
รายงานความคืบหน้าแผนงาน Forward Singapore Roadmap
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้แจ้งความคืบหน้าของแผนงาน Forward Singapore Roadmap ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เน้นการกำหนดอนาคตของสิงคโปร์ และเป็นแผนงานแรกที่แสดงความเป็นผู้นำประเทศ ในฐานะผู้นำรุ่นที่ 4 และว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ของนาย Wong โดยสรุปสาระสำคัญความคืบหน้าของแผนงานฯ ดังนี้
ความคืบหน้าแผนงาน Forward Singapore Roadmap
รองนายกรัฐมนตรี Wong แจ้งว่าแผนงาน Forward Singapore Roadmap คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 50 และกำลังจะเริ่มการอภิปรายเพิ่มเติมในประเด็นเฉพาะ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสิงคโปร์ได้ร่วมเสนอวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ในเชิงนโยบาย โดยชาวสิงคโปร์กว่า 14,000 คนได้ร่วมประชุมและระดมข้อคิดเห็นมากกว่า 140 ครั้ง ทั้งในชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน และทางออนไลน์ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะเริ่มนำแผนงานฯ มาประกอบการจัดทำงบประมาณประจำปี 2566 (Budget 2023) และจะสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายจากรายงาน Forward Singapore ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.forwardsingapore.gov.sg)
การสำรวจข้อคิดเห็นของประชาชนใน 6 ด้าน
รัฐบาลสิงคโปร์ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ตามแผนงานฯ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายซึ่งจะตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ผลการสำรวจความคิดเห็นฯ แบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้

แหล่งที่มา: www.forwardsingapore.gov.sg
1. Empower: Economy and Jobs คือ การสร้างพลังทางเศรษฐกิจและการทำงาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ชาวสิงคโปร์มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับ (1) การเพิ่มโอกาสในการทำงาน (2) การเพิ่มโอกาสในการฝึกอบรม โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานอายุน้อย (3) การเพิ่มพูนและต่อยอดทักษะใหม่ ๆ และ (4) การสนับสนุนทางสังคมที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ที่เผชิญปัญหาการหยุดจ้างงานสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
2. Equip: Education and lifelong learning การจัดเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะในประเด็นการขยับสถานะทางสังคม (social mobility) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าผู้มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าควรช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อพัฒนาสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์รู้สึกว่าสังคมสิงคโปร์ในปัจจุบันยังคงยึดติดกับมาตรวัดความสำเร็จ (yardsticks of success) ซึ่งมีความหมายแคบเกินไป เช่น ต้องเรียนหนังสือให้ได้คะแนนสูง ๆ และจบมาทำงานที่มั่นคงเท่านั้น ความยึดติดเหล่านี้ก่อให้เกิดความแตกต่างและความได้เปรียบเสียเปรียบในสังคม รัฐบาลสิงคโปร์จึงควรสร้างโอกาสที่หลากหลายเพื่อให้ชาวสิงคโปร์ทุกกลุ่มได้เจริญก้าวหน้าตามนิยามความสำเร็จของตนเอง รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ทุพพลภาพสามารถมีส่วนร่วมได้
3. Care: Health and social support ความเอาใจใส่ด้านสุขภาพและการสนับสนุนทางสังคมชาวสิงคโปร์คาดหวังให้รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนการสร้างครอบครัวในสิงคโปร์มากขึ้น เช่น การจัดสรรที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยา การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ และการจัดทำแนวทางปฏิบัติในที่ทำงานที่เอื้อต่อผู้มีครอบครัวมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ควรสนับสนุนประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น การปรับปรุงบริการทางสังคมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ด้อยโอกาสกว่า (less-advantaged families) และการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ
4. Build: Home and living environment การสร้างที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมแก่ชาวสิงคโปร์ ประชาชนต้องการให้สิงคโปร์เป็นสังคมที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ นโยบายเรื่องบ้านของภาครัฐควรสนับสนุนเจ้าของบ้านและผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกให้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ควรสนับสนุนการสร้างระบบขนส่งที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยปรับพื้นที่ตามลำดับความสำคัญและปริมาณของกลุ่มผู้ใช้งาน อาทิ การให้ความสำคัญกับการเดินทางแบบ Walk-Cycle-Ride รวมทั้งการสร้างระบบคมนาคมที่คำนึง
ถึงทุกคนและเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุและผู้พิการมากขึ้น
5. Steward: Environmental and fiscal sustainability ชาวสิงคโปร์เห็นพ้องกันว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการคลังมีความสำคัญอย่างยิ่ง และสิงคโปร์จำเป็นต้องปรับแนวคิด (mindset shift) เพื่อสร้างเมืองสิงคโปร์ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสำหรับคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และการก้าวไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ควรเป็นไปด้วยความเร็วที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนกับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
6. Unite: Singapore identity ความเป็นหนึ่งเดียวกันและการส่งเสริมเอกลักษณ์ของสิงคโปร์เป็นประเด็นที่คนสิงคโปร์มีข้อคิดเห็นแตกต่างกัน บางกลุ่มเห็นว่าชาวสิงคโปร์ควรมีอัตลักษณ์ร่วมกันที่ชัดเจน ส่วนบางกลุ่มมองว่าอัตลักษณ์ของคนสิงคโปร์ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และอาจยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนในขณะนี้ โดยควรปกป้องการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายเอาไว้ ซึ่งการเคารพในประเพณีและวัฒนธรรมของกันและกันเป็นกุญแจสู่ความสามัคคีของชาติ
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
แผนงาน Forward Singapore Roadmap จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีนาย Wong เป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญ ซึ่งการที่นาย Wong เริ่มจัดทำแผนงานฯ ดังกล่าวตั้งแต่ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของรุ่นที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว สะท้อนว่า นาย Wong ต้องการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่ใกล้ชิดกับประชาชนและมีความเปิดกว้างทางความคิด โดยเริ่มรับสำรวจความเห็นประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรุ่นที่ 4
สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าผลสำรวจฯ ได้แสดงถึงความห่วงกังวลของประชาชนสิงคโปร์ต่อประเด็นปัญหาที่สิงคโปร์เผชิญอย่างต่อเนื่อง คือ (1) แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับต้นของโลกและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง แต่ปัญหาค่าครองชีพและค่าที่พักอาศัยที่สูงเป็นประวัติการณ์จากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์เริ่มไม่แน่ใจเรื่องความมั่นคงในการดำรงชีพในอนาคตของตนเอง โดยเฉพาะการซื้อบ้านหรือที่ดิน การหางาน และการสร้างครอบครัวในประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกแห่งนี้ และ (2) ประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นปัจจัยที่ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุเต็มขั้น และคนสิงคโปร์ยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นลำดับต้น เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติแต่พึ่งพาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/singapore/over-14000-engaged-in-forward-singapore-next-phase-to-delve-into-issues-and-solutions-dpm-wong
- https://www.straitstimes.com/singapore/politics/over-14000-singaporeans-took-part-in-first-phase-of-forward-sg-engagement-exercise
- Featured Image Source: Shutterstock