สิงคโปร์เปิดโครงการ FoodPlant เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตอาหารในสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 (Earth Day) นาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโรงทดลองผลิตอาหาร “FoodPlant” ในเขต Jurong Innovation District สิงคโปร์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารในสิงคโปร์ และรองรับความต้องการอาหารที่ขยายตัวในภูมิภาค

คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจสิงคโปร์

ตลาดของสินค้าอาหารในภูมิภาคเอเชียจะยังคงขยายตัว โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน เป็น 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) เนื่องจากการเติบโตของประชากรและการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลาง อาหารเป็นพื้นฐานสำคัญของการกินดีอยู่ดี ซึ่งสินค้าอาหารจะพัฒนาไปตามพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการจากการขยายตัวของประชากรสูงวัย

ห่วงโซ่อุปทานด้านสินค้าอาหารของโลกถูกรบกวนโดยการแพร่ระบาดโควิด-19 และวิกฤตการณ์ยูเครน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศฉับพลัน การส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของโลก โดยสิงคโปร์ได้จัดทำนโยบาย 30 by 30 เพื่อเพิ่มการผลิตอาหารภายในประเทศให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030

สิงคโปร์จัดตั้งโครงการ FoodPlant ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาอาหารเพื่อตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ เช่น โครงการวิจัยอาหาร Singapore Food Story ของสถาบัน A*STAR (ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์-MTI) ที่เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารในเมืองที่ยั่งยืน การผลิตโปรตีนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนระบบการค้า (commercialization) ของธุรกิจอาหารก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเมื่อปี 2561 สิงคโปร์ได้จัดทำข้อริเริ่ม FoodInnovate ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานเพื่อสนับสนุนบริษัทด้านอาหารในการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาเชิงพาณิชย์ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีการนำสินค้าใหม่กว่า 400 ชนิดเข้าสู่ระบบการค้าอาหารแล้ว

สิงคโปร์เล็งเห็นถึงการจัดตั้งเครือข่ายสาธารณูปโภคด้านอาหารเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ใช้งานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงบริษัท สตาร์ทอัพ และ SMEs ที่มักประสบปัญหาเรื่องการขาดสาธารณูปโภคและโรงงานทดลองที่มักมีราคาสูงและต้องมีจำนวนการผลิตขั้นต่ำ ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูง สำหรับบรรษัทข้ามชาติ (MNCs) และบริษัทขนาดใหญ่ ก็เป็นการยากที่จะยุติการผลิตสินค้าอาหารหลักเพื่อทดลองผลิตสินค้าใหม่ ดังนั้น การจัดตั้ง FoodPlant จึงมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารในสิงคโปร์ โดยสถาบัน Singapore Institute of Technology (SIT) ร่วมกับหน่วยงาน Enterprise Singapore และหน่วยงาน JTC Corporation จะเป็นผู้บริหารจัดการ FoodPlant ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารแบบใช้งานร่วมกัน (shared facility) แห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (Singapore Food Agency-SFA) คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตอาหารมากกว่า 200 แห่ง และเกิดการพัฒนาและวิจัยสินค้าชนิดใหม่มากกว่า 400 ชนิด ภายในปี 2569

แหล่งที่มา: The Straits Times, LIANHE ZAOBAO

ตัวอย่างบริการของ FoodPlant ได้แก่ การให้บริการห้องผลิตและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร เช่น เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย (spray drier) โดยใช้ pulsed electric field equipment นอกจากนี้ FoodPlant ยังเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทักษะและความรู้ระหว่าง SIT กับภาคธุรกิจผ่านทางการประชุมเชิงปฏิบัติการ การอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ และงานสัมมนา โดย SIT จะให้บริการคำปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาในสาขาเกิดใหม่ เช่น (1) อาหารแห่งอนาคต (2) โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ และ (3) การแปรรูปอาหารขั้นสูง

โรงงานอาหารแห่งใหม่ของการท่าอากาศยานสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 บริษัทการท่าอากาศยานสิงคโปร์ (Singapore Airports Terminal Services – SATS) ประกาศลงทุน 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อก่อสร้างโรงผลิตอาหาร SATS Food Hub แห่งใหม่ในเขต Jurong Innovation District โดยเป็นโรงงานขนาด 5 ชั้น บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร โดยจะสร้างเสร็จในปี 2567 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา โดยโรงผลิตอาหารแห่งนี้จะผลิตอาหารพร้อมรับประทาน ซุป ซอสในเชิงพาณิชย์ ขนมอบ และอาหารประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้ โรงผลิตอาหารมีกำลังการผลิต 80 ตัน ต่อวัน เทียบเท่า 200,000 มื้อ ทั้งนี้ SATS ก่อตั้งเมื่อปี 2515 โดยปัจจุบันมีบริษัท Temasek Holdings (วิสาหกิจ Sovereign Wealth Fund ของสิงคโปร์) เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 40 และสายการบิน Singapore Airlines ร้อยละ 55


โรงผลิตอาหารใหม่ของบริษัท SATS จะเน้นการพัฒนาในหลายมิติ เช่น ด้านรสชาติอาหาร เทคโนโลยีด้านอาหาร ห่วงโซ่อุปทาน นวัตกรรม ความยั่งยืน การนำดิจิทัลมาใช้ ความปลอดภัยด้านอาหารและโภชนาการ นอกจากนี้ บริษัทได้นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและฝึกฝนทักษะใหม่ที่จำเป็นในอนาคต เช่น ระบบภายในโรงผลิตอาหารเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่จะช่วยในการวางแผน เพิ่มการใช้สินทรัพย์ และลดขยะอาหารอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทจะตั้งศูนย์ SATS Global Innovation Centre (SGIC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง SATS Innovation Hubs ของสิงคโปร์และสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารร่วมกัน


อาหารพร้อมรับประทานสำหรับลูกค้าองค์กร ผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐ
แหล่งที่มา: Takashi Nakano, Nikkei Asia

ข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 FoodPlant และ SIT กับ Foodbowl หน่วยงานนวัตกรรมอาหารของ นิวซีแลนด์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยด้านอาหาร โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนและสร้างความยืดหยุ่นด้านอาหารร่วมกัน

สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าสิงคโปร์มีความสนใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอาหารกับประเทศไทย ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านการผลิตอาหารและมีความได้เปรียบด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ หน่วยงานของไทย อาทิ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถส่งเสริมความร่วมมือกับ SFA A*STAR และ FoodPlant ของสิงคโปร์ได้ โดยเฉพาะในประเด็นการรับมือจากความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านอาหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง