ทำความรู้จักสตาร์ทอัพชั้นนำสัญชาติสิงคโปร์

หากพูดถึงจุดหมายการลงทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียแล้วหนึ่ง ชื่อของประเทศสิงคโปร์จะถูกจัดให้เป็นอันดับต้นๆ ของสตาร์ทอัพจากทั่วโลก ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ มีความพร้อมด้านระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) อยู่ในอันดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับที่ 7 จาก 100 ของโลก (ขยับขึ้นจากอันดับที่ 10 ในปีก่อนหน้า) จากการจัดอันดับของ Startup Blink ซึ่งเป็น Startup Eco- system Index 2022 โดยสตาร์ทอัพของสิงคโปร์มีความโดดเด่นด้านการศึกษา ฟินเทคและด้านสังคม และสันทนาการ ปัจจุบันสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 ราย และระดับยูนิคอร์น 12 รายที่ผ่านการประเมินมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวอย่างบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นสัญชาติสิงคโปร์

1. Grab Holding Inc บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติของสิงคโปร์ ก่อตั้งในปี 2555 โดย Anthony Tan และ Tan Hooi Ling ในประเทศมาเลเซีย ในปี 2557 บริษัทได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่สิงคโปร์และทำการรีแบรนดิ้งภายใต้ชื่อ “Grab” ในปัจจุบัน Grab ให้บริการในสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม และเป็นบริษัท Decacon (สตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่าได้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่ใหญ่สุดในภูมิภาค

2. LAZADA Group SA แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์อันดับต้น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งในปี 2555 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และขยายตลาดไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ลาซาด้ามีฐานผู้ขายทั้งในและต่างประเทศกว่า 100,000 ราย รวมถึงแบรนด์กว่า 2,500 แบรนด์ ซึ่งทำให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในหมวดหมู่ต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคไปจนถึงของใช้ในครัวเรือน ของเล่น แฟชั่น และอุปกรณ์กีฬา ในเดือนธันวาคม 2565 ลาซาด้ามีมูลค่าการระดมทุน 342.5 ล้านเหรียญสหรัฐดอลลาร์ ซึ่งทำให้การประเมินมูลค่าของลาซาด้าล่าสุด อยู่ที่ 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. Razer Inc. บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ อเมริกัน-สิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 ทำธุรกิจออกแบบ พัฒนาและจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค บริการทางการเงิน และฮาร์ดแวร์เกม และมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์และสหรัฐฯ

4. Secretlab บริษัทเฟอร์นิเจอร์ที่ก่อตั้งในปี 2557 โดยอดีตนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพ Ian Alexander Ang และ Alaric Choo ที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาออกแบบและผลิตเก้าอี้สำหรับเล่นเกม ซึ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2558 ในช่วงการแพร่-ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความต้องการเก้าอี้ของบริษัท Secretlab ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากการที่พนักงานบริษัทต้องทำงานจากที่บ้าน เมื่อเดือนมีนาคม 2564 Tech in Asia ประเมินว่า บริษัท Secret lab อยู่ในระยะที่ประเมินมูลค่าได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ของวงการสตาร์ทอัพ

5. Ninja Van บริษัทโลจิสติกส์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยบริษัทมีคลังคัดแยกสินค้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเดือนกันยายน 2564 Ninja Van ได้ประกาศระดมทุนรอบ Series E ได้ถึง 578 ล้านเหรียญสหรัฐ

6. Carousell แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ทำธุรกิจแบบ Consumer to Consumer (C2C) และธุรกิจแบบ Business to Consumer (B2C) สำหรับการซื้อและขายสินค้าใหม่และสินค้ามือสอง โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ดำเนินงานในมาเลเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นต้น ในเดือนกันยายน 2564 Carousell ได้ประกาศระดมทุนได้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้การประเมินมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การสนับสนุนให้ประเทศมีระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศ หากแต่จะดึงดูดเหล่าสตาร์ทอัพจากทั่วโลก รวมถึงนักลงทุนให้มาดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละอุตสาหกรรมล้วนได้รับประโยชน์และสามารถเติบโตร่วมกัน ซึ่งสตาร์ทอัพไทยอาจพัฒนาศักยภาพ และใช้ประโยชน์จากความพร้อมในระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ เพื่อระดมเงินทุนและขยายตลาดสู่ตลาดต่างประเทศทั่วโลกต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเองมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gain Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรัฐบาลคาดว่า นโยบายดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุนภายในประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

หมายเหตุ:

12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 5 อุตสาหกรรม (S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวม 2 อุตสาหกรรมที่เพิ่มใหม่คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง