พัฒนาการความเชื่อมโยงของระบบชำระเงินข้ามพรมแดน สิงคโปร์ – ต่างประเทศ

ไทยและสิงคโปร์ได้พัฒนาและเริ่มใช้งานระบบการโอนเงินข้ามพรมแดนแบบทันที “PromptPay – PayNow” เป็นคู่แรกของโลกเมื่อปี 2564 ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) เห็นว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นต้นแบบในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับต่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี สรุปพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้

การส่งเสริมความความเชื่อมโยงด้านระบบการโอนเงินและชำระเงิน สิงคโปร์ – ต่างประเทศ ระดับทวิภาคี

ไทย ต่อยอดจาก PromptPay – PayNow เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 สิงคโปร์และไทยได้ขยายความร่วมมือการชำระเงินข้ามพรมแดนต่างสกุลเงินด้วยการสแกน QR Code ระหว่างระบบ Nets ของสิงคโปร์กับ PromptPay ของไทย บนแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของทั้งสองประเทศ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอน

อินเดีย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 MAS และธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India) จัดทำความร่วมมือเพื่อพัฒนาการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ real-time ระหว่าง PayNow ของสิงคโปร์ และ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดีย โดยนำระบบคลาวด์ที่รองรับการขยายตัว (scalable cloud-based) มาใช้เป็นครั้งแรก ผู้ใช้บริการจะสามารถโอนเงินระหว่างบัญชี หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ รหัส UPI หรือ Virtual Payment Address (VPA) โดยฝ่ายสิงคโปร์มีธนาคาร DBS ร่วมกับ บริษัทฟินเทค Liquid Group ในขณะที่ฝ่ายอินเดียมีธนาคารผู้ร่วมให้บริการ คือ (1) Axis (2) ICICI (3) Indian Bank (4) Indian Overseas และ (5) State Bank โดยลูกค้าของ DBS สามารถโอนเงินไปยังอินเดียได้ในจำนวนไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับ PromptPay – PayNow) ทั้งนี้ สิงคโปร์และอินเดียมีแผนจะเพิ่มจำนวนธนาคารที่ให้บริการ รวมทั้งขยายการใช้งานและวงเงินสูงสุดในการโอนต่อไป

นาย Ravi Menon ผู้ว่าการ MAS สาธิตการโอนเงินและชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบ PayNow – UPI กับนาย Shaktikanta Das ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย โดยมีนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Loong ของสิงคโปร์เป็นประธาน
แหล่งที่มา: MAS

มาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 MAS และธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) เริ่มให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนโดยใช้ QR Code ผ่านระบบ DuitNow ของมาเลเซียและ Nets ของสิงคโปร์ โดยประชาชนสองประเทศสามารถชำระเงินซื้อสินค้าออนไลน์ต่างสกุลเงินผ่านระบบ QR Code ดังกล่าว นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของสิงคโปร์ ร่วมกับ CIMB และ Hong Leong ของมาเลเซีย ยังมีแผนจะเปิดให้บริการโอนเงินข้ามพรมแดน PayNow – DuitNow แบบ real-time ในช่วงสิ้นปี 2566

อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 MAS และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) ประกาศเริ่มความร่วมมือโครงการชำระเงินข้ามพรมแดนต่างสกุลเงินแบบ QR Code โดยคาดว่าจะให้บริการได้ในครึ่งหลังของปี 2566 รวมทั้งยังได้ลงนาม MoU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการโอนเงินข้ามพรมแดนระหว่างกันด้วย

ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 MAS และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas – BSP) ลงนามความร่วมมือด้านฟินเทค และอยู่ระหว่างพัฒนาความร่วมมือว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านการโอนเงินข้ามพรมแดนแบบ real-time และการชำระเงินต่างสกุลเงินโดยใช้ QR Code ด้วยเช่นกัน

สิงคโปร์ผลักดันความเชื่อมโยงด้านระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนและสกุลเงินดิจิทัลพหุภาคี

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements – BIS) ประกาศเดินหน้าโครงการ Nexus ระยะที่ 3 เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนแบบ real-time ของประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย. อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อลดความซับซ้อนและช่วยให้การโอนเงินรวดเร็วขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกว่า 500 ล้านคนในภูมิภาคนี้

นอกเหนือจากการค้าปลีก MAS ยังเดินหน้าความร่วมมือว่าด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ (central bank digital currencies – CBDC) ส่วนในภาคการค้าส่ง (wholesale) MAS ได้ร่วมมือในโครงการระหว่างธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เพื่อลดหรือป้องกันความเสี่ยงจากการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน เช่น cryptocurrencies และ stablecoins เช่น (1) โครงการ Dunbar ที่พัฒนาร่วมกับธนาคารกลางออสเตรเลีย มาเลเซียและแอฟริกาใต้ (2) โครงการ mBridge กับธนาคารกลางจีน (รวมฮ่องกง) ไทย UAE ภายใต้การดูแลของ BIS (3) โครงการ UBIN+ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน CBDC ระหว่างประเทศเพื่อการค้าส่ง ซึ่งจะมีรายงานความคืบหน้าในช่วงกลางปีนี้ และ (4) โครงการ Cedar II ที่ร่วมพัฒนากับหน่วยงาน Federal Reserve Bank of New York’s Innovation Centre

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเมษายน 2564 จนถึงกรกฎาคม 2565 บริการ PromptPay – PayNow ไทย – สิงคโปร์ มีมูลค่าการโอนมากกว่า 3.1 พันล้านบาท หรือเฉลี่ย 194 ล้านบาทต่อเดือน และมีปริมาณธุรกรรมสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและ MAS คาดการณ์ไว้ โดยจากผลสำรวจผู้ใช้งานเห็นว่าระบบมีความปลอดภัย ใช้งานง่าย ต้นทุนต่ำ (คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินสูงสุดเพียง 150 บาทต่อรายการ) เทียบกับการโอนเงินรูปแบบอื่น ทั้งยังสะดวกรวดเร็วโดยผู้รับโอนจะได้รับเงินทันที และสามารถโอนได้ทุกที่ทุกเวลา ภายในวงเงินไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 25,000 บาท/วัน/ธนาคาร)

สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า การที่สิงคโปร์เลือกพัฒนาความร่วมมือ PromptPay – PayNow กับประเทศไทยก่อน สะท้อนความทันสมัยและปลอดภัยของระบบธนาคารของไทย และความมองการณ์ไกลและฉับไวของสิงคโปร์เรื่องการ scale up โดยเริ่มทดลองความร่วมมือกับประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งานไม่มากเช่นประเทศไทยก่อน แล้วจึงขยายไปยังประเทศที่มีประชากรขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นของโลกอย่างอินเดีย หากไทยมีความพร้อมและความสนใจก็น่าจะขยายความร่วมมือกับต่างประเทศในลักษณะเดียวกับสิงคโปร์ได้ โดยยังคงต้องพิจารณาการจำกัดจำนวนธุรกรรมและวงเงินสูงสุดในการโอนเงินข้ามพรมแดนแบบทันที เพื่อป้องกันปัญหาการหาช่องว่างเพื่อใช้งานแบบผิดกฎหมายจากขบวนการฟอกเงินระหว่างประเทศ และอาชญกรรมทางการเงินข้ามชาติ

ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่มีความกระตือรือร้นสูงในการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ไทยได้ขยายความร่วมมือด้านการชำระเงินต่างสกุลเงินด้วย QR Code ภายใต้ระบบ PromptPay แล้วกับ 6 ประเทศ0 ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการขยายความเชื่อมโยงกับฮ่องกงและอินเดีย

ความเชื่อมโยงด้านการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ เป็นความร่วมมือที่หน่วยงานภาครัฐของไทยผลักดันและให้ความสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากการชำระเงินต่างสกุลเงินด้วย QR Code มีส่วนช่วยสนับสนุนการดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศไทย และส่งเสริมการค้าออนไลน์ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะ MSMEs ซึ่งภาคธุรกิจออนไลน์นี้จะยังคงขยายตัวอีกมากในทศวรรษข้างหน้า 


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์