียว (SGP) 2030 อย่างต่อเนื่อง เช่น เพิ่มการออกพันธบัตรสีเขียวของภาครัฐเป็น 35,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ภายในปี 2573 เผยแพร่กรอบการดำเนินงานพันธบัตรสีเขียวภายในปี 2565 และเร่งการใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยเพิ่มจุดชาร์จใกล้บ้านมากขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต       

Ms. Grace Ho บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Straits Times แสดงความคิดเห็นว่า งบประมาณสิงคโปร์ นอกจากจะแสดงรายรับ รายจ่ายแล้ว แต่ยังช่วยฉายภาพของ “ความหมายของการดำรงอยู่ของสิงคโปร์ และกำหนดทิศทางของสังคมที่สิงคโปร์ควรจะเป็น” ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจขั้นต่ำสำหรับประชาชนทุกคน โดยลงทุนด้านการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายกาน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) ได้แถลงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับผลกระทบของความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน ต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ว่า เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อ (ดัชนีราคาผู้บริโภค/CPI) ของสิงคโปร์ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.5 – 3.5 หรือมากกว่านั้น ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดทำ Household Support Package เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน (คนชาติ สิงคโปร์) ทุกครัวเรือน โดย Household Support Package มีมูลค่า 560 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แบ่งเป็นการส่งบัตรสมนาคุณเพื่อใช้แทนเงินสดในการซื้ออาหารแทนเงินสด มูลค่า 400 ดอลลาร์สิงคโปร์/ครัวเรือน และการช่วยเหลือด้านค่าสาธารณูปโภค

เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง รัฐบาลสิงคโปร์ได้จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาตามโครงการ Child Development Account แก่เด็กและเยาวชนชาวสิงคโปร์ (1) โครงการ Top-up to Child Development Account (CDA) ให้เงินสนับสนุนพัฒนาการของเด็กแรกเกิด – อายุ 6 ปี มูลค่า 200 ดอลลาร์สิงคโปร์/คน โครงการ Top-up to Edusave Account ให้เงินสนับสนุนเด็ก/เยาวชน อายุระหว่าง 7 – 16 ปี มูลค่า 200 ดอลลาร์สิงคโปร์/คน และโครงการ Top-up to Post-Secondary Education Account (PSEA) สนับสนุนเงินในการพัฒนาเยาวชนชาวสิงคโปร์ อายุระหว่าง 17 – 20 ปี มูลค่า 200 ดอลลาร์สิงคโปร์/คน ด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะสนับสนุน GST Voucher และ GSTV-Cash เพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนสิงคโปร์ โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อยจากการปรับขึ้นภาษี GST ของรัฐบาลสิงคโปร์ในครั้งนี้  โดยครอบครัวคนชาติสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อยกว่า 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/ปี จะได้รับ GSTV-Cash มูลค่า 250 ดอลลาร์สิงคโปร์ (เพิ่มจากเดิม 150 ดอลลาร์สิงคโปร์)


1วาระปีงมประมาณของ Budget 2022 ระหว่างเดือนเมษายน 2565 – มีนาคม 2566


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง