สิงคโปร์กับการเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า สิงคโปร์พยายามพัฒนาบทบาทนำที่จะเป็นศูนย์กลาง “การลงทุน” ด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนของภูมิภาค แม้ว่าสิงคโปร์จะมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานน้ำจากเขื่อน พลังงานลม พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และพลังงานใต้พิภพ แต่สิงคโปร์ก็พัฒนาระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง

สิงคโปร์จัดทำแผน Singapore Green Plan (SGP) 2030 เมื่อต้นปี 2564 โดยระบุข้อบท “Energy Reset” เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาที่ยั่งยืน การเงินสีเขียว และสิ่งแวดล้อมภายในสิงคโปร์ และในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) สิงคโปร์ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนว่าจะบรรลุการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำหรือพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 หรือ 4 กิกะวัตต์ ภายในปี 2578 (แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1.2 กิกะวัตต์ ภายในปี 2570 และ 2.8 กิกะวัตต์ ภายในปี 2578) โดยหวังว่าการนำเข้าพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ ตามแผนพลังงานที่ยั่งยืนของสิงคโปร์ในระยะยาวได้

สิงคโปร์กับการเป็นศูนย์กลางการลงทุนพลังงานทดแทนแห่งภูมิภาค

สิงคโปร์ยังคงดึงดูดการลงทุนจากบริษัทพลังงานทดแทนชั้นนำของโลกได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัท EDP Renewables (EDPR) บริษัทสัญชาติโปรตุเกส ผู้ผลิตพลังงานทดแทนเป็นอันดับ 4 ของโลก แถลงถึงแผนการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในสิงคโปร์ มูลค่าการลงทุนรวม 10,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 บริษัท EDPR ได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 91 ของบริษัท Sunseap ผู้ผลิตพลังงานทดแทนรายใหญ่ในสิงคโปร์ซึ่งมีโครงการอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย ความร่วมมือระหว่าง EDPR กับ Sunseap ครั้งนี้คาดว่าจะสำเร็จได้ภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านการผลิตพลังงานทดแทนจากลมและแสงอาทิตย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ สองฝ่ายยังมองหาโอกาสที่จะร่วมมือเพื่อพัฒนาที่กักเก็บและผลิตพลังงานไฮโดรเจน เพื่อรับมือและชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ในภูมิภาค รวมถึงเสริมสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเติบโตและการสร้างงานสีเขียวในระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์

ภาพแสดง ระบบ Floating PV พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ
แหล่งที่มา: https://www.sunseap.com

บริษัท Sunseap ได้ริเริ่มโครงการพลังงานทดแทนในภูมิภาคไว้หลายโครงการก่อนหน้านี้ เช่น (1) การจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding – MoU) ว่าด้วยโครงการสร้างโรงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (FPV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เกาะ Batam อินโดนีเซีย มูลค่า 2,730 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 2,600 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า 1.8 ล้านตันต่อปี (หรือเท่ากับการลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากรถยนต์ได้ถึง 400,000 คันต่อปี) และ (2) การจัดทำ MoU ว่าด้วยการพัฒนาระบบการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในเกาะ Riau อินโดนีเซีย กับกิจการค้าร่วม (Consortium) กับหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) เช่น (1) PT Mustika Combol Indah (2) PT Agung Sedayu (3) Sumitomo Corporation (4) Samsung C&T Corporation (5) Oriens Asset Management (6) ESS Inc และ (7) Durapower Group ซึ่งโครงการนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 7 กิกะวัตต์พีค และจะช่วยสนับสนุนการนำเข้าพลังงานสะอาดของสิงคโปร์ ในสัดส่วนร้อยละ 20 – 25 ของจำนวนการนำเข้าทั้งหมด

แผนการพัฒนาการลงทุนจากต่างประเทศของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) ระบุว่า พลังงานทดแทนมีความสำคัญต่อสิงคโปร์ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) นอกจากนี้ EDB เห็นว่า การลงทุนของ EDPR ใน Sunseap จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้สิงคโปร์และช่วยให้ภูมิภาคมีการนำมาพลังงานทดแทนในวงกว้างได้เร็วขึ้น ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนานำร่องต่าง ๆ รวมถึงแผนการเงินสีเขียว การจัดตั้งศูนย์กลางการค้าคาร์บอนของภูมิภาค และการสร้างงานใหม่ให้คนชาติสิงคโปร์ในสายธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นการเฉพาะ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบันสิงคโปร์มีการทดลองการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ 100 เมกาวัตต์ จาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1) พลังงานไฟฟ้าจากมาเลเซีย 2) พลังงานแสงอาทิตย์จากอินโดนีเซีย และ 3) พลังงานไฮโดรเจนจาก สปป. ลาว ผ่านไทยและมาเลเซียทางโครงข่ายระบบไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid – APG) และโครงการเชื่อมโยงระบบพลังงานลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore Power Integration Project (LTMS-PIP) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าพลังงานระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สิงคโปร์คาดว่าจะมีอุปทานพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากโครงการ Australia-Asia Power Link (AAPL) โดยบริษัท Sun Cable ออสเตรเลีย ได้ลงทุนโครงการส่งพลังงานแสงอาทิตย์จากโรงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 12,000 เฮกตาร์มายังสิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลแรงดันสูง ระยะทาง 4,200 กิโลเมตร คิดเป็นมูลค่า 30,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินกิจการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2571 ทั้งนี้ โครงการนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้ ร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดของสิงคโปร์และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 6 ล้านตันต่อปี

การพัฒนาที่ยั่งยืนและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ โดยได้จัดทำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economic Model ซึ่งสามารถเกื้อกูลแผน SGP 2030 ของสิงคโปร์ได้ ประเทศไทยยังได้ตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) และยกระดับ Nationally Determined Contribution1 (NDC) เป็นร้อยละ 40 (จากร้อยละ 20-25 ในปี 2563) สอดคล้องกับ“กรอบแผนพลังงานชาติ” ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน และอยู่ระหว่างการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ของสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านพื้นที่และทรัพยากร ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนของไทยจึงน่าจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทนของสิงคโปร์ดังกล่าว 


1การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดภายหลังปี ค.ศ. 2020 หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) เกิดขึ้นจากข้อเสนอเดอร์บัน (Durban Platform 2011) ซึ่งเป็นมติจากการประชุม COP17 ที่ ประเทศแอฟริกาใต้ ส่งผลให้มีการจัดทำกรอบความตกลงฉบับใหม่มาใช้ ต่อมาในที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 การมีส่วนร่วมของแต่ละภาคี เป็นไปตามที่ประเทศกำหนด โดยข้อ 4 ของความตกลงปารีสกำหนดให้แต่ละภาคีต้องจัดทำแจ้งและจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง