สนามบินชางงีเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารที่ 2 ครั้งแรกในรอบสองปี

ท่าอากาศยานชางงีได้กลับมาเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร 2 (Terminal 2 – T2) ฝั่งขาออก (departure hall) อีกครั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 หลังจากหยุดให้บริการเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินลดลงอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 โดยได้กลับมาเปิดอาคาร 2 ฝั่งขาเข้า (arrival hall) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุขและเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการบินและการเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์

ท่าอากาศยานชางงีได้เตรียมการต้อนรับผู้โดยสารที่เดินทางโดยใช้อาคาร 2 ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 11 ตุลาคม ด้วยการตกแต่งทางเข้าอาคารด้วยซุ้มลูกโป่งและซุ้มต้อนรับเพื่อให้บริการขนมและเครื่องดื่ม พร้อมด้วยมาสคอต ของสนามบิน มาร่วมต้อนรับและเล่นสนุกกับผู้โดยสารรุ่นเยาว์อีกด้วย โดยมีร้านค้าในอาคาร 2 จำนวน 25 ร้าน ที่เริ่มเปิดให้บริการเป็นวันแรกเช่นกัน ซึ่งรวมถึงร้านขายสินค้าปลอดภาษี หลังกลับมาเปิดทำการวันแรก เที่ยวบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) จำนวน 17 เที่ยวบินได้เดินทางออกจากอาคาร 2 โดยแบ่งเบามาจากอาคาร 3 ที่มีเที่ยวบินหนาแน่นในชั้นแรก เที่ยวบินรวมถึงเส้นทางสิงคโปร์-กรุงเทพ และสิงคโปร์-กรุงกัวลาลัมเปอร์ สำหรับเส้นทางอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจาก SIA แล้ว สายการบิน Air India และ Air India Express ก็ได้ย้ายมาใช้อาคาร 2 แล้ว เช่นกัน

ผู้โดยสารของ SIA เที่ยวบินแรกเดินทางไปกรุงเทพและกรุงกัวลาลัมเปอร์ ณ อาคารผู้โดยสารฝั่งขาออกที่ 2
แหล่งที่มา: ChangiAirport (https://www.changiairport.com/corporate/media-centre/newsroom.html#/pressreleases/first-flights-depart-from-revamped-changi-airport-terminal-2-3209181)

การกลับมาเปิดอาคาร 2 ฝั่งขาออกนี้ ทำให้สิงคโปร์กลับมาเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารครบทั้ง 4 อาคารอย่างสมบูรณ์ และทำให้สิงคโปร์สามารถรองรับผู้เดินทางทางอากาศได้มากถึง 85 ล้านคนต่อปี ซึ่งในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด -19 เมื่อปี 2563 สิงคโปร์ได้ต้อนรับผู้เดินทางทางอากาศรวมประมาณ 70 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม บริการของอาคาร 2 ในขณะนี้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นฝั่งทิศใต้ (southern wing) ในส่วนด้านทิศเหนือของอาคาร (northern wing) ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งจะทำให้อาคาร 2 สามารถรองรับปริมาณผู้เดินทางได้เพิ่มขึ้น จาก 23 ล้านคนต่อปี เป็น 28 ล้านคนต่อปี และจะทำให้สนามบินชางงีสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งหมดได้สูงสุดถึง 90 ล้านคนต่อปี

ในช่วงที่อาคาร 2 หยุดทำการไป กลุ่มผู้บริหารท่าอากาศยานชางงีได้ใช้โอกาสนี้ศึกษาและแก้ไขแผนการปรับปรุงอาคาร 2 ใหม่ โดยการออกแบบเน้นให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ตกแต่งโดยคำนึงถึงธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาระบบปฏิบัติการให้เป็นระบบอัตโนมัติขั้นสูง และเพิ่มจำนวนจุดเช็คอินและจุดรับสัมภาระอัตโนมัติ ตลอดจนการปรับปรุงพื้นที่บริเวณร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในอาคารด้วย โดยบริษัท Singapore Airport Terminal Services (SATS) ได้เริ่มบริการอาหารจากศูนย์จัดเตรียมอาหารบนเครื่องบิน (in-flight catering centre) ศูนย์ที่ 1 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีเช่นกัน เพื่อจัดเตรียมอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากกลับมาดำเนินการเปิดได้ทั้ง 2 ศูนย์ จะทำให้สามารถบริการอาหารบนเครื่องได้ครอบคลุมเที่ยวบินกว่า 80% ของทั้งหมดที่ใช้สนามบินชางงีและสนามบิน Seletar เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 บริษัท SATS ได้ให้บริการอาหารบนเครื่องบินและการจัดการภาคพื้นสำหรับเที่ยวบินต่าง ๆ มากกว่า 50% ของความต้องการช่วงก่อนโควิด-19 และยังต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการอีก 20% ภายในปี 2568 หรือประมาณเท่ากับการบริการอาหารบนเครื่อง 53 ล้านชุดต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ท่าอากาศยานชางงีได้กลับมาเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร 4 เป็นครั้งแรกในรอบสองปี หลังจากที่ปิดไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกับอาคาร 2 โดยมีสายการบินที่ให้บริการ ทั้งหมด 16 สายการบิน และสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 16 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ สิงคโปร์มีแผนจะฟื้นฟูการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 5 ของท่าอากาศยานชางงี ซึ่งหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2578 เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุด สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 50 ล้านคนต่อปี และส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางการบินและการเดินทางระหว่างประเทศของสิงคโปร์ในภูมิภาค

จากข้อมูลสถิติของสนามบินชางงีเมื่อเดือนกันยายน 2565 ปริมาณผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินที่ใช้บริการท่าอากาศยานชางงีในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 58% และ 64% ของปริมาณในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามลำดับ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาใช้บริการที่สนามบินชางงีในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดปลายปีนี้ และน่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 80% ของช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และการเริ่มเปิดประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งทำให้ภาคการบินของสิงคโปร์ต้องเร่งจ้างงานมากถึง 3,500 – 4,000 คนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้มีจำนวนแรงงานกลับเข้ามาในภาคการบินถึง 90% ของช่วงก่อนโควิดในปี 2563

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 – 25 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) ได้ประกาศรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสำหรับบุคคลสัญชาติไทย จำนวนมากถึง 200 อัตรา อีกทั้ง สายการบินไทย (Thai Airways) จะให้บริการเที่ยวบินไปสิงคโปร์เพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะครอบคลุม กรุงเทพ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต กระบี่ และสมุย อีกด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงว่า ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมถึงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีการฟื้นตัวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สายการบินราคาประหยัด เช่น สายการบินไทยแอร์เอเชียและสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ก็ได้เริ่มกลับมาให้บริการในเส้นทางระหว่างไทยและสิงคโปร์เช่นกัน โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียพร้อมกลับมาให้บริการผู้โดยสารทั้งขาเข้าเเละขาออกสิงคโปร์ ที่อาคารผู้โดยสารที่ 4  (T4) ท่าอากาศยานชางงี ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนสายการบินไทยไลอ้อนแอร์พร้อมกลับมาบินเส้นทาง กรุงเทพ (ดอนเมือง) – สิงคโปร์ เริ่มวันที่ 30 ตุลาคม ศกนี้


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง