
ผลกระทบจากการควบคุมการส่งออกเนื้อไก่ของมาเลเซียและแหล่งที่มาอาหารของสิงคโปร์
จากการที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศควบคุมและจำกัดการส่งออกเนื้อไก่มากถึง 3,600,000 ตัว/เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เพื่อให้แน่ใจว่ามีอุปทานเพียงพอสำหรับตลาดภายในประเทศ สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหารมากกว่า 90% โดยมีมาเลเซียเป็นแหล่งนำเข้าอาหารที่สำคัญที่สุด สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (Singapore Food Agency-SFA) จึงเร่งเพิ่มความยืดหยุ่นของการนำเข้าอาหารจากหลากหลายประเทศ และลดความเสี่ยงและมั่นใจว่ามีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคง
เนื้อไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่คนในสิงคโปร์บริโภคมากที่สุด (ประมาณ 36 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) เมื่อปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าเนื้อไก่จากบราซิลและมาเลเซียมากที่สุด โดยเนื้อไก่ประมาณ 34% หรือเกือบ 73,000 ตันมาจากมาเลเซีย ดังนั้น เมื่อมาเลเซียประกาศระงับการส่งออกเนื้อไก่มายังสิงคโปร์ จึงสร้างความกังวลแก่ผู้บริโภค รวมถึงร้านอาหารในสิงคโปร์ว่าจะมีเนื้อไก่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการนำมาประกอบอาหาร
แหล่งที่มาอาหารของสิงคโปร์
สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์รายงานสถิติการนำเข้าอาหารในสิงคโปร์ล่าสุดว่า จำนวนแหล่งอาหารนำเข้าทั้งรายประเทศและภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2562 – 2564 โดยเฉพาะในประเภทไข่ไก่ เนื้อสัตว์ปีก (ไก่ เป็ด ไก่งวง ห่าน นกพิราบ นกกระทา ไก่ตะเภาป่า และปศุสัตว์อื่น ๆ) และเนื้อวัว โดยมีทั้งหมด 40 ประเทศที่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพตามข้อกำหนดจาก SFA และได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาสู่สิงคโปร์

แหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสิงคโปร์คือประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งส่งออกไข่ไก่มาสิงคโปร์ถึง 52% ผักและผลไม้ประมาณ 42% รวมถึงเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในปริมาณที่สูงเช่นกัน

สิงคโปร์นำเข้าเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อสุกรและเนื้อวัวจากบราซิลสูงที่สุด โดยในปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าเนื้อไก่ 214,400 ตัน ซึ่ง 48% มาจากบราซิล 34% มาจากมาเลเซีย 8% มาจากสหรัฐอเมริกา และ 10% มาจากประเทศและภูมิภาคอื่น ทั้งนี้ การนำเข้าเนื้อแกะกว่า 90% มาจากออสเตรเลีย

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ยังได้เพิ่มแหล่งไข่ไก่ที่หลากหลาย ในปี 2562 สิงคโปร์นำเข้าไข่ไก่จากมาเลเซีย 72% แต่ลดลงเหลือ 52% ในปี 2564 และปริมาณไข่ไก่ที่ผลิตในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2562 เป็น 30% ในปี 2564
ปัจจุบัน สิงคโปร์นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทย ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ นม ปลา ผัก ผลไม้ อาหารทะเล ขนมปัง บิสกิตและขนม ในส่วนของเนื้อไก่นั้น ตั้งแต่ปี 2562 มูลค่าการนำเข้าและส่วนแบ่งทางการตลาดของเนื้อไก่ไทยมายังสิงคโปร์สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในปี 2563 – 2564 โดยในปี 2564 มูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ไทยมาสิงคโปร์อยู่ที่ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโต 76.57% สำหรับไข่ไก่ ในปี 2563 สิงคโปร์นำเข้าไข่ไก่จากไทยที่ประมาณ 111 ล้านฟอง หรือ 5% ของแหล่งที่มาของไข่ไก่ในประเทศทั้งหมด ปัจจุบัน ไทยเป็นแหล่งนำเข้าไข่ไก่อันดับ 3 ของสิงคโปร์ รองจากมาเลเซียและโปแลนด์
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ “30 by 30” เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารเกษตร คือ การผลิตอาหารภายในสิงคโปร์ให้ได้ร้อยละ 30 ของการบริโภคภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจากรายงานสถิติอาหารในสิงคโปร์ปี 2564 ของสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ ระบุว่า มูลค่ารวมของการผลิตในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 13% และตั้งแต่ปี 2562 – 2564 จำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำฟาร์มอาหารในสิงคโปร์ยังเพิ่มขึ้นจาก 221 ราย เป็น 260 ราย (18%)
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
จากการที่มาเลเซียควบคุมและจำกัดการส่งออกเนื้อไก่ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน สำนักข่าวท้องถิ่นสิงคโปร์รายงานว่า CS Tay ผู้จัดจำหน่ายอาหารในสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพียงรายเดียวในสิงคโปร์ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายไก่แช่เย็นจากประเทศไทย ได้ร่วมมือกับซัพพลายเออร์ไทยนำเข้าไก่เพิ่มขึ้น 10 เท่า สูงสุด 75,000 แพ็คต่อสัปดาห์ จากเดิม 8,000 แพ็คต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่ไม่ห่างไกลจากสิงคโปร์ มีศักยภาพด้านอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกเนื้อไก่หรืออาหารจำเป็นหลัก ๆ เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้ สามารถใช้โอกาสนี้ในการขยายธุรกิจมาสู่สิงคโปร์หรือร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายอาหารในสิงคโปร์ จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกต่อธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารที่จะส่งมาจำหน่ายในสิงคโปร์ได้จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานจากสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์แล้วเท่านั้น
การที่มาเลเซียประกาศระงับการส่งออกเนื้อไก่มายังสิงคโปร์ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการของไทยในทางอ้อม เนื่องจากอุปสงค์เนื้อไก่ภายในประเทศจะทำให้สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ผ่อนปรนความเข้มงวดตรวจหาเชื้อต่าง ๆ ในไก่ จากการสอบถามธุรกิจส่องออกไก่ของไทยในสิงคโปร์ ที่ผ่านมาสิงคโปร์มีมาตรฐานการตรวจที่สูงและเข้มงวดกว่าหลาย ๆ ประเทศ ดังนั้น ในช่วงนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีใบรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยของเนื้อไก่อยู่ก่อนแล้วสามารถส่งออกเนื้อไก่มายังสิงคโปร์ได้มากขึ้น โดยสินค้าไม่ถูกตีกลับจำนวนมากดังเช่นที่ผ่านมา
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.channelnewsasia.com/singapore/cna-explains-where-does-singapore-get-its-food-2709161
- https://www.ditp.go.th/contents_attach/135515/135515.pdf
- https://www.straitstimes.com/singapore/kl-halt-on-chicken-exports-spore-importers-to-increase-supply-from-alternative-sources-says-sfa
- https://www.sfa.gov.sg/docs/default-source/publication/sg-food-statistics/fa_sfa—singapore-food-statistics_v2.pdf
- https://mothership.sg/2022/06/singapore-import-thai-chicken/
- Featured Image Source: https://mothership.sg/2022/06/singapore-import-thai-chicken/