ภาพการประชุม CPTPP Commission ครั้งที่ 5
แหล่งที่มา: www.mti.gov.sg/

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 64 นายกาน คิม ยอง (Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้เข้าร่วมการประชุม Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) Commission ครั้งที่ 5 โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ อาวุโสของสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม เข้าร่วมด้วย สรุปพัฒนาการสำคัญและท่าทีของฝ่ายสิงคโปร์ ดังนี้

ผลการประชุมฯ

ที่ประชุมตกลงที่จะจัดตั้ง Committee on e-Commerce เพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินการตามข้อบทในด้านนี้ของความตกลง CPTPP โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมดิจิทัลภิวัตน์ของประเทศ สมาชิกและช่วยให้ CPTPP สามารถแสดงบทบาทนำในการจัดทำกฎเกณฑ์ e-commerce ในระดับโลกต่อไป

ที่ประชุมยินดีที่เปรูได้ดำเนินการภายในประเทศให้ CPTPP มีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 และหวังว่าประเทศภาคีที่ลงนามความตกลงอีก 3 ประเทศแล้วจะเร่งรัดกระบวนการภายในเพื่อให้ CPTPP มีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก

ที่ประชุมอยู่ระหว่างการประสานงานกับสหราชอาณาจักรเพื่อจัดการประชุม AWG ครั้งที่ 1 ในโอกาสแรก และหวังว่าสหราชอาณาจักรจะมุ่งมั่นดำเนินการได้ตามมาตรฐานระดับสูงของ CPTPP

การเตรียมการเป็นเจ้าภาพ CPTPP Commission ของสิงคโปร์

สิงคโปร์จะรับตำแหน่งประธาน CPTPP Commission ในปี 2565 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ กำลังฟื้นฟูจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความตกลง CPTPP มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับความท้าทายทางการค้าและธุรกิจร่วมกัน ทั้งยังช่วยเพิ่มพูนโอกาสทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การมีส่วนร่วมของ SMEs ในเศรษฐกิจโลก และการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

รัฐมนตรีว่าการ Gan ยังคงเน้นย้ำว่าภาคี CPTPP ควรเร่งรัดกระบวนการภายในเพื่อให้ CPTPP มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ความตกลงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาชิกทั้งหมด รวมถึงการขยายสมาชิกภาพของ CPTPP โดยเสริมสร้างสถานะของ CPTPP ที่มุ่งสู่การสร้างเขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคและส่งเสริมความร่วมมือดิจิทัลและข้อริเริ่มสีเขียว (ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน)             

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต     

การประชุม CPTPP Commission ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น

โดยประเทศสมาชิก ได้แก่ นิวซีแลนด์ เม็กซิโก และ ญี่ปุ่น (เจ้าภาพปีนี้) ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 2 – 5 ทั้งนี้ ปี ค.ศ. 2021 เป็นปีแรกที่มีการประชุม CPTPP Commission 2 ครั้ง ผ่านระบบทางไกล ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความพยายามเข้าเป็นภาคีสมาชิก CPTPP ของสหราชอาณาจักรทำให้มีการประชุมฯ เพื่อรับรองการจัดตั้ง AWG เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

สิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CPTPP Commission (ครั้งที่ 6) ในปี ค.ศ. 2022 โดยประเด็นที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญ ได้แก่ e-Commerce และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานโลก เศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่รอบด้านและยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Growth) อย่างไรก็ตาม MTI สิงคโปร์ ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเรื่องรูปแบบของการประชุมฯ

จนถึงปัจจุบันประเทศที่ลงนามความตกลง CPTPP มีจำนวน 11 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศที่ภาคยานุวัติและดำเนินกระบวนการภายในเรียบร้อยแล้วจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เวียดนาม และล่าสุดเปรู (ซึ่งจะมีผลหลังจากครบ 60 วันของ notification of the depositary เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564) และประเทศที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ (1) บรูไน (2) ชิลี และ (3) มาเลเซีย 

ในการประชุมฯ ครั้งที่ 5 ได้มีการหยิบยกเรื่องการทบทวนข้อบทที่ 27.2.1 (b) เรื่อง preliminary technical exchanges on the evaluation of Agreement เนื่องจากการประเมินผลความตกลงอาจทำได้ไม่เต็มที่ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิก CPTPP จะหารือประเด็นดังกล่าวในทางเทคนิคต่อไปและน่าจะทราบผลได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2565


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง