สถานการณ์ตลาดแรงงานในสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 และแนวโน้มในช่วงต่อไป

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้เผยแพร่รายงาน Labour Market Report ไตรมาสที่ 2 และ Labour Market Advance Release ไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2022 ระบุว่า ภาพรวมตลาดการจ้างงานในสิงคโปร์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการหดตัวของเศรษฐกิจ จากสถิติ ณ เดือนกันยายน 2565 อัตราการจ้างงานเติบโตสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ร้อยละ 1.7 แม้อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และมีการปลดพนักงานเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รายงานสถานการณ์แรงงานในสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565

ภาพรวมตลาดแรงงานของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 2/2565 เติบโตได้ดี การจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวม 66,500 อัตรา (ไม่รวมพนักงานทำความสะอาดบ้าน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานคนต่างชาติ ณ เดือนมิถุนายน 2565 สิงคโปร์มีอัตราการจ้างคนต่างชาติถึงร้อยละ 90 ของช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากมาตรการการเปิดประเทศของสิงคโปร์ และกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ประกาศผ่อนคลายมาตรการออกบัตรอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างชาติ

ต่อในไตรมาสที่ 3/2565 ตลาดแรงงานของสิงคโปร์ยังคงขยายตัวค่อนข้างดี การจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น 75,600 อัตรา และการจ้างงานคนต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกลับไปเท่าที่ระดับก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างและภาคการผลิต ส่วนการจ้างงาน PR เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะในธุรกิจด้านสารสนเทศและการสื่อสาร การบริการระดับมืออาชีพ และการบริการทางการเงิน

อัตราการว่างงานโดยรวมลดลงต่อเนื่องและทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยการว่างงานลดลงต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ร้อยละ 1.9 โดยอัตราการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์และ PR ณ เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 และ 2.9 ตามลำดับ

การปลดพนักงานและยุติสัญญาจ้างลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดในไตรมาสที่ 2/2565 รวม 830 อัตรา (0.5 คน ต่อ พนักงาน 1,000 คน) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติและบรรษัทด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และเอเชีย เช่น Meta และ Shopee ประกาศปลดพนักงานทั่วโลก จึงส่งผลโดยตรงต่ออัตราการยุติการจ้างงานในสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 อัตรา (หรือ 2 เท่า) ในไตรมาสที่ 3/2565 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องมาจากการยกเลิกสายการผลิตสินค้าบางชนิด และด้านการบริการ ซึ่งรวมถึงบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่ต้องการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่

อัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน ที่จำนวน 126,100 อัตรา โดยมีอัตราการเปิดรับสมัครงานต่ออัตราผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 2.42 ในไตรมาสที่ 1/2565 เป็นร้อยละ 2.53 ในช่วงกลางปี 2565 ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครส่วนใหญ่ยังเป็นงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการผลิต บริการด้านสารสนเทศและการสื่อสาร การเงิน และการบริการระดับมืออาชีพ

แนวโน้มตลาดแรงงานสิงคโปร์ในช่วงต่อไป

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ประเมินว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 ภาคการท่องเที่ยวและด้านที่เกี่ยวกับการบริโภคจะยังคงเติบโตอย่างยิ่ง ทำให้การจ้างงาน โดยเฉพาะตำแหน่งงานชั่วคราวในช่วงเทศกาลสิ้นปีในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตน่าจะลดลง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าในตลาดโลกลดลง ทั้งนี้ อัตราการจ้างงานคนต่างชาติในสิงคโปร์จะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ประเมินว่า สิงคโปร์มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในตลาดแรงงาน โดยเกิดวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน (wage-price spiral) กล่าวคือ ภาวะเงินเฟ้อที่ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่พนักงานหรือลูกจ้างยังมีกำลังซื้อเท่าเดิมแม้ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้ภาคเอกชนขึ้นค่าจ้างด้วยความรอบคอบ โดยคำนึงถึงระดับการเพิ่มพูนทักษะและผลิตภาพของพนักงานเป็นสำคัญ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า เป็นมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา Cost-push Inflation ในสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเรื่องการจ้างงานคนชาติสิงคโปร์ เช่น (1) Job Growth Incentive สนับสนุนเงินเดือนพนักงาน แก่นายจ้างที่จ้างบุคคลกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่ว่างงานมายาวนาน ผู้ทุพพลภาพ และผู้เคยต้องโทษในคดีต่าง ๆ (2) โครงการ SGUnited Mid-Career Pathways ให้เงินช่วยเหลือแก่นายจ้าง เพื่อจ้างพนักงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ/สายงาน สูงสุด 3,800 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน ต่อพนักงาน 1 คน ในช่วงทดลองงาน (3) โครงการ Productivity Solutions Grant for Job Redesign เพื่อออกแบบการจ้างงานที่เน้นการเพิ่มผลิตภาพ และ (4) บริการจับคู่นายจ้างกับลูกจ้างที่มีคุณสมบัติ/ความต้องการตรงกัน ผ่านองค์กร Workforce Singapore และ NTUC รวมทั้งพันธมิตรอื่น ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม/ ข้อสังเกต

ตลาดแรงงานในสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงาน (retrench) ของบรรษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการปรับโครงสร้างองค์กรและลดต้นทุน เช่น (1) บริษัท Shopee ปลดพนักงาน 2 ครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนและกันยายน 2565 จำนวนร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด (2) บริษัท Twitter ได้ประกาศปลดพนักงาน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 รวม 3,700 อัตราทั่วโลก หรือร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในสิงคโปร์ และ (3) บริษัท Meta ปลดพนักงาน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 รวม 11,000 อัตราทั่วโลก หรือร้อยละ 13 ของ พนักงานทั้งหมด ซึ่งเป็นพนักงานในสิงคโปร์ 50 อัตรา ในขณะที่บริษัท Apple และบริษัท Amazon ประกาศลดอัตราการจ้างงานเพิ่มเติม (headcount freeze)

สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า ปัญหา wage-price spiral ในสิงคโปร์ เริ่มส่งผลอย่างเห็นได้ชัดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยราคาค่าเช่าที่พักของย่านธุรกิจและในตัวเมืองสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 30 – 70 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้อัตราการจ้างงานคนต่างชาติชะลอตัวลง หากราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยยังคงสูงขึ้นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ในภาคบริการทางการเงิน ยังคงมีการจ้างงานแรงงานจากต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานที่อพยพจากฮ่องกงมายังสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงเดินหน้าการปรับขึ้นอัตราภาษี GST (เทียบเท่า VAT ของไทย) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือคนชาติสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะนำเสนอบทความในรายละเอียดต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง