
การประชุมเอเปค 2022 กับสิงคโปร์และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19
ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade – MRT) ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งนายกาน คิม ยอง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมฯ ที่กรุงเทพฯ สรุปประเด็นที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญ ดังนี้
ภาพรวม สิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงมาก สัดส่วนของการค้าต่อ GDP 320.56% หรือกว่า 3 เท่า เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากลักเซมเบิร์ก และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน สิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งองค์การการค้าโลก (สิงคโปร์สนับสนุนการปฏิรูปองค์การการค้าโลก) การจัดทำเขตการค้าเสรี และการพัฒนาระบบการค้าโลกให้ทันสมัย
ในด้านสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์สนับสนุนและชื่นชมการที่ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคได้นำโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy มาเป็นกรอบในการประชุม ซึ่งสอดคล้องและเกื้อกูลกับแผน Singapore Green Plan ค.ศ. 2030ของสิงคโปร์เองด้วย เป้าหมายหลัก คือ การทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองในธรรมชาติ (City in Nature) การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน การปฏิรูปการใช้พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ในปีนี้ ไทยตั้งใจที่จะผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ว่าด้วย BCG Economy สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกเขตเศรษฐกิจ 21 เขตจะแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันในประเด็นที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาตินี้ด้วย
ในด้านการส่งเสริม MSMEs สิงคโปร์มีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล จึงพยายามเพิ่มโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าถึงโอกาสผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของ MSMEs ของสิงคโปร์ ทั้งในด้านทักษะ ความรู้ และระบบดิจิทัล
ในด้านเยาวชน สิงคโปร์ร่วมผลักดันโครงการ Voices of the Future เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของเอเปค รวมถึงโครงการ APEC App Challenge ซึ่งก็เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญ
ในด้านสตรี สิงคโปร์มีเอกสารว่าด้วยการพัฒนาสตรี (White Paper on Singapore Women’s Development – พฤษภาคม 2565) เน้นด้านความเท่าเทียม สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เท่าเทียม และสังคมที่เป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับงานของเอเปคอยู่แล้ว
สรุปประเด็นที่สิงคโปร์ให้ความสนใจในช่วงหลังโควิด-19 ได้แก่ (1) การจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเปค (FTAAP) ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประธาน Market Access Group (MAG) ภายใต้ Committee of Trade and Investment (CTI) ด้วย (2) เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นความร่วมมือแห่งอนาคต ทั้งในด้านการเชื่อมโยงกลไกชำระเงิน ความปลอดภัยของข้อมูลความตกลงการค้าดิจิทัล และการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล (3) การส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน เช่น การส่งเสริมแผนปฏิบัติการ APEC Supply Chain Connectivity Framework Action Plan (SCFAP) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 (Phase III) และ (4) ความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์