ปัจจุบัน ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) มีมูลค่าประมาณ 1.1% ของ GDP สิงคโปร์ และสร้างงานประมาณ 5.5% ของตลาดแรงงานทั้งหมดในประเทศ โดยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเมือเดือนพฤษภาคม 2564 ยอดจำหน่ายของภาค F&B เพิ่มขึ้น 46.4 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า [สิงคโปร์ได้บังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ Circuit Breaker (CB) ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19]
ธุรกิจหลายแห่งให้ความเห็นว่ารายได้กลับมาอยู่ที่ประมาณ 70 – 80 % เทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการฟื้นตัวนี้มาจากการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล โดยร้านอาหารปรับตัวมาขายอาหารและเครื่องดื่ม
ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีและหุ่นยนต์มาปรับใช้

รัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในภาคธุรกิจ F&B จึงเสนอความช่วยเหลือผ่านโครงการเงินสนับสนุนต่าง ๆ สำหรับภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกิจการ เช่น Productivity Solutions Grant (PSG) ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ Enterprise Singapore (ESG) โดยเมื่อปี 2563 มีจำนวนผู้สมัครที่ได้รับเงินสนับสนุนมากกว่า 2,700 ราย และเงินสนับสนุน Digital Resilience Bonus สูงสุดถึง 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 240,000 บาท) ภายใต้โครงการ SMEs Go Digital (สังกัด Infocomm Media Development Authority – IMDA)

ทั้งนี้ ระบบหุ่นยนต์กำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรม F&B ของสิงคโปร์มากขึ้น บริษัทสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ROSS Digital ได้ปล่อยเช่าแขนหุ่นยนต์ทั้ง 16 ชิ้นส่วน ให้ลูกค้า F&B เช่น ร้าน Kaffe & Toast และ ร้าน Singapura Club ที่มีสาขาทั่วสิงคโปร์ รวมถึงในสนามบิน Changi ด้วย นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายของคาเฟ่แห่งแรกของบริษัทฯ ภายใต้ชื่อ Ratio Inc มีแนวโน้มที่ดีตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

หุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์ (robo-bartender) ของบริษัท ROSS Digital
แหล่งที่มา: BT PHOTO: YEN MENG JIIIN

Ratio Inc มีแนวคิดผสมผสานระบบอัตโนมัติกับการทำงานของมนุษย์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้าง ประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบแก่ลูกค้า เช่น หุ่นยนต์ผสมเครื่องดื่ม ในขณะที่พนักงานตกแต่งแก้วเครื่องดื่ม และเสิร์ฟให้กับลูกค้า ในทางกลับกัน พนักงานจะได้รับโอกาสในการเพิ่มพูนทักษะของตนผ่านการเรียนรู้วิธีการใช้งานและบำรุงรักษาหุ่นยนต์ด้วย

การใช้หุ่นยนต์เป็นข้อได้เปรียบด้านการลดต้นทุน โดยหุ่นยนต์ 1 ตัว สามารถทำงานแทนบาร์เทนเดอร์หรือบาริสต้า (Barista) ถึง 3 คน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจขยายอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ดี นาย Gavin Pathross ประธานบริหาร ROSS Digital และ Ratio Inc ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าระบบอัตโนมัติเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านบุคลากร แต่ไม่ควรละเลยปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้ทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน บริษัท Ming Hing Food หรือที่รู้จักกันดีในนามร้าน ‘Bowl & Bowl’ อาศัย “หุ่นยนต์ผัดข้าว” เพื่อปรุงข้าวผัดหลากหลายรูปแบบ โดยตั้งโปรแกรมสูตรอาหารไว้ใน smart card ซึ่งสั่งงานหุ่นยนต์ ตั้งแต่ลำดับการปรุงอาหารที่เหมาะสม อุณหภูมิ และระยะเวลาที่ใช้ปรุงอาหาร

หุ่นยนต์ผัดข้าวของร้าน Bowl & Bowl
แหล่งที่มา: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (BIC)

นาย Yang Ming ผู้ก่อตั้งบริษัท Ming Hing Food ทำงานในอุตสาหกรรม F&B มากว่า 20 ปี ก่อนจะเริ่มธุรกิจจำหน่ายผัดหม่าล่าตามศูนย์อาหาร เมื่อปี 2559 และพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจ้างพ่อครัวที่มีทักษะ เนื่องจาก ขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ นาย Yang จึงได้ศึกษาและนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม F&B ของจีนกลับมาประยุกต์ใช้ที่สิงคโปร์ โดยได้ทำงานร่วมกับนักเขียนโปรแกรมเพื่อวางโปรแกรมสูตรอาหาร ซึ่งมีตั้งแต่ข้าวผัดไข่ทั่วไปจนถึงข้าวผัดปลาแซลมอนเมนไทโกะ (mentaiko) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากศูนย์ SME Centre@SCCCI ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ESG และหอการค้าและอุตสาหกรรมจีนแห่งสิงคโปร์ (SCCCI) เพื่อส่งเสริม digitalisation แก่ธุรกิจภาคเอกชน

นาย Yang ผ่านการลองผิดลองถูกจนเกิดผลลัพธ์เป็นร้าน Bowl & Bowl ขายข้าวผัดที่ขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และกล่าวว่าการใช้หุ่นยนต์สามารถสร้างความมั่นใจว่าข้าวผัดที่เสิร์ฟได้มาตรฐานทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (BIC) ได้ไปลิ้มลองเมนูผัดปลาแซลมอนเมนไทโกะ ซึ่งเสิร์ฟพร้อมไข่ออนเซน และผักหลากหลายชนิด ทำให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อม และสังเกตเห็นว่าภายในร้านมีพนักงานเพียงประมาณ 3 คน เท่านั้น ซึ่งจัดการวัตถุดิบ จัดจาน ดูแลการชำระเงิน และการตรวจสอบรายการอาหารกับลูกค้า เป็นต้น แต่ใช้หุ่นยนต์ช่วยแบ่งเบาหน้าที่ในการประกอบอาหาร

ส่วนร้านอาหารเกาหลีเครือ Seoul Garden Group ได้เร่งรัดแผนการปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลจากเดิมระยะเวลา 5 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 2 ปี ช่วง โดยเมื่อเดือนมกราคม 2564 ได้ริเริ่มโครงการ “dark kitchen” ที่สามารถเตรียมอาหารสำหรับร้านอื่นที่ไม่มีหน้าร้านของตัวเอง แต่ละ workstation สามารถให้บริการได้ 5 – 6 ร้าน ครัวของ Seoul Garden Group ใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานให้สามารถดูอาหารที่ต้องเตรียม ลำดับในการเตรียม และสูตรอาหารได้อย่างง่ายดาย เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและความแม่นยำ ทั้งยังช่วยลดความกดดันในการจดจำสูตรอาหารโดยไม่มีเครื่องมือช่วยแต่ยังทำให้งานในครัวง่ายขึ้นและน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้นสำหรับชาวสิงคโปร์ ซึ่งมักจะมองว่างานในครัวร้อนและเหนื่อย บวกกับมีชั่วโมงการทำงานที่ยาว

แนวคิดและเทคโนโลยีของ “dark kitchen” ช่วยอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงานผู้ทุพพลภาพ (people with disabilities – PWDs) ที่มีข้อจำกัดบางประการ และพนักงานที่ค่อนข้างสูงอายุ ซึ่งทำงานกับบริษัทฯ มาตั้งแต่ปี 2526 พนักงานผู้พิการทางสายตาของบริษัทฯ บางรายได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าและผู้จัดการ ปัจจุบันประมาณหนึ่งในสี่ของพนักงานของ Seoul Garden Group เป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งถือว่าเปิดโอกาสให้กับตลาดแรงงานของผู้ทุพพลภาพที่กำลังมองหาโอกาสในการทำงานเช่นกัน

Seoul Garden Group ยังได้กล่าวถึงการบริหารจัดการโดยปราศจากความสูญเปล่า (Lean Management) โดยใช้บุคลากรขั้นต่ำในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการวางแผนปฏิรูปในปี 2564 เพื่อรับมือกับ “next normal” สำหรับภาคธุรกิจ F&B ผู้ประกอบการธุรกิจ F&B ชี้ว่าแนวโน้มใหม่ประการหนึ่งที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรม F&B นี้ก็คือพฤติกรรมลูกค้าจะ “ฟุ่มเฟือยอย่างระมัดระวัง” ประกอบกับการใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจ F&B ควรวางแผนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคล่วงหน้า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม F&B เอง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง