การแถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของรัฐบาลสิงคโปร์ (Budget 2023)

นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้แถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของรัฐบาลสิงคโปร์ (Budget 2023) ในหัวข้อ “Moving Forward in a New Era” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นการแถลงทิศทางนโยบายในภาพรวมของรัฐบาลสิงคโปร์ในประเด็นระดับชาติและส่งผลต่อประชาชนสิงคโปร์ และต่อมาเมื่อวันที่ 15 – 24 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐสภาสิงคโปร์ได้จัดการอภิปราย Budget 2023 Debate ดังกล่าว

สาระสำคัญของการแถลง Budget 2566

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่นาย Wong ทำหน้าที่แถลงงบประมาณฯ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ และได้แสดงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนใหม่ว่าจะส่งเสริมการพัฒนาของสิงคโปร์ไปในทิศทางใด และจะดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างไร ทั้งนี้ สาระสำคัญของงบประมาณฯ ยังคงเน้นมาตรการช่วยเหลือประชาชนและการเพิ่มอัตราภาษีเพื่อเพิ่มรายได้แก่ภาครัฐ รวมทั้งการเยียวยาประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี GST (เทียบเท่าภาษี VAT ของไทย) ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนและภาคเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมาก

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของรัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการต่อภาคเอกชนและประชาชนที่สำคัญ ดังนี้

1. การให้เงินช่วยเหลือประชาชน ประชาชนในสิงคโปร์กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงและผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 (และในปี 2567 จะขึ้นเป็นร้อยละ 9) รัฐบาลสิงคโปร์จึงจัดสรร งบประมาณเพื่อช่วยเหลือ ได้แก่ (1) ให้เงินสดแก่ประชาชนวัยทำงานถึงวัยเกษียณ โดยคำนวณสิทธิ์ตามเงินเดือน แบ่งเป็นกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 21 – 54 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดคนละ 1,700 ดอลลาร์สิงคโปร์ และกลุ่มผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดคนละ 2,300 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2) เงินประกันสุขภาพเพิ่มเติม (MediSave) ให้กลุ่มเด็กและเยาวชน (แรกเกิด – 20 ปี) คนละ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ และกลุ่มผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป คนละ 150 – 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ (3) เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของเด็กเพิ่มเติม คนละ 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ (4) บัญชีเงินออมเพื่อการศึกษาเด็กและเยาวชนเพิ่มเติม คนละ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังมีการให้บัตรสมนาคุณ (CDC vouchers) ครัวเรือนละ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อใช้ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคแทนเงินสด

2. การสนับสนุนธุรกิจเอกชนในสิงคโปร์ โดยให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณรวมกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งในรูปแบบเงินทุนสนับสนุน เงินกู้ที่ภาครัฐช่วยแบ่งปันความเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 70 การร่วมลงทุนจากภาครัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมให้บริษัทสิงคโปร์ก้าวสู่ตลาดโลก สนับสนุนการเติบโตของ SMEs สนับสนุนและดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ และพัฒนานวัตกรรมในภาคธุรกิจของสิงคโปร์ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

3. การช่วยเหลือแรงงานชาวสิงคโปร์ เน้นเรื่องการเพิ่มค่าแรงและการพัฒนาทักษะแรงงานของชาวสิงคโปร์ เป็นหลัก โดยจัดสรรงบประมาณ. 2,400 ล้านดออลาร์สิงคโปร์ เพื่อจ่ายเงินสมทบในการเพิ่มค่าแรงแก่ผู้มีรายได้น้อย การร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมแม่นยำ การค้าปลีก และการค้าส่ง การให้เงินอุดหนุนแก่แรงงานสูงอายุ และการให้ Employment Credit แก่นายจ้างที่จ้างงานผู้พิการและผู้เคยต้องโทษอาญา

4. การสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์สร้างครอบครัว มีบุตร และมีบ้าน โดยให้เงินอุดหนุนครอบครัวที่มีบุตรใหม่ คนละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ การให้เงินฝากแก่เด็ก 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ การจ่ายเงินเดือนในช่วงการลาคลอดบุตรให้บิดา 2 สัปดาห์ (และเพิ่มเป็น 4 สัปดาห์ในปี 2567) ให้เงินสนับสนุนมารดาที่คลอดบุตรหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับบุตรคนที่ 1 จำนวน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ บุตรคนที่ 2 จำนวน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และบุตรคนที่ 3 จำนวน 12,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มวันหยุดโดยไม่ได้รับเงินเดือนแก่ผู้มีบุตรอายุต่ำกว่า 2 ปี จาก 6 เป็น 12 วันต่อปี การให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับการจ้างแม่บ้านต่างชาติเพื่อดูแลเด็ก รวมถึงการสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์มีบ้านหลังแรก และการเพิ่มเพดานการนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund – CPF) มาใช้ในการซื้อบ้านหลังแรกที่เป็นบ้านของการเคหะสิงคโปร์

5. การให้ความช่วยเหลือและสร้างหลักประกันชีวิต ให้แก่ (1) ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ผ่านการส่งเสริมพัฒนาการเชิงบวกของเด็ก และการให้บริการทางสังคมในด้านต่างๆ ที่จำเป็น (2) การดูแลผู้สูงอายุ โดยเพิ่มงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3) เพิ่มรายได้หลังเกษียณที่ได้รับจากกองทุน CPF โดยให้ได้รับเงินขั้นต่ำ 350 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ผ่านการเพิ่มเงินสมทบในช่วงวัยทำงาน โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะให้เงินอุดหนุนช่วงเปลี่ยนผ่านแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับสูตรการคำนวณเงินสมทบ

6. การสร้างความยืดหยุ่นในสังคม รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนการบริจาคของผู้มีรายได้สูงสู่ผู้มีรายได้น้อยอีกร้อยละ 250 ภายในปี 2569 รวมทั้งทบทวนแนวทางและเกณฑ์การพิจารณาเรื่องค่าจ้างในภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาและดึงดูดแรงงานหัวกะทิในสิงคโปร์ นอกจากนี้ เนื่องจากสิงคโปร์กำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด รัฐบาลสิงคโปร์ จึงจัดสรรงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ให้บริการ community care แก่ผู้สูงอายุ

7. การเพิ่มอัตราภาษีและอากร 4 ประเภท ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะเริ่มบังคับใช้ข้อริเริ่ม Base Erosion and Profit Shifting Initiative ระยะที่ 2 (BEPS 2.0) กับบรรษัทข้ามชาติเพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีและโอนกำไรไปต่างประเทศ (2) ภาษีรถยนต์ โดยจะเก็บค่าการจดทะเบียนรถยนต์หรูเพิ่มขึ้น โดยเก็บสูงสุดที่ร้อยละ 320 (3) การขึ้นอากรแสตมป์การซื้อที่ดินที่มีมูลค่าสูง โดยที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยที่มีมูลค่าเกิน 3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จะถูกเก็บภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 6 และการซื้อที่ดินประเภทอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จะถูกเก็บภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 5 และ (4) อากรยาสูบ (Tobacco Excise Duty) จะถูกปรับขึ้นอีกร้อยละ 15

โครงสร้าง Budget 2023 (ปีงบประมาณของสิงคโปร์ คือ 1 เมษายน ปีปัจจุบัน – 31 มีนาคม ปีถัดไป)

งบประมาณรายจ่ายประจำของสิงคโปร์ในปีนี้มีจำนวน 104,150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 78,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจะดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล 400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (งบประมาณปี 2565 ขาดดุลประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) โดยรัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันจะไม่นำเงินทุนสำรองของประเทศ (past reserves) มาใช้

งบประมาณรายจ่ายแบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่ (1) การพัฒนาสังคม (กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สารสนเทศและวัฒนธรรม การพัฒนา และความยั่งยืน) ร้อยละ 43 แผนงานสำคัญ อาทิ การสร้างโรงพยาบาลและสถานศึกษาใหม่ (2) ความมั่นคงและการต่างประเทศ (กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย) ร้อยละ 22 โดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านอาชญากรรม การก่อการร้าย และภัยที่อาจกระทบต่อ เศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนา NS Square เป็นอัฒจันทร์สำหรับพาเหรดงานวันชาติบริเวณอ่าวมารีนา (3) การพัฒนา เศรษฐกิจ (กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม และ MTI) ร้อยละ 17 ซึ่งรวมถึงโครงการใหญ่ ๆ เช่น การพัฒนาท่าเรือ Tuas และอาคารผู้โดยสาร 5 ของท่าอากาศยานชางงี (4) เงินช่วยเหลือพิเศษร้อยละ 16 เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน และ (5) ค่าใช้จ่ายในการบริหารราชการแผ่นดิน (สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงกฎหมาย รัฐสภา ฯลฯ) ร้อยละ 2 – 3

กระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ (1) กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ 18,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2) กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ 16,900 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3) กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ 14,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ (4) กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ 12,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด คือ กระทรวงกฎหมาย 300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ 523.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

แหล่งรายได้ของภาครัฐสิงคโปร์ ปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะมีรายได้รวม 96,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มาจาก (1) ผลตอบแทนการลงทุนด้วยเงินทุนสำรองของประเทศ  (Net Investment Returns Contribution – NIRC) ร้อยละ 20 (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) ร้อยละ 20 (3) ภาษี GST ร้อยละ 14 (4) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร้อยละ 14 และ (5) รายได้อื่น ๆ ร้อยละ 32 เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม อากร ค่าปรับ ฯลฯ

บทวิเคราะห์ Budget 2023 กับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระดับชาติของสิงคโปร์

การจัดทำงบประมาณของสิงคโปร์ในปีนี้เน้นแก้ไขปัญหาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและสังคมสิงคโปร์ ได้แก่ (1) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดและอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (2) ปัญหารายจ่ายด้านสาธารณสุขจากการขยายตัวของประชากรสูงอายุ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 – 20 ของงบประมาณ (3) ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจไม่ชะลอการขึ้นภาษี GST เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (4) ปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นอย่างยิ่ง สร้างความเครียดและความกดดันแก่ประชาชนที่เริ่มหมดหวังในการออมเงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรก และ (5) ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้

เนื่องจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงมุ่งมั่นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของภาครัฐและการเพิ่มพูนศักยภาพของภาคเอกชนและประชาชนให้สามารถรับมือกับภาวะวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคตได้ ซึ่งรวมถึงการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บสินค้า อาหาร และพลังงานเพื่อไว้ใช้ในยามวิกฤต นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ ยังคงมุ่งมั่นการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2573 และการสร้างกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะพยายามจัดทำงบประมาณให้ตอบสนองปัญหาเชิงโครงสร้างในปัจจุบันและเตรียมการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต แต่ก็ยังคงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแก้ไขปัญหาจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ อาทิ การเพิ่มเพดานเงินสมทบต่อเดือนใน CPF เป็นเพียงการผลักภาระการออมเงินเพื่อยามเกษียณให้ประชาชนหรือไม่ การหารายได้ผ่านการเก็บภาษีเพิ่ม โดยเฉพาะ GST เป็นการซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้แย่ลงหรือไม่ การเก็บอากรแสตมป์ที่ดินเพิ่มจะช่วยชะลอราคาอสังหาริมทรัพย์จากนักเก็งกำไร หรือกลับจะยิ่งทำให้ชาวสิงคโปร์หมดหวังในการซื้อบ้านไปกว่าเดิม

ในช่วงอภิปรายงบประมาณในรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านของสิงคโปร์ (Worker’s Party – WP) ได้ตั้งกระทู้ถามที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) รัฐบาลสิงคโปร์เก็บภาษีมากขึ้นแต่ตอบแทนคืนสู่ประชาชนน้อยเกินไปหรือไม่ (2) มาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนและแรงงานน้อยไปหรือไม่ (3) มาตรการช่วยเหลือชาวสิงคโปร์ และครัวเรือนเพียงพอแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี Wong ได้แถลงสรุปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณในปีนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้คิดอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนแล้ว โดยเปรียบเทียบกับเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ซึ่งมีมาตรการนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากกว่าสิงคโปร์หลายเท่า

สื่อมวลชนและนักวิชาการในสิงคโปร์ ได้แสดงความเห็นต่องบประมาณอย่างกว้างขวาง โดยเน้นเรื่องมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนและเยียวยาประชาชน เช่น นาง Grace Ho รองบรรณาธิการข่าวของสำนักข่าว Straits Times (ST) เห็นว่า มาตรการส่งเสริมการมีบุตรไม่น่าจะเป็นปัจจัย (game changer) ที่ช่วยเปลี่ยนใจให้ประชาชนอยากมีบุตร ในขณะที่นาง Chua Mui Hoong ผู้ช่วยบรรณาธิการของ ST เห็นว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับนโยบายการส่งเสริมการมีบุตร อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่มีท่าทีสนับสนุนและเชื่อมั่นการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

งบประมาณประจำปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ที่ รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยเปลี่ยนหัวข้อหลักจากการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่รระบาดของโควิด-19 มาเป็นการสร้าง cushion ให้ประชาชนที่เผชิญความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการขึ้นภาษี GST เป็นร้อยละ 8 (และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 9 ในวันที่ 1 มกราคม 2567)                   

รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับ R&D โดยตั้งงบประมาณสนับสนุน R&D คิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP โดยเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าไทย ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ร้อยละ 1.0


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง