ภาพแห่งอนาคต: สำรวจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 2030

สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การวางแผนระยะยาวเพื่อใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น รัฐบาลสิงคโปร์แสดงวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสมดุลในการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างสังคมเมืองที่มีชีวิตชีวาและยั่งยืน ผสมผสานการทำงาน การศึกษา การใช้ชีวิต และการพักผ่อนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทั่วเกาะสิงคโปร์ จำนวน 11 โครงการ ซึ่งบางโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2030 ทำให้มองเห็นภาพแห่งอนาคตอันใกล้ว่า ในทศวรรษข้างหน้า สิงคโปร์จะพัฒนาไปเป็นเช่นไร สรุปรายละเอียด ดังนี้

1. เขตชางงี (Changi region): สร้างระบบนิเวศเพื่อ “พักอาศัย-ทำงาน-พักผ่อน-เรียนรู้” ที่มีชีวิตชีวารอบสนามบิน

แผนพัฒนาเขตชางงีมุ่งเน้นพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ (1) นิคมการบินชางงี (Changi Aviation Park) จะขยายอุทยานการบินที่มีอยู่เพื่อพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมชางงีตะวันออก รองรับภาคเศรษฐกิจและธุรกิจด้านการบินใหม่ ๆ รวมทั้งขยายสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าให้สามารถจัดการสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 – 5.4 ล้านตันต่อปี (2) การสร้างเมืองชางงี เขตริมน้ำแห่งใหม่ทางตอนใต้ของสนามบินจะเชื่อมโยงกับเขตเมืองชางงีตะวันออก โดยก่อสร้างสำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวกในการประชุม โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ การวิจัยและพัฒนาด้านการบินขององค์กร/ธุรกิจโลจิสติกส์ในนิคมธุรกิจชางงี (Changi Business Park) และ (3) อาคารผู้โดยสาร 5 ของท่าอากาศยานชางงี ถูกเลื่อนการก่อสร้างจากปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุด สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 50 ล้านคนต่อปี ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางการบินและการเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์ในภูมิภาค

แหล่งที่มา: Urban Redevelopment Authority
(https://www.ura.gov.sg/Corporate/Planning/Master-Plan/Urban-Transformations/Changi-Region)

2. Greater Southern Waterfront: ย่านที่พักอาศัย การพาณิชย์ และพักผ่อนหย่อนใจตามแนวชายฝั่งตอนใต้

ตลอดแนวชายฝั่งตอนใต้ของสิงคโปร์ความยาวกว่า 30 กิโลเมตร จาก Pasir Panjang ไปยัง Marina East จะสร้าง 1) ที่อยู่อาศัยประมาณ 9,000 ยูนิตและทางเดินเล่นริมน้ำที่ต่อเนื่องด้วยพื้นที่สีเขียวเปิดโล่ง 2) การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority – PSA) จะย้ายท่าเรือในปัจจุบันซึ่งอยู่ในเขต Tanjong Pagar, Keppel และ Brani ไปรวมกันที่ท่าเรือ Tuas ภายในปี 2570 และจะย้ายท่าเรือ Pasir Panjang ไปสมทบใน Tuas ภายในปี 2583 ทำให้เกิดพื้นที่ว่างขนาด 2,000 เฮกตาร์ (ใหญ่เป็นสองเท่าของย่าน Punggol) ในเขตท่าเรือในเมืองเดิม ดังนั้น โรงไฟฟ้าเก่า 2 แห่งใน Pasir Panjang จะถูกนำมาปรับใช้ใหม่ สร้างสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่บน Pulau Brani ใกล้กับเกาะ Sentosa และอาจรวมถึงการสร้างรีสอร์ท NTUC Downtown South แห่งใหม่ด้วย

3. จัตุรัส NS Square: พื้นที่ถาวรสำหรับกิจกรรมระดับชาติขนาดใหญ่

สิงคโปร์จะสร้างจัตุรัส NS Square เพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่าทหารของชาติ โดยแทนที่แท่นลอยน้ำ Marina Bay คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 จัตุรัสแห่งนี้จะใช้เป็นสถานที่จัดขบวนพาเหรดวันชาติ กิจกรรม
ขนาดใหญ่ เช่น คอนเสิร์ต การแสดง การแข่งขันกีฬา โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาของชุมชน เช่น สระว่ายน้ำ และศูนย์กีฬาทางน้ำ ตลอดจนเส้นทางเดินเล่นริมน้ำแห่งใหม่ที่จะปรับปรุงการเชื่อมต่อทางเท้าเป็นวงรอบอ่าว Marina รวมถึงร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม

4. อนุสรณ์สถานกลุ่มผู้สร้างชาติ (Founders’ Memorial): พื้นที่เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บุกเบิกสิงคโปร์

อนุสรณ์สถานกลุ่มผู้สร้างชาติมีพื้นที่ขนาด 5 เฮกตาร์ ใน Bay East Garden โดยจะมีห้องชมวิว ทะเลสาบ เส้นทางเดินป่า และอัฒจันทร์ ซึ่งเหมาะสำหรับการพบปะสังสรรค์ขนาดใหญ่ ในอนุสรณ์สถานจะมีสิ่งประดิษฐ์และเรื่องราวที่รวบรวมจากชาวสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศ งานก่อสร้างจะเริ่มในปี 2565 นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2570 บนสถานีรถไฟฟ้า Founders’ Memorial MRT ในเส้นทาง Thomson-East Coast

5. ท่าเรือ Tuas Mega Port: หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการเดินเรือของสิงคโปร์   

สิงคโปร์กำลังก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ในเมือง Tuas ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,400 เฮกตาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นท่าเรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จในปี 2583 การก่อสร้างจะแบ่งเป็น 4 เฟส โดยเฟสที่ 1 เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ท่าเรือจะรวมคุณลักษณะต่างๆ เช่น ท่าเทียบเรืออัตโนมัติ ยานพาหนะนำทางอัตโนมัติแบบใช้ไฟฟ้า โดยจะสามารถรองรับสินค้าได้ถึง 65 TEUs ต่อปี  

6. อดีตฐานทัพอากาศ Paya Lebar: เมืองใหม่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำนักงานการพัฒนาเขตเมือง (Urban Redevelopment Authority) สิงคโปร์จะพัฒนาเขตเมืองใหม่
บนที่ดินประมาณ 800 เฮกตาร์ แทนที่ฐานทัพอากาศ Paya Lebar ซึ่งจะย้ายไปอยู่ที่เขต Tengah ในปี 2573
โดยการพัฒนาเมืองใหม่นี้จะสร้างจากเอกลักษณ์ของพื้นที่เดิมที่เป็นสนามบินทหารและฐานทัพอากาศเดิม เช่น
การดัดแปลงอาคารการบินและทางขึ้นของเครื่องบินบางส่วนเป็นศูนย์อนุรักษ์มรดกด้านการบินทหาร เป็นต้น

แหล่งที่มา: Urban Redevelopment Authority
(https://www.ura.gov.sg/Corporate/Planning/Master-Plan/Urban-Transformations/Paya-Lebar-Airbase)

7. Punggol Digital District: ย่านอัจฉริยะที่ผสมผสานอุตสาหกรรมและวิชาการ 

เขตดิจิทัล Punggol บนพื้นที่ 50 เฮกตาร์ จะเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลักของเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น
บริษัทรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญรวมถึงเขตธุรกิจ JTC Corporation และวิทยาเขตใหม่ของ Singapore Institute of Technology ในเขตดิจิทัลแห่งนี้มีจุดเด่นคือการแสดงให้เห็นว่าแผนงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยสร้างเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนได้อย่างไร เช่น การจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการในหน่วยย่อยระดับเขตในสิงคโปร์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด รวมถึงศูนย์กลางโลจิสติกส์และระบบระบายความร้อน ทั้งนี้ เขตดิจิทัล Punggol จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองในเขตต่าง ๆ ของสิงคโปร์ต่อไปในอนาคต รวมถึงเขต Tengah และเขต Jurong Lake

8. ทางเดิน-วิ่งบนรถไฟสายเก่า (Rail Corridor): เส้นทางสีเขียวเหนือจรดใต้ 

เส้นทางรถไฟสายเก่าความยาว 24 กิโลเมตร จากเหนือจรดใต้ของสิงคโปร์ เชื่อมโยงพื้นที่ Woodlands North Coast และพื้นที่ Greater Southern Waterfront ได้ถูกปรับเป็นเส้นทางเดินพักผ่อน ออกกำลังกาย ซึ่งตั้งแต่สิ้นปี 2564 ทางเดินส่วนใหญ่ได้เปิดให้บริการ รวมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สวนสาธารณะ ฟาร์มในเมือง บางส่วนของทางเดินอยู่ในระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาขื้นใหม่ การปฏิรูปสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น สถานีรถไฟ Bukit Timah และ Railway Station Staff Quarters จะแล้วเสร็จในปี 2565

9. ศูนย์ภูมิภาค Woodlands Regional Centre: ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของสิงคโปร์

ในอีก 15 ปีข้างหน้า ศูนย์ภูมิภาค Woodlands จะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมและแหล่งการวิจัยและพัฒนา การเรียนรู้ และนวัตกรรม โดยจะเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีเกษตรทางภาคเหนือ (Northern Agri-Tech) และระเบียงอาหาร (Food Corridor) ของสิงคโปร์ รวมถึงโครงการการพัฒนาเขตนิเวศวิทยา Sungei-Kadut Eco-District และนิคมนวัตกรรมด้านอาหารและการเกษตรในเขต Kranji นอกจากนี้ เขต Woodlands เหนือจะพัฒนาย่านริมน้ำให้เป็นเขตที่พักอาศัยและสำนักงานทางตอนเหนือของสิงคโปร์ด้วย  สำหรับเขต Woodlands กลางจะพัฒนาแบบผสมผสาน โดยมีที่อยู่อาศัย สำนักงาน ร้านค้าปลีกที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟใต้ดินในเส้นทาง Thomson-East Coast โดยมีทางเท้าเชื่อมต่อระหว่างกันภายในเขต Woodlands กลางและเหนือด้วย

10. เขตทะเลสาบ Jurong Lake District: ย่านศูนย์กลางธุรกิจแห่งที่สองของสิงคโปร์

ในด้านตะวันตก สิงคโปร์มีแผนจะพัฒนาเขต Jurong Lake District ขนาด 360 เฮกตาร์ ให้เป็นย่านธุรกิจแบบผสมผสานที่ใหญ่ที่สุดเพิ่มเติมจากเขต CBD ซึ่งมีโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากอยู่โดยรอบ เพื่อให้ผู้คนสามารถทำงานใกล้บ้านมากขึ้น อีกทั้งยังได้วางแผนจัดทำสถานที่พักผ่อนหย่อนใจรอบทะเลสาบ Jurong โดยจะมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมแพลตฟอร์มการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมถึงแบบจำลองที่ช่วยให้นักวางแผนสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของการพัฒนาเมืองต่อความร้อนในพื้นที่กลางแจ้ง และปรับเปลี่ยนผังเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ต่อไป

11. ทางเชื่อมเหนือ-ใต้ (North-South Corridor): ทางหลวงที่เชื่อมระหว่างตอนเหนือของสิงคโปร์กับตัวเมือง

ทางด่วนระยะทาง 21.5 กิโลเมตร ซึ่งเดิมตั้งใจให้เป็นทางหลวงสำหรับยานพาหนะ แต่ภายหลังได้รวมช่องทางเดินรถประจำทาง เส้นทางปั่นจักรยาน และทางเท้า กลายเป็นเส้นทางคมนาคมแบบบูรณาการแห่งแรกของสิงคโปร์ เมื่อทางด่วนเหนือ-ใต้สร้างเสร็จในปี 2570 จะช่วยให้การเดินทางโดยรถประจำทางจากเขตต่าง ๆ ในภาคเหนือ เช่น Woodlands Sembawang และ Ang Mo Kio ไปยังใจกลางเมืองใช้เวลาสั้นลง 10 – 15 นาที รวมทั้งช่วยบรรเทาการจราจรบนทางด่วนและถนนสายหลัก เช่น ถนน Thomson ถนน Marymount ขณะเดียวกันเส้นทางปั่นจักรยาน
และทางเดินเท้าจะเชื่อมต่อสวนสาธารณะ (park connector network) และเขตพักอาศัย HDB อย่างเป็นระบบ

แหล่งที่มา: Land Transport Authority
(https://www.lta.gov.sg/content/ltagov/en.html)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ             

เรื่องราวของการวางผังเมืองในสิงคโปร์เริ่มต้นมากว่าครึ่งศตวรรษ (สิงคโปร์ประกาศเอกราชเมื่อปี 2508) นายลี กวน ยู (H.E. Mr. Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และรัฐบุรุษผู้สร้างชาติสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ว่า “เราสร้างสิงคโปร์จากศูนย์ จากผืนดินโคลน สิบปีต่อจากนี้เราจะสร้างมหานคร ขอจงอย่ากลัว! (“We made this country from nothing, from mudflats! Ten years from now, this will be a metropolis. Never fear!”) ซึ่งประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์หนทางการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ว่า ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรแห่งนี้สามารถพัฒนาเมืองได้ตามที่ตั้งใจภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เมื่อกล่าวถึงเมืองที่มีการวางแผนที่ดีที่สุดในโลก สิงคโปร์มักจะติดอันดับต้น ๆ ด้วยเสมอ

การศึกษาแผนการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ โดยเฉพาะเขตธุรกิจและเขตดิจิทัลใหม่ ๆ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงทิศทางและแนวโน้มการขยายตัวของเขตเมือง และพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนประเภทต่าง ๆ
เช่น การพัฒนาเขต Jurong Lake District ให้เป็นใจกลางธุรกิจ (CBD) แห่งที่สอง เขตดิจิทัลในย่าน Punggol และนิคมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ในย่าน Woodlands ที่เน้นด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ตลอดจนการพัฒนาเขตอากาศยานเพื่อเป็นศูนย์กลางการบิน และการพัฒนาท่าเรืออัตโนมัติขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาร่วมทุนและลงทุนในสาขาต่าง ๆ ในประเทศจิ๋วแต่แจ๋วแห่งนี้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง