ภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์ ผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์โลกและปัจจัยภายในประเทศ

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อหลัก (core inflation rate) แบบ YoY ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงเหลือร้อยละ 2.2 จากร้อยละ 2.4 ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในด้านบริการ อาหาร ไฟฟ้าและก๊าซ หลังจากที่ราคาสินค้าเหล่านี้รวมถึงค่าบริการโทรคมนาคมชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI-All Items) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 4.0 ในเดือนมกราคม 2565 โดยสาเหตุหลักคือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการด้านขนส่งส่วนบุคคลที่สูงกว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อหลัก ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากเดือนมกราคม 2565 และสูงถึงร้อยละ 17.2 จากปี 2564 เป็นผลมาจากอุปสงค์และราคารถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้เผยแพร่เอกสารนโยบายทางการเงิน MAS Monetary Policy Statement ประจำเดือนเมษายน 2565 ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อตลอดปี 2565 หรือ CPI-All Items เพิ่มเป็นร้อยละ 4.5 – 5.5 โดยธนาคารกลางสิงคโปร์จะยังคงใช้นโยบายให้ค่าเงินแข็งค่า (tighten monetary policy) เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อที่จะยังคงรุนแรงขึ้นในปีนี้จากสถานการณ์ในยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งวิกฤตราคาพลังงานโลก

ปัจจัยหลักของภาวะเงินเฟ้อนี้คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากหลายประเทศคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานในรูปแบบน้ำมันดิบและก๊าซรายใหญ่สุดนอกกลุ่มโอเปค ส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกลดลงอย่างมาก สวนทางกับอุปสงค์น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มคลายตัวจากวิกฤตโควิด-19 สิงคโปร์ซึ่งนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลักจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก

โดยราคาน้ำมันออกเทน 95 ซึ่งเป็นประเภทน้ำมันที่เป็นที่นิยมที่สุดในสิงคโปร์ โดยราคาน้ำมันจาก บริษัท Shell สิงคโปร์ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2565 พุ่งสูงขึ้นถึง 3.09 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตร จาก 2.65 และ 2.76 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตรในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตามลำดับ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดีเซลก็ปรับตัวขึ้นเป็น 2.95 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตร จาก 2.19 และ 2.36 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อลิตรในช่วงต้นเดือนมกราคมและกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตามลำดับ

นอกจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัจจัยกดดันภายในสิงคโปร์อย่างปัญหาการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมแรงงานที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้ราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงบริการอื่นๆปรับตัวสูงขึ้น

ประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในสิงคโปร์และทั่วโลกในปี 2565

ภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 และอาจถึงร้อยละ 3.0 ภายในกลางปี 2565 จาก 1) ความกดดันด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้น 2) นโยบายการเงินของ MAS ที่เข้มงวดมากขึ้นซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2565 3) การขาดแคลนแรงงานในสิงคโปร์ซึ่งคาดว่าจะตึงตัวและนำไปสู่แรงกดดันด้านค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 4) การเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์และที่พัก 5) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของการเดินทางทางอากาศ

แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สถานการณ์เงินเฟ้อจะเริ่มผ่อนคลาย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อภายนอกลดลง ทั้งนี้ โดยรวมในปี 2565 MAS ประมาณการอัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจาก CPIs เฉลี่ยทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5 – 5.5  ในปี 2565

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น สภาวะอุปทานตึงตัวจะทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น และปัญหาคอขวดในการขนส่งทั่วโลก แต่จะผ่อนคลายในครึ่งหลังของปี 2565


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง