
บริการจัดทำน้ำนมแม่แช่แข็ง (freeze-dry breast milk) ทางเลือกสุดล้ำสำหรับครอบครัวยุคใหม่ในสิงคโปร์
ครอบครัวที่มีลูกเล็กคงทราบดีว่า บรรดาคุณแม่ต้องเผชิญกับปัญหาการให้นมบุตรที่ต่างกันไป บางคนมีน้ำนมน้อยก็ต้องหาอาหารเสริมช่วยบำรุง ส่วนใครที่มีน้ำนมมากก็ต้องหาวิธีเก็บน้ำนมให้นานที่สุดเพราะจะทิ้งไปก็เสียดาย การยืดอายุนมแม่สำรองนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ที่เป็นผู้หญิงทำงานหรือมีธุระต้องออกนอกบ้านด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในครอบครัวชนชั้นกลางในสิงคโปร์ ผู้ประกอบการจึงเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจเพื่อช่วยเหลือคุณแม่ในการยืดอายุน้ำนมสำรอง
“บริการฟรีซ-ดราย (freeze-dry)” หรือการรับน้ำนมจากคุณแม่ที่ผลิตน้ำนมได้มากมาแช่แข็งและบดเป็นผง ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำนมแม่แช่แข็งได้ถึง 3 ปี จากที่สามารถอยู่ได้นาน 3 – 6 เดือนเมื่อเก็บไว้ในตู้เย็นสองประตูที่อุณหภูมิ -5 ถึง -15 องศาเซลเซียส และเมื่อต้องการใช้งานน้ำนมในภายหลัง ก็เพียงแค่นำน้ำนมแห้งมาผสมกับน้ำสะอาด ก็พร้อมให้ลูกน้อยดื่มได้ทันที เสมือนเป็นบริการแม่นมเคลื่อนที่ ซึ่งช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคนี้
ธุรกิจ freeze-dry น้ำนมแม่ในสิงคโปร์
ธุรกิจ freeze-dry น้ำนมแม่ได้รับความนิยมในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีผู้ให้บริการหลายราย สำหรับในสิงคโปร์ ปัจจุบันมีบริษัทอย่างน้อย 2 แห่งที่ได้เริ่มธุรกิจให้บริการ freeze-dry น้ำนมแม่ โดยมีแผนที่จะขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคด้วย
(1) บริษัท Babyfeeds Singapore เปิดให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดย Ms. Gina Tow ซึ่งเคยเป็นนางพยาบาล ใช้เงินลงทุนประมาณ 120,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ถูกหลักอนามัย มีเครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง 6 เครื่อง โดย 3 เครื่องเฉพาะสำหรับคุณแม่ชาวมุสลิม อัตราค่าบริการรวมค่ารับ-ส่งเริ่มต้นที่ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อน้ำนม 1 ลิตร จนถึงปัจจุบัน ได้รับคำสั่งซื้อประมาณ 100 รายการ ซึ่งรวมถึงลูกค้าในต่างประเทศ เช่น นครดูไบ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจไปยังมาเลเซีย
(2) บริษัท BioAcumen Global ได้เปิดธุรกิจ LyoBB เมื่อเดือนมกราคม 2566 โดยใช้เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง 5 เครื่อง หลังจากเริ่มธุรกิจมาได้ 3 เดือน LyoBB ได้รับคำสั่งซื้อมากกว่า 40 รายการ และวางแผนจะตั้งโรงงานในประเทศไทย และสำนักงานตัวแทนในเมืองต้าเหลียน นครเหลียวหนิง ประเทศจีน อัตราค่าบริการรวมค่ารับส่งเริ่มต้นที่ 195 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อน้ำนม 2 ลิตร ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 บริษัทฯ เป็นรายแรกในสิงคโปร์ที่ผลิตชุดอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 เฉพาะ Omicron ซึ่งใช้เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็ง (lyophilisation) แบบเดียวกับที่ใช้ในกระบวนการ freeze-dry น้ำนมแม่
ทั้งสองบริษัทต่างย้ำว่ากระบวนการนี้มีความปลอดภัย ปฏิบัติตามระเบียบด้านสุขอนามัย และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย เช่น ดร. Pooja Agarwal Jayagobi ที่ปรึกษาอาวุโสแผนกทารกแรกเกิด โรงพยาบาล KK Women’s and Children’s Hospital เห็นว่า จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความปลอดภัยหรือประสิทธิผลของน้ำนมแม่ที่ผ่านกระบวนการ freeze-dry ในขณะที่ ดร. Mythili Pandi แพทย์ผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมบุตรเห็นว่า มารดาควรตระหนักถึงปัญหาด้านความปลอดภัยของน้ำนม เช่น การปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย การตรวจสอบความปลอดภัยสำหรับโรคติดต่อทางเลือดอย่างไวรัสตับอักเสบบี หรือ HIV เนื่องจากบริการเหล่านี้ไม่เคยขออนุมัติจากสำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency – SFA) โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่การขายและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร จึงไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการแปรรูปอาหารจาก SFA
หน่วยงานในสิงคโปร์กับการจัดการอุตสาหกรรมนมผง
สิงคโปร์รณรงค์เรื่องน้ำนมมารดาอย่างกว้างขวาง โดยมีผลงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าการเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมมารดาดีกว่าการให้ดื่มนมวัว อัตราการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการสำรวจระดับชาติในปี 2564 – 2565 พบว่าทารกที่ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน มีอัตราสูงถึง 40% อย่างไรก็ตาม สังคมสิงคโปร์ยังมีความจำเป็นเรื่องการใช้นมวัวเลี้ยงดูบุตร โดยเฉพาะในกรณีที่มารดาไม่มีน้ำนมเพียงพอหรือมีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อความสามารถในการให้นมบุตร อุปสงค์นมวัวที่สูงขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคานมผงในสิงคโปร์และทั่วโลกที่สูงขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมนมผงนั้นมีมูลค่าสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (74,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)
หน่วยงานในสิงคโปร์กำกับดูแลธุรกิจนมผงอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อปี 2560 ที่เกิดวิกฤตราคานมผงในสิงคโปร์แพงขึ้นถึง 120% ในรอบทศวรรษ เนื่องจากผู้ผลิตนมผงปรับสูตรและแนะนำส่วนผสม “พรีเมียม” ที่ระบุว่า ช่วยเสริมสร้างสติปัญญาและสายตา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ (Competition Commission of Singapore – CCS) สอบสวนแล้วพบว่าการตลาดเชิงรุกเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้ราคานมผงในสิงคโปร์แพงมากที่สุดในโลก และเมื่อปี 2563 คณะกรรมการจริยธรรมการขายอาหารสำหรับทารกสิงคโปร์ (Sale of Infant Foods Ethics Committee Singapore – SIFECS) ซึ่งส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และรับรองการใช้นมทดแทนที่เหมาะสมและปลอดภัยเมื่อจำเป็นเท่านั้น ได้ปรับปรุงแนวทางเฉพาะในการโฆษณา การตลาด และการส่งเสริมการขายนมผงในสิงคโปร์
ข้อเสนอแนะ
ธุรกิจ freeze-dry น้ำนมมารดาถือว่ายังใหม่สำหรับประเทศไทย นอกจากบริษัทสิงคโปร์ BioAcumen Global ที่วางแผนจะตั้งโรงงานในไทยแล้ว ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่าผู้ประกอบการไทยได้เริ่มธุรกิจให้บริการในลักษณะเดียวกับ Freeze-Dry ดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่อาจจะมีความชำนาญ มีทรัพยากร และมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนใจธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ อาจพิจารณาศึกษากฎระเบียบภายในประเทศของไทย และแสวงหาลู่ทางเริ่มธุรกิจโดยการศึกษาเพิ่มเติมถึงกระบวนการ freeze-dry น้ำนมมารดา หรือติดต่อผู้ประกอบการสิงคโปร์ซึ่งสนใจจะไปจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยเพิ่มเพิ่มโอกาสการร่วมทุนระหว่างกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยพัฒนาและเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการได้
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.straitstimes.com/life/would-you-freeze-dry-breast-milk-these-singapore-companies-are-betting-on-it
- https://www.straitstimes.com/singapore/how-the-735-billion-infant-formula-industry-milks-new-parents-anxieties-and-what-s-pore-is-doing-about-it
- Featured Image Source: BIC Graphics (Source: Canva)