นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นประธานเปิดโครงการ “Sembcorp Tengeh Solar Farm”
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “Sembcorp Tengeh Solar Farm” ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของสิงคโปร์ และถือเป็นหนึ่งในฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ อ่างเก็บน้ำ Tengeh ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Sembcorp ผู้ให้บริการการแก้ปัญหาด้านพลังงาน และสำนักงานน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการสาธารณูปโภคสิงคโปร์ (National Water Agency, Public Utilities Board – PUB)
สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างยิ่ง จึงสนใจเรื่องการพัฒนาพลังงานทางเลือกภายในประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เคยกล่าวว่าสิงคโปร์ไม่มีพลังงานน้ำ (Hydropower) ไม่มีพลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ (Geothermal Energy) และไม่มีพื้นที่มาพอที่จะจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Nuclear Power Plant) แต่สิงคโปร์มีพลังงานจากแสงอาทิตย์ และจะใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากที่สุด
สิงคโปร์ริเริ่มแนวคิดในการสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำตั้งแต่ปี 2554 เพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศที่มีแสงแดดตลอดทั้งปี กอปรกับต้นทุนของแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดลง สิงคโปร์ จึงพยายามใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เช่น บนหลังคาอาคารและที่ดินเปล่า แต่ยังคงขาดที่ดินขนาดใหญ่เพื่อขยายการติดตั้ง
แผงพลังงานแสงอาทิตย์ แนวคิดการจัดทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำจึงเกิดขึ้น เนื่องจากช่วยให้สิงคโปร์สามารถใช้พื้นที่ผิวน้ำขนาดใหญ่ของอ่างเก็บน้ำได้อย่างเต็มที่
ในปี 2559 PUB ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (EDB) จัดทำเตียงทดสอบ Peak (MWp) ขนาด 1 เมกะวัตต์ที่อ่างเก็บน้ำ Tengeh ซึ่งเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนาแห่งแรกสำหรับระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยตัว และแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์สามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในประเทศได้ พร้อมทั้งศึกษา/ทดสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมระหว่างปี 2558 ถึง 2561 ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าโดยรอบหรือคุณภาพน้ำ และยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าการจัดทำฟาร์มบนชั้นดาดฟ้าทั่วไปถึงร้อยละ 15 เนื่องจากสภาพแวดล้อมในอ่างเก็บน้ำอุณหภูมิต่ำกว่า
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมั่นใจและมุ่งมั่นพัฒนาโครงการฟาร์มพลังงานแสดงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งออกแบบ สร้าง และดำเนินการโดย บริษัท Sembcorp แม้จะมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและห่วงโซ่การผลิตอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่โครงการก็แล้วเสร็จตรงเวลาด้วยมาตรการการจัดการที่ปลอดภัยเต็มรูปแบบ โดยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ อย่างเป็นทางการ
คุณสมบัติและประโยชน์
ฟาร์มแสงอาทิตย์ Sembcorp Tengeh ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 122,000 แผง บนพื้นที่ 45 เฮกตาร์ (ขนาดประมาณสนามฟุตบอล 45 สนามรวมกัน) พลังงานที่ผลิตได้จะส่งไปยังโครงข่ายไฟฟ้าของ สิงคโปร์ ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารที่อยู่อาศัยของรัฐ (HDB) ขนาด 4 ห้องนอนได้ประมาณ 16,000 หลัง หรือการจ่ายพลังงานไปยังโรงงานบำบัดน้ำในท้องถิ่นเพื่อใช้ในการผลิตน้ำดื่มสะอาด จำนวน 5 แห่ง ได้อย่างเพียงพอ พลังงาน ที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะช่วยชดเชยความต้องการพลังงานของ PUB ประมาณร้อยละ 7 ต่อปี
พลังงานที่ผลิตขึ้นจากฟาร์มฯ เป็นพลังงานสีเขียวที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน จึงช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนใน สิงคโปร์ ได้เทียบเท่ากับจำนวนก๊าซบอนที่ปล่อยจากการรถยนต์ 7,000 คัน หรือประมาณ 32 กิโลตันต่อปี ซึ่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีระบบประปาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตน้ำสะอาดด้วยพลังงานสะอาด ร้อยละ 100 ทั้งนี้ สิงคโปร์ มีนโยบายสนับสนุนเป้าหมายระดับชาติในการเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็น 4 เท่าภายในปี 2568
วิทยาการและนวัตกรรมที่สิงคโปร์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการออกแบบและก่อสร้างโครงการ เช่น (1) วิศวกรของ Sembcorp ได้สร้างอุปกรณ์ที่เร่งการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ไปยังแผงลอยได้มากถึงร้อยละ 50 (2) ออกแบบช่องว่างระหว่างแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้แสงแดดส่องผ่าน และใช้เครื่องเติมอากาศเพื่อรักษาระดับ O2 ในน้ำ เป็นการลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (3) ทุ่นลอยน้ำผลิตขึ้นจากโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high-density polyethylene) ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทนต่อรังสียูวีและทนต่อการกัดกร่อน (4) เป็นโครงการแรกในโลกที่นำเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยโดรนไฟฟ้าเรืองแสงขั้นสูงมาใช้ในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ Photovoltaic (PV) ระดับ Utility โดยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของโดรน เพื่อระบุจุดบกพร่อง จะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้แม่นยำและรวดเร็ว รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบได้ร้อยละ 30
เป้าหมาย
จากความสำเร็จของโครงการนำร่องที่อ่างเก็บน้ำ Tengeh นี้ หน่วยงานจึงจะสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่คล้ายกันบนอ่างเก็บน้ำ Bedok และ Lower Seletar ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 นี้ ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเมืองที่มีพลังงานแสงอาทิตย์ต่อพื้นที่มากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2558 สิงคโปร์ ได้เพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 7 เท่า และภายในปี 73 ตั้งเป้าหมายที่จะระบบพลังงานแสงอาทิตย์ PV ที่มีความจุอย่างน้อย 2 กิกะวัตต์ เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยจำนวน 350,000 หลัง
ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต
PUB เป็นคณะกรรมการตามกฎหมายภายใต้กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (MSE) เป็นหน่วยงานด้านน้ำแห่งชาติ บริหารจัดการน้ำประปา การเก็บกักน้ำ และใช้น้ำของสิงคโปร์อย่างบูรณาการ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 PUB ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานพิทักษ์ชายฝั่งแห่งชาติ ดูแลชายฝั่งสิงคโปร์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และภารกิจการปกป้อง สิงคโปร์ จากภัยคุกคามจากทะเลที่เพิ่มขึ้น และการจัดการแบบองค์รวมของความเสี่ยงจากอุทกภัย
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 สื่อออนไลน์ด้านพลังงาน power-technology.com ได้รายงาน 10 อันดับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่ง Sembcorp Tengeh Solar Farm สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 9 (เกาหลีใต้ อันดับ 1 อินเดีย อันดับ 2 และจีน อันดับ 3 ดูเพิ่มใน https://bit.ly/3zJsEuD)
สำหรับประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์จำนวนประมาณ 144,000 แผง บนพื้นที่ 300 เอเคอร์ มีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 90 และอยู่ระหว่างการติดตั้งให้ครบ 7 ชุด เพื่อเตรียมทดสอบระบบไฟฟ้าของโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 และน่าจะเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์