
ผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 สิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้ที่มีประชากร 25 ล้านคนและเป็นเมืองท่าสำคัญ รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในจีน เช่น เซินเจิ้น ฉางชุน และการกระชับมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดอย่างยิ่งในกรุงปักกิ่ง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนของสิงคโปร์ จีน และต่างประเทศได้รายงานผลกระทบจากการล็อกดาวน์ต่อเศรษฐกิจ ทั้งภาคการส่งออกและการค้า การเดินเรือ ห่วงโซ่อุปทาน และการดึงดูดการลงทุน รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้
ผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการค้า
Enterprise Singapore (ESG) หน่วยงานด้านการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสิงคโปร์ (ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์) รายงานข้อมูลการส่งออกของสิงคโปร์ว่า ภาคการค้ารวม [ไม่รวมสินค้าน้ำมัน (NODX)] มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเนื่องจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานโลก แม้ว่าภาคการค้าของสิงคโปร์จะเติบโตเป็นบวกในระยะปานกลาง แต่มูลค่าการค้ารวมของสิงคโปร์เติบโตแบบชะลอตัว 4 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือนมีนาคม 2565 การค้า NODX มีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ แต่เติบโตเพียงร้อยละ 7.7 (เดือนธันวาคม 2564 เติบโตร้อยละ 31.4 เดือนมกราคม 2565 เติบโตร้อยละ 25 และเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เติบโตร้อยละ 9.4) ทำให้ภาคธุรกิจในสิงคโปร์กังวล เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของการส่งออกซ้ำ (Non-oil Re-exports: NORX) ของสิงคโปร์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สิงคโปร์ส่งออกซ้ำไปจีน ร้อยละ 49 ไต้หวัน ร้อยละ 34.5 และฮ่องกง ร้อยละ 22.3
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มให้ความเห็นว่าการล็อกดาวน์ของจีนจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงลบต่อการส่งออกของสิงคโปร์ในระยะสั้น แต่การส่งออกโดยรวมยังคงมีทิศทางที่ดี เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกสำหรับ การส่งออกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเภสัชภัณฑ์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ไม่แปรผันต่อการชะลอตัวของการเติบโตทั่วโลก
ผลกระทบด้านการเดินเรือ
จากข้อมูลของการท่าเรือสิงคโปร์ (Maritime Port Authority) พบว่า ในเดือนมีนาคม 2565 มีเรือสินค้ามาแวะพักเพื่อเติมน้ำมันในสิงคโปร์รวม 3,020 ลำ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 441 ลำ หรือลดลงกว่าร้อยละ 15 ทำให้รายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิงสำหรับเรือเดินสมุทร (bunker fuel) ในสิงคโปร์ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี เหลือเพียง 3.77 ล้านตัน นักวิเคราะห์เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นผลจากการล็อกดาวน์ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งทำให้กระบวนการจัดการสินค้าที่ท่าเรือล่าช้าลง และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carrier) หลายลำต้องเปลี่ยนไปแวะจอดที่ท่าเรือใกล้เคียงในจีนเพื่อประหยัดเวลาแทน อาทิ ท่าเรือนครกว่างโจว และท่าเรือหนิงโป-โจวซาน ทั้งนี้ นาย Esben Poulsson ประธานสภาหอการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ (International Chamber of Shipping – ICS) เห็นว่า จีนส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องการแข่งขันกับสิงคโปร์ในธุรกิจท่าเรือและเชื้อเพลิงเรือเดินสมุทรอย่างเปิดเผย

ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
สิงคโปร์กังวลว่าการที่รัฐบาลจีนยืนหยัดในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบเนื่องจากคนจีนไม่สามารถเดินทางข้ามเมืองและมณฑลเพื่อไปทำงานในโรงงานต่าง ๆ ได้ ทำให้ภาคการผลิตชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์เองก็ได้รับผลกระทบจากการสุ่มตรวจหาเชื้อและการปิดด่านและปิดท่าเรือ รวมถึงมาตรการเดินทางข้ามเมืองและมณฑลที่เข้มงวดขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ภาคเอกชนในสิงคโปร์เห็นว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์และการล็อกดาวน์ที่เริ่มยืดเยื้อของจีนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในสิงคโปร์และทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการขนส่ง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ราคาค่าขนส่งที่สูงขึ้นอย่างยิ่ง และการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ (1) การสร้างความยืดหยุ่นแก่ห่วงโซ่อุปทาน โดยปรับกลยุทธ์จาก just-in-time หรือการสั่งสินค้าตามเวลาเพื่อประหยัดค่าจัดเก็บสินค้า มาเป็น just-in-case หรือการสำรองเผื่อไว้ก่อน เนื่องจากการขนส่งระหว่างประเทศมีระยะเวลายาวนานขึ้น (2) การจัดเก็บสินค้าทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น บริษัทคลังเก็บสินค้า อาทิ Nippon Express ในมาเลเซียได้เปลี่ยนการทำสัญญาการจัดเก็บสินค้าแบบระยะยาวมาเป็น 6 เดือนหรือน้อยกว่า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เคลื่อนไหวเร็ว (fast-moving consumer goods) ซึ่งได้รับผลกระทบที่สุด และจำเป็นต้องใช้คลังสินค้าระยะสั้น และ (3) การนำระบบหุ่นยนต์และอัตโนมัติมาใช้ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน เช่น SingPost ได้พัฒนาตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ PostPal เพื่อช่วยจัดเรียงจดหมาย/พัสดุ และขยายเครือข่ายจุด PickUp and DropOff (PUDO) แบบ contactless ในสิงคโปร์
ผลกระทบต่อการดึงดูดการลงทุน
นักวิเคราะห์ประเมินว่า การล็อกดาวน์ของจีนในครั้งนี้จะส่งผลเชิงบวกต่อเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้มากขึ้นในระยะสั้น ซึ่งนาย Frederic Neumann หัวหน้าฝ่ายวิจัยธนาคาร HSBC มองว่าอาเซียนเป็นแม่เหล็กดึงดูดกระแสการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอาเซียนมีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในหลายภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับจีน
เดือนเมษายน 2565 บริษัท Kearney ที่ปรึกษาด้านการเงินเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศปี 2565 ว่า ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกเป็นตลาดที่น่าดึงดูดที่สุดอันดับ 2 ของโลก รวมถึงการจัดอันดับตลาดที่มีแนวโน้มในการดึงดูดการลงทุนมากที่สุดในช่วง 3 ปีข้างหน้า ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นต่อเอเชีย – แปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 46 สำหรับประเทศในภูมิภาคที่น่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสูงสุด 20 อันดับแรก ได้แก่ (1) ญี่ปุ่น อันดับที่ 4 (2) จีน อันดับที่ 10 (3) เกาหลีใต้ อันดับที่ 16 และ (4) สิงคโปร์ อันดับที่ 18

การดึงดูด FDI ในอาเซียนจะยังคงขยายตัวโดยเฉพาะภาคการผลิต เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่โครงสร้างประชากรกำลังเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง สำหรับสิงคโปร์ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) ได้กำหนดเป้าหมายการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (FAI) ประจำปี 2565 ระยะกลางถึงระยะยาว 8,000-10,000 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ สิงคโปร์และมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะดึงดูด FDI มากขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่อินโดนีเซียจะดึงดูด FDI ในภาคโลหะพื้นฐาน เคมี อาหาร และการขนส่งมากขึ้น
บทวิเคราะห์และข้อสังเกต
แม้ว่านโยบายการทูตวัคซีนโควิด-19 ของจีนจะค่อนข้างประสบผลสำเร็จในช่วงแรก โดยผู้ตอบแบบสำรวจ The State of Southeast Asia Surveys ค.ศ. 2021 ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak (สังกัดกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์) ร้อยละ 57.8 เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ให้การช่วยเหลือด้านโควิด-19 แก่อาเซียนมากที่สุด อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายของจีน (inactivated vaccines) น้อยกว่าวัคซีน mRNA โดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและด้อยค่าวัคซีนจีนในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ ผลสำรวจเดียวกันของ ISEAS ปี ค.ศ. 2022 พบว่า ผู้คนในอาเซียนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในวัคซีน Pfizer/Moderna มากที่สุด ร้อยละ 54.8 (วัคซีนจีน ร้อยละ 18.7) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 หนังสือพิมพ์ Nikkei รายงานว่า จำนวนการส่งออกวัคซีน Sinopharm, Sinovac และ Cansino Biologics ของจีนในเดือนเมษายน 2565 ลดลงจากเดือนกันยายน 2564 มากถึงร้อยละ 97 เหลือเพียง 6.78 ล้านโดส ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนหันมาเร่งพัฒนาวัคซีน mRNA ของตนเอง

ในด้านเศรษฐกิจ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าเชิงบวก ได้แก่ (1) ภาคการส่งออก ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคพื้นทวีป (CLMTV) ได้รับผลกระทบจากการค้าชายแดนและการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ไปจีนที่ล่าช้า ทำให้ CLMTV ต้องเริ่มหาตลาดใหม่ ๆ อาทิ ตะวันออกกลาง เพื่อบรรเทาปัญหาในระยะสั้น-กลาง ส่วนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคพื้นสมุทร อาทิ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ของเมืองท่าสำคัญของจีนและการแข่งขันด้านท่าเรือและเชื้อเพลิงเรือเดินสมุทรที่สูงขึ้น (2) ภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เริ่มเปิดประเทศค่อนข้างมากแล้ว แต่รัฐบาลจีนยังคงใช้มาตรการเข้าเมืองที่เข้มงวดและไม่สนับสนุนให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของอาเซียนยังไม่ฟื้นฟูเท่าที่ควร เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญยังไม่กลับคืนสู่ภูมิภาค (แม้จะเกิดกระแส 我要润出去or I want to “run” out ในนครเซี่ยงไฮ้) ส่วนธุรกิจโรงแรมในสิงคโปร์ก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากจีน ในขณะที่หลาย ประเทศในอาเซียนเริ่มปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยวจากเดิมที่เน้นปริมาณ กลายเป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง เช่น Wellness หรืออุตสาหกรรม MICE โดยให้ความสำคัญกับตลาดในอาเซียนด้วยกัน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐฯ จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไทยในเดือนเมษายน 2565 ประเทศต้นทางที่มีผู้เดินทางเข้าไทยมากที่สุด คือ สิงคโปร์ (45,229 คน) รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร (29,689 คน) และอินเดีย (28,599 คน) แต่ (3) ภาคการผลิต/การลงทุน อาจได้ผลเชิงบวกในระยะสั้นจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียนหรือในลักษณะ จีน + 1 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และภาคการลงทุนในระยะสั้นที่จีนยังไม่เปิดประเทศ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/China-s-vaccine-diplomacy-spoiled-by-omicron-variant
- https://www.businesstimes.com.sg/asean-business/south-east-asia-could-draw-some-investors-away-from-china-as-virus-lockdowns-bite
- https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/china-slowdown-threatens-singapore-trade-as-exports-ease-again-in-march
- https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2022/02/The-State-of-SEA-2022_FA_Digital_FINAL.pdf
- https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3174677/ships-opt-bypass-singapore-amid-china-port-delays-hitting?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article&campaign=3174677
- https://www.scmp.com/week-asia/economics/article/3167617/supply-chain-crisis-asia-rethinks-just-time-strategy-pandemic?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article&campaign=3167617