เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศแจ้งว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ยินยอมให้ความตกลงทวิภาคีเพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกัวลาลัมเปอร์ – สิงคโปร์ (Kuala Lumpur – Singapore High Speed Rail Project : HSR Project หรือโครงการ HSR) ยุติลง ซึ่งฝ่ายมาเลเซียจะต้องชำระค่าเสียหายเพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ฝ่ายสิงคโปร์ตามพันธกรณี ทั้งนี้ ฝ่ายสิงคโปร์ปรารถนาที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดี และความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับมาเลเซียเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศและประชาชนสองฝ่ายต่อไป

แหล่งที่มา: https://sbr.com.sg/

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามความตกลงทวิภาคีเพื่อดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว มีเส้นทางเริ่มจาก Padang Besar – Butterworth – Ipoh – KL – Gemas – Johor Bahru ในมาเลเซีย ก่อนที่จะข้ามพรมแดนเข้าสิงคโปร์และไปสุดสายที่เขต Jurong (โดยเส้นทางนี้มีความเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาของไทยด้วย) เป็นรถไฟระบบรางคู่ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 350 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะทางในมาเลเซีย 335 กิโลเมตร และในสิงคโปร์ 15 กิโลเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19,700 – 26,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หากดำเนินโครงการฯ สำเร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสิงคโปร์กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เหลือเพียง 90 นาที ซึ่งสั้นกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ที่ใช้เวลามากกว่า 4 – 5 ชม. และประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน อีกทั้งยังคาดว่าระหว่างการก่อสร้างจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในมาเลเซียมากกว่า 110,000 ตำแหน่ง และเพิ่มเป็น 442,000 ตำแหน่งภายหลังโครงการฯ แล้วเสร็จภายในปี 2574

ทางด้านรัฐบาลมาเลเซีย ชี้แจงสาเหตุที่จะไม่ดำเนินโครงการฯ เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลมาเลเซียประสงค์จะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะยกระดับเส้นทาง Gemas – Johor Bahru เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศ (Domestic High Speed Rail Network) ซึ่งนาย Anthony Loke อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของมาเลเซียมีข้อวิจารณ์ต่อแนวคิดดังกล่าวว่าไม่สมเหตุสมผลและซ้ำซ้อน ในขณะที่นาย YS Chan ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมของมาเลเซียมีความเห็นว่า การปรับปรุงโครงการรถไฟของมาเลเซียโดยไม่เชื่อมโยงกับสิงคโปร์จะทำให้โครงการขาดทุน เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟภายในประเทศของมาเลเซียมีไม่มากพอ และการศึกษายกระดับเส้นทางรถไฟในส่วนต่อขยายภายในมาเลเซียเป็นเรื่องซ้ำซ้อน นอกจากนี้ นักวิชาการมาเลเซียหลายคนเห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียควรปรับปรุงรถไฟทางคู่ในมาเลเซียทั้งหมด และเสนอให้สร้างรถไฟทางคู่เส้นทางเลียบชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย

ทางด้านรัฐบาลสิงคโปร์ นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์เปิดเผยว่าฝ่ายสิงคโปร์ได้ลงทุนได้ลงทุนในโครงการฯ ไปแล้วกว่า 270 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 6,124 ล้านบาท) เช่น ค่าที่ปรึกษาโครงการ และค่าสำรวจและเตรียมการเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (โดยให้ข้อมูลว่าได้เริ่มลงทุนในโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2556 ก่อนที่จะมีการลงนามความตกลงฯ) และเพิ่มเติมด้วยว่า สิงคโปร์และมาเลเซียไม่เคยดำเนินโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ระหว่างกันมาก่อน ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการดำเนินโครงการ คือ การเปิดการประมูลระดับระหว่างประเทศแบบโปร่งใสและเปิดกว้าง เพื่อจัดจ้างบริษัทผู้ดำเนินโครงการรถไฟที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย

ในส่วนของเขต Jurong ซึ่งเดิมทีถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของสถานีปลายทางของโครงการ HSR นั้น ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสิงคโปร์ อยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม Jurong Island และ Tuas Industrial Estate เพียง 5 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากจุดผ่านแดนสิงคโปร์ – มาเลเซีย (Tuas Checkpoint) รวมทั้งเป็นหนึ่งในเขตที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ประสงค์ที่จะใช้โครงการ HSR เพื่อเร่งการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันตกในสิงคโปร์ตามแผนแม่บทระยะ 20 ปี โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาเขต Jurong ที่สำคัญอีก 2 โครงการควบคู่กันไปด้วย ได้แก่ (1) โครงการก่อสร้างศูนย์กลางธุรกิจแห่งที่ 2 (Second Central Business District – 2nd CBD) เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจใน CBD ซึ่งอยู่ในเขตใจกลางเมืองของสิงคโปร์ และ (2) โครงการศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ (New Tourism Hub) ในด้านตะวันตก ได้แก่ การก่อสร้างโรงแรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในเขต Jurong ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าโครงการทั้งสองจะเสร็จสิ้นในปี 2583 (ค.ศ. 2040) ตามแผนแม่บทฯ อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป โดยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการยุติโครงการ HSR เพียงเล็กน้อย

ปัจจุบัน มาเลเซียและสิงคโปร์ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่ดำเนินการร่วมกันคือ Rapid Transit System (RTS) เพื่อเชื่อมต่อพรมแดนมาเลเซียและสิงคโปร์ (เส้นทาง Johor Bahru ของมาเลเซีย – Woodlands Northของสิงคโปร์) ระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยสำนักงานการขนส่งทางบกสิงคโปร์ได้จัดทำสัญญากับบริษัท Penta-Ocean Construction เพื่อเป็นค่าก่อสร้างสถานี อุโมงค์ และอาคารศุลกากร โดยยังคงกำหนดการเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้สูงสุด 10,000 คน/ชม./เที่ยว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง