รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1/2565 และแนวโน้มในช่วงต่อไป

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1/2565 โดยไม่เปลี่ยนประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ตลอดปี 2565 ร้อยละ 3 – 5

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1/2565

การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 1/2565 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.7 แบบ Year-on-Year (YoY) และร้อยละ 0.7 แบบ Quarter-on-Quarter (QoQ) ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ชะลอตัวลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 แบบ YoY และร้อยละ 2.3 แบบ QoQ 

อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 4 อันดับแรก ได้แก่

(1) อสังหาริมทรัพย์ เติบโตร้อยละ 8.5 แบบ YoY และร้อยละ 7.1 แบบ QoQ (ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงเติบโตเร็วและเงินเฟ้อสูง) (2) สารสนเทศและการสื่อสาร ขยายตัวร้อยละ 8.2 แบบ YoY จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคสำหรับบริการดิจิทัล (3) บริการระดับมืออาชีพ ขยายตัวร้อยละ 8.1 แบบ YoY โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ บริการและวิเคราะห์ทางเทคนิค สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และกลุ่มบัญชี ซึ่งได้รับประโยชจากการผ่อนคลายการเข้าเมืองตามมาตรการ Vaccinated Travel Framework (VTF) และ (4) อุตสาหกรรมการผลิต เติบโตร้อยละ 7.1 แบบ YoY แต่หดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.2 แบบ QoQ โดยการผลิตขั้นสูง (Advanced Manufacturing) ยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดใน GDP สิงคโปร์ (ประมาณร้อยละ 30) โดยได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การขนส่ง การผลิตทั่วไป และวิศวกรรมความแม่นยำสูง

อุตสาหกรรมที่ยังคงไม่ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1/2565 ได้แก่ โรงแรมที่พัก หดตัวร้อยละ -13.5 แบบ YOY จากการหดตัวร้อยละ -5.1 ในไตรมาสที่ 4/2564 และหดตัวร้อยละ -23.9 แบบ QoQ จากการหดตัวร้อยละ -0.2 ในไตรมาสที่ 4/2564 เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ยกเลิกนโยบายกักตัว (SDFs) และเพิ่งเปิดประเทศอย่างยิ่งในเดือนเมษายน 2565

สิงคโปร์กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้ออย่างยิ่ง จากข้อมูลธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อหลักเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 เมื่อเดือน มีนาคม 2565 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าอาหาร ค้าปลีก ค่าไฟฟ้าและก๊าซ อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI All Items) เดือนมีนาคม – เมษายน 2565  ร้อยละ 5.4 ซึ่งสูดสุดในรอบ 10 ปี (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555) ทั้งนี้ MAS ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลักสำหรับปี 2565 ประมาณร้อยละ 2.5 – 3.5 และประมาณการ CPI All Items ร้อยละ 4.5 – 5.5 

เดือนมีนาคม 2565 สิงคโปร์มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในเดือนธันวาคม 2564

แนวโน้มทางเศรษฐกิจสำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2565

MTI ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP สิงคโปร์ปี 2565 ที่ร้อยละ 3 – 5 แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และการปิดเมืองของจีน การเติบโตน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งล่างของตัวเลขประมาณการดังกล่าว 

ปัจจัยระหว่างประเทศและความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงต้นปีนี้เติบโตช้าลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2564 แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ภาคธุรกิจที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เช่น 1) กลุ่มเคมีภัณฑ์และเชื้อเพลิงของภาคการค้าส่งได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เนื่องจากจีนเป็นตลาดหลักที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์จากสิงคโปร์ และ 2) การขนส่งทางน้ำจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ และความแออัดของท่าเรือทั่วโลก (สิงคโปร์ขายน้ำมันดิบสำหรับเรือสินค้าได้น้อยลงจากการปิดนครเซี่ยงไฮ้ของจีนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม 2565) 

สิงคโปร์สามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ Omicron ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่สูง ทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุขและมาตรการเข้าเมืองได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของภาคการบินและการท่องเที่ยว ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งรวมถึงการขนส่งทางอากาศ อุตสาหกรรมศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ ธุรกิจบริการ การค้าปลีก-ส่ง และบริการอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอุตสาหกรรมบริการก็น่าจะบรรเทาลงด้วย

การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคที่สำคัญ

MTI สิงคโปร์ ประเมินว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย น่าจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ จากการบรรเทาลงของภาวะโรคระบาดและการผ่อนปรนของมาตรการสาธารณสุขภายในประเทศและการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุด ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะสั้น รวมทั้งส่งผลให้ต่างประเทศย้ายฐานลงทุนออกจากจีนมากขึ้น  

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ การเติบโตของ GDP น่าจะอยู่ในระดับปานกลาง ภาคแรงงานจะแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการบริโภค แต่การที่ห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง อาจสร้างข้อจำกัดต่อการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในปีนี้ ด้าน EU MTI สิงคโปร์คาดว่าเศรษฐกิจ EU จะชะลอตัวลง เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและปัญหาคอขวดของอุปทานที่รุนแรงขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินปัจจัยเชิงบวกของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสต่อไป คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบิน และการจ้างแรงงานต่างชาติ จะช่วยกระตุ้นให้ภาคการบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ สิงคโปร์ยังคงเฝ้าระวัง ได้แก่ ผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานและอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไป รวมถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ยังคงไม่นิ่งนอนใจ ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างฉับพลันเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ อาจทำให้ระบบการเงินและตลาดปรับตัวไม่ทัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพและความยั่งยืนของระบบการเงินโลกในระยะต่อไปด้วย 


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง